แบนไขมันทรานส์ มาช้ายังดีกว่าไม่มา

18 ก.ค. 2561 | 04:40 น.
2363655 กระทรวงสาธารณสุขประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายโดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า กรดไขมันทรานส์  จากนํ้ามันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ที่เป็นส่วนผสมอาหาร ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยให้เวลา 180 วันหรือมีผลบังคับใช้วันที่ 8 มกราคมปีหน้า ซึ่งผู้ประกอบการจะได้มีการปรับตัววางแผนการผลิต หรือนำสินค้าที่มีส่วนผสมออกจากชั้นวางจำหน่าย

ไขมันทรานส์ผสมอยู่ในอาหารประเภท เบเกอรี่ แฮมเบอร์เกอร์ โดนัต ขนมขบเคี้ยว เฟรนช์ฟรายส์ คุกกี้ เนยขาว เนยเทียม ครีมเทียม เค้ก แคร็กเกอร์ วิปครีม นักเกต ไก่ทอด อาหารประเภททอด ฯลฯ องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ให้ข้อมูลว่า การบริโภคไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนเกิน 2 กรัมต่อวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้หลายประเทศได้ประกาศห้ามใช้ เช่น สหรัฐฯ ที่ประกาศห้ามใช้ไปหลายปีแล้ว

ส่วนในประเทศไทย ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ได้ตรวจสอบอาหารในท้องตลาดมีไขมันทรานส์จากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนที่มีในเนยเทียม เนยขาวเป็นส่วนประกอบ ส่วนใหญ่เป็นของผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ ซึ่งหลายรายเห็นด้วยกับประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ เพียงแต่ขอเวลาในการปรับสูตรผลิตอาหารของตนเอง บางรายยกเลิกสูตรการผลิตที่มีส่วนผสมนี้ไปก่อนแล้ว
fda_transfats1000 ปฏิเสธไม่ได้ว่าไขมันทรานส์ตามประกาศฉบับนี้ นำไปสู่โรคภัยต่างๆหรือสุ่มเสี่ยงสะสมนำไปสู่โรคภัย ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วทางวิทยาศาสตร์ โดยกรมควบคุมโรครายงานว่าประกาศมุ่งควบคุมไขมันทรานส์จากกระ บวนการเติมไฮโดรเจน แต่ในทางปฏิบัติไม่ว่าจะไขมันอะไรก็มีความเสี่ยงจะเป็นโรคได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะโรคความดันโลหิตสูงซึ่งสุ่มเสี่ยงนำไปสู่โรคอื่น ทั้งหลอดเลือดหัวใจ ไต หลอดเลือดสมอง โดยข้อมูลล่าสุดมีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั่วประเทศ ซึ่งหากคนไทยป่วยโรคความดันโลหิตสูงแค่ 10 ล้านคน จะใช้เงินรักษาพยาบาลถึงประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี

ต้องขอสนับสนุนการออกประกาศฉบับนี้ของกระทรวงสาธารณสุข แม้จะออกมาล่าช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งหมายถึงคนไทยสะสมและสุ่มเสี่ยงต่อโรคภัยมายาวนานแล้ว แต่ประกาศนี้อาจเป็นเพียงก้าวแรกในการมุ่งพยายามดูแลสุขภาพในขั้นต้นของไทย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องใช้ความพยายามนำองค์ความรู้ งานวิจัย การแลกเปลี่ยนความเห็นในทางการแพทย์ระหว่างประเทศมาปรับใช้นำไปสู่การออกประกาศอื่นๆเพื่อคุ้มครองป้องกันความเสี่ยงโรคภัยอื่นๆทั้งเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนและลดความสูญเสียงบการรักษาพยาบาลที่ป้องกันลงได้

| บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3384 ระหว่างวันที่ 19-21 ก.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว