‘วรากรณ์’ จี้หน่วยงานรัฐ เปิดข้อมูล หวังเป็นเครื่องมือป้อง/ปราบทุจริต

09 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
ระยะนี้เป็นช่วงที่มีการรายงานสถานการณ์คอร์รัปชันของไทย จากองค์กรต่างๆทยอยออกมาต่อเนื่อง ปลายเดือนมกราคม 2559 "องค์กรเพื่อความโปร่งใส" รายงานดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ปี 2558 (Corruption Perceptions Index: CPI) ปรากฏผลคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชันโลกประจำปี 2558 ประเทศไทยได้ ลำดับที่ 76 จาก 168 ประเทศทั่วโลก เป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน

[caption id="attachment_30183" align="aligncenter" width="400"] งานเสวนา ชนะแน่ หรือ แพ้แท้จริง กับการโกงชาติ งานเสวนา ชนะแน่ หรือ แพ้แท้จริง กับการโกงชาติ[/caption]

และเมื่อเร็วๆนี้ รายงานดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย (Corruption Situation Index: CSI) จัดทำขึ้นโดย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง รวม 2,400 ตัวอย่างทั่วประเทศ เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยโดยรวมอยู่ที่ 55 คะแนน จากเต็ม 100 คะแนน "ดีขึ้น" จากปี 2557 ที่มี 49 คะแนน เป็นคะแนน "ดีที่สุด" ในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2553 ที่ได้เพียง 35 คะแนน

ส่วนระดับความรุนแรงของปัญหากลุ่มตัวอย่าง มองว่า รุนแรงเพิ่มขึ้น 44% ลดลง 30% และเท่าเดิม 26% น่าสนใจว่า ใกล้เคียงกับผลการสำรวจเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 แต่ที่เมื่อดูภาพรวมของทั้งปี 2558 ถือว่า ระดับความรุนแรงน้อยที่สุด นับจากเริ่มการสำรวจครั้งแรกเมื่อปี 2553 หรือ รุนแรงน้อยที่สุดในรอบ 6 ปี และคาดการณ์ว่า ความรุนแรงของปัญหาในปีหน้าก็จะดีที่สุดในรอบ 6 ปีเช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ตอบความรุนแรงของปัญหาจะลดลง

สอดรับกับความเห็นของผู้ที่คร่ำหวอด และติดตามความเคลื่อนไหวมาต่อเนื่อง ฉายภาพในงานเสวนา "ชนะแน่ หรือ แพ้แท้จริง กับการโกงชาติ" จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งรศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ระบุย้ำว่า ปัญหาคอร์รัปชัน เป็นความสูญเสียของประเทศ บั่นทอนสังคม และทำลายพื้นฐานจริยธรรมของคนในประเทศ หากคนในสังคมยังเห็นความเลวร้ายนี้เป็นเรื่องธรรมดา ก็คงไม่มีอะไรที่ชั่วร้ายยิ่งไปกว่านี้แล้ว

"การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในวันนี้ จึงไม่ใช่การสู้เพื่อทรัพยากรชาติเพียงอย่างเดียว แต่นี่คือ การต่อสู้กับพื้นฐานจริยธรรมของคนในสังคมให้คงอยู่ต่อไปด้วย" รศ.ดร.วรากรณ์ ระบุให้แง่คิด ก่อนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายงานต่างๆว่า รายงานส่วนใหญ่ เป็นการวัดจากความรู้สึก ไม่ใช่วัดจากหลักฐาน

"ปัญหา คือ ในวันเวลาเดียวกันคนเราความรู้สึกแตกต่างกัน ในความหมายนี้ คำว่า คอร์รัปชันของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนที่ต่างกันด้วย ผลที่ได้จึงอาจไม่แม่นยำไปด้วย ผมอยากเห็นการออกแบบวัดผลบนพื้นฐานของหลักฐาน อาทิ จำนวนของการดำเนินคดีต่างๆ สถิติการจับกุม การฟ้องร้อง ตลอดจนการลงโทษว่า มีมากน้อย แค่ไหน อย่างไร แล้วนำมาคำนวณเป็นเปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้หากสามารถจัดทำรายงานแบบเจาะลึกเป็นรายกลุ่ม อาจจะให้คำตอบในระยะเวลาสั้นๆได้ดีกว่า การถามจากคนทั่วไปว่า การคอร์รัปชันมีมากขึ้นหรือน้อยลง" รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวให้แง่คิด

อีกประการ คือ การผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์จากกฎหมายการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐ หรือ Open Data ให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมตรวจสอบโครงการต่างๆของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีชุดข้อมูลของกรมต่างๆมากกว่า 105 ชุด ที่เปิดเผยเอาไว้ อาทิ ข้อมูลของ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เป็นต้น

"ถือเป็นเครื่องมือทั้งการป้องกันและปราบปรามที่สำคัญ ที่จะทำให้มอง ทะลุปรุโปร่ง ได้เมื่อมีการนำไปใช้ประโยชน์ สนับสนุนให้มีการเปิดฝึกอบรมกลุ่มคนต่างๆเพื่อที่จะสามารถนำข้อมูลต่างๆเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ ผนวกเข้ากับการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ ใช้ไลน์ส่งภาพจากพื้นที่เพื่อให้ข้อมูลกับองค์กรปราบปรามที่เกี่ยวข้องได้ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่กำลังพยายามทำอยู่ ณ เวลานี้"

อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่เปิดเผยกับประชาชนนั้น ต้องเป็นข้อมูลดิบ ข้อมูลขั้นต้น เป็นข้อมูลที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่มีปัญหาเรื่องการติดสิทธิบัตร ที่สำคัญ ต้องเป็นข้อมูลที่ไม่เอนเอียงเพื่อทำร้ายใครคนใดคนหนึ่ง เป็นต้น

"ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมี 160-170 กรมในประเทศไทย แต่มีข้อมูลออกมาเพียงกว่า 100 กรมเท่านั้นเอง หากทำให้กรมต่างๆปล่อยข้อมูลออกมามากที่สุด เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ แล้วมีคนไทยที่คึกคักในเรื่องนี้ มีความสามารถที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ เพื่อการป้องกันและปราบปรามการคอร์รัปชัน เชื่อว่า จะเกิดประสิทธิภาพอย่างยิ่งในการต่อต้าน และปราบปรามการคอร์รัปชันของประเทศ" รศ.ดร.วรากรณ์ ระบุย้ำ

ตบท้ายด้วยความมุ่งมั่นของ นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ที่ระบุถึงแนวทางการทำงานของ ACT ในปีนี้ว่า จะต้องกำหนดเงื่อนไขที่จะเป็นตัวชี้วัด เพื่อใช้ในการพัฒนาต่างๆในเชิงประจักษ์ให้มากขึ้น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ พร้อมขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะได้มีส่วนร่วมต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559