'ดีอี' เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์!! มุ่งนโยบาย SIGMA ไต่อันดับนวัตกรรมโลก

19 ก.ค. 2561 | 06:58 น.
… เป็นเพราะรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. วางแนวปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อนำไปสู่แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดไว้ 20 ปี

เพื่อให้แผนปฏิรูปดังกล่าวเป็นไปตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ปรากฏว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการจัดการประชุมระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรและผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัด ให้เป็นไปตามเป้าหมาย


เดินหน้า 6 ยุทธศาสตร์หลัก
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง โดยได้มีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมายเพื่อผลักดันด้านเศรษฐกิจดิจิตอล 2.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในพื้นที่ EEC การสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมสตาร์ตอัพ การจัดตั้งสถาบันไอโอทีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิตอลในอนาคต เป็นต้น 3.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพ พัฒนาศักยภาพบุคลากรและกำลังคน อาทิ โครงการ Coding Nation


MP20-3384-1

ขณะที่ แผนที่ 4 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม ด้วยโครงการขยายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงไปยังโรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการสร้างศูนย์ดิจิทัลชุมชน 5.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตในคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อบริการจัดการน้ำ และ 6.ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับปรังสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ผลักดันนโยบายรัฐบาลดิจิตอล (Digital Goverment) เช่น โครงการพัฒนาพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิตอล


ขับเคลื่อนนโยบาย SIGMA
อย่างไรก็ตาม กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ให้ความสำคัญในด้านของนโยบายการพัฒนาดิจิตอลภายใต้แนวคิด SIGMA ที่ประกอบด้วย S-Cyber Security ไซเบอร์ซิเคียวริตี, I-Infrastructure โครงสร้างพื้นฐาน, G-e-Government รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์, M-Manpower การพัฒนากำลังคน, A-Application & Development แอพพลิเคชันและการพัฒนา โดยจะขับเคลื่อนไปพร้อมกับแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ 1.ด้านการเมือง 2.ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน 3.ด้านกฎหมาย 4.ด้านกระบวนการยุติธรรม 5.ด้านเศรษฐกิจ 6.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 7.ด้านสาธารณสุข 8.ด้านสื่อมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ 9.ด้านสังคม 10.ด้านพลังงาน 11.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ นอกจากนี้ จะเพิ่มเติมในด้านการปฏิรูปการศึกษาและด้านการปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้ามาอีกด้วย


ไต่อันดับดัชนีนวัตกรรมโลก
ขณะที่ ผลการประเมินของดัชนีนวัตกรรมโลก (The Global Innovation Index : GII) จากสถาบันด้านการบริหารธุรกิจของสิงคโปร์ (INSEAD) ในปี 2561 นั้น ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 44 จากปี 2560 ที่อยู่ในอันดับที่ 51 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่รัฐบาลได้เร่งดำเนินการไปนั้น ส่งผลให้เกิดการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่ก้าวหน้ามากขึ้น โดยมาจากความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน จะเห็นได้จากการปรับตัวของภาคเอกชน เพื่อรับกระแสดิจิตอล ดิสรัปชั่น อีกทั้งยังเห็นถึงความสำคัญของการลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและสตาร์ตอัพที่เพิ่มขึ้นถึง 70% จากเดิมที่การลงทุนส่วนใหญ่นั้นมาจากภาครัฐ


ตั้งศูนย์วิจัยอวกาศในไทย
นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเร่งให้เกิด พ.ร.บ.อวกาศและการจัดตั้งสำนักงานอวกาศของไทย ซึ่งจะเป็นสำนักงานแห่งแรกในภูมิภาค ที่จะให้คนไทยได้มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์การบริหารกราบินและอวกาศแห่งชาติ (National Aeronautics and Space Administration - NASA) ล่าสุด ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อตั้งเป้าให้ประเทศไทยเกิดการใช้ประโยชน์จากกิจการอวกาศมากยิ่งขึ้น เช่น ในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ การวิจัยทดลองในสภาพไร้น้ำหนัก ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้ไทยก้าวไปอีกขั้น


……………….
รายงานพิเศษ โดย โต๊ะข่าวไอที

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,384 วันที่ 19-21 ก.ค. 2561 หน้า 20

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดีอีผนึกฟินแลนด์ยกระดับโทรคม
‘ดีอี’ตื่นรับมือดิสรัปชัน ผนึกสมาพันธ์ TFIT ดันกฎหมายตั้งสภาดิจิทัล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว