ถอดบทเรียนทางทหารฝ่ายเสนาธิการ กรณีบริหารจัดการของ ‘ผู้ว่าฯณรงค์ศักดิ์’

18 ก.ค. 2561 | 12:31 น.
526359685 ก่อนอื่นเลยต้องขอแสดงความยินดีกับครอบครัวของน้องทั้ง 13 คน และขอชื่นชมเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย รวมถึงนํ้าใจของคนไทยและต่างชาติ ที่ร่วมแรงร่วมใจให้การช่วยเหลือน้องทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถํ้าหลวงขุนนํ้านางนอน จนพบทั้ง 13 คน และพาออกมาได้สำเร็จ ส่วนหนึ่งที่ทุกคนชื่นชมรวมทั้งผมด้วยเห็น จะเป็นภาวะผู้นำของท่านผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ที่ได้บริหารจัดการ การเข้าช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ บริหารทั้งการจัด การและความรู้สึกของเจ้าหน้าที่ ผู้ติดตามข่าวและผู้สื่อข่าว

ในฐานะที่เป็นทหารและผ่านการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกมา จึงขอวิเคราะห์จำแนกการบริหารในครั้งนี้กับหลักการทางทหารสักหน่อย กล่าวได้ว่า เหมือนท่านเรียนเสธ.รุ่นพี่ผมเลย โรงเรียนเสธ.คงต้องเชิญท่านมาบรรยายสักหน่อยแล้ว เริ่มกันเป็นข้อๆ เลยครับ
ผู้ว่าเชียงราย2 สาย 1 กำลังพล

การรักษายอดกำลังพล มีการลงทะเบียน เซ็นชื่อเข้าออกพื้นที่เพื่อการตรวจสอบคนทำงานว่ามีใครสูญหายหรือไม่

การจัดการกำลังพล กำกับดูแลเรื่องความปลอดภัยเพื่อป้องกันการสูญเสียกำลังพล และยุทโธปกรณ์โดยไม่จำเป็น จากที่ผู้ว่าฯ เน้นยํ้าเรื่องความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน การเดินสายไฟต้องไม่รั่ว เพราะอาจเกิดอันตรายต่อหน่วยซีล

การพัฒนารักษาขวัญ มีการพบปะพูดคุยให้กำลังใจทั้งผู้ร่วมงานและผู้ปกครองของเด็กโดยตลอด

การรักษาวินัย กฎ ข้อบังคับ และคำสั่ง จากกรณีผู้ที่ไม่มีบัตรไม่สามารถเข้าไปยังในถํ้าได้ แสดงให้เห็นถึงความเข้มงวดในการรักษาวินัย

การจัดการภายใน บก. มีการกำกับดูแลการใช้พื้นที่ จัดระเบียบพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่จอดรถ เป็นต้น

33+66596
สาย 2 การข่าวกรอง

มีการใช้ข้อมูลในการตกลงใจ ไม่ตัดสินใจโดยอาศัยความรู้สึก อาศัยข้อมูลจากทีมต่างๆ ในเรื่องของภูมิประเทศ ลมฟ้า อากาศ ในการตัดสินใจแต่ละเรื่อง เช่น การเบี่ยงทางนํ้า การสูบนํ้า การค้นหาโพรง การเดินสายไฟเครื่องสูบนํ้า ฯลฯ

การแถลงข่าวทำให้ผู้ร่วมงานมองเห็นภาพข่าวเดียวกัน ไม่เกิดความสับสนในการปฏิบัติงาน

สาย 3 ยุทธการ (ปฏิบัติการ)

ทั้งๆ ที่มีหน่วยงาน หรืออาสาสมัครจากเอกชน ทั้งของไทยและนานาชาติ หลากหลายความรู้ความสามารถ เช่น ทีมวิชาการ (ธรณีวิทยาและอื่นๆ) ทีมแพทย์พยาบาล ทีมดำนํ้าทีมลาดตระเวนสำรวจป่า ทีมสูบนํ้า ทีมจราจร ทีมล่าม ทีมเจาะบาดาล ทีมสนับสนุน เช่น อาหาร นํ้า ไฟฟ้า นํ้ามัน การติดต่อสื่อสาร ลำเลียงสิ่งของ ฯลฯ แต่ผู้ว่าฯ สามารถประสานการปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ขัดกัน เป็น Line of Effort หลายๆ Line ที่ประสานสอดคล้องกันนำไปสู่ความสำเร็จ

การวางแผนมีทั้งแผน ระยะสั้น ระยะยาว แผนระยะ สั้นคือ การค้นหา ช่วยเหลือ ส่งกลับสายแพทย์จากพื้นที่ไป จนถึงโรงพยาบาล แผนระยะยาวมองถึงการฟื้นฟูทั้งสภาพจิตใจเด็กๆ ฟื้นฟูที่นาที่ถูกนํ้าท่วม ฟื้นฟูถํ้าหลวง

สำหรับแผนระยะสั้น การค้นหา ช่วยเหลือ มีการประเมินเพื่อปรับแผนกันตลอดเวลา

มีการประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างละเอียดก่อนการตกลงใจ

มีการซักซ้อมแผนเพื่อค้นหาข้อบกพร่องนำมาแก้ไขให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ณรงค์ศักดิ์3

สาย 4 การส่งกำลังบำรุง

มีความพร้อมในการส่งกำลัง สป. (สิ่งอุปกรณ์) ต่างๆ ทั้ง สป.1 อาหาร สป.3 นํ้ามัน เครื่องสูบนํ้าที่ต้องใช้นํ้ามัน สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

การวางแผนส่งกลับผู้ป่วยมีการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ถูกต้องตามมาตรฐานทางการแพทย์

การขนส่ง มีการจัดการจราจร จุดจอดรถ จุดรับส่งผู้ที่จะมาปฏิบัติงานในพื้นที่ ทำให้ไม่ คับคั่ง ไม่กีดขวางการทำงาน

สาย 5 กิจการพลเรือน (ในที่นี้หมายถึงการประสานงานหน่วยงานต่างๆ)

การรับมือกับนักข่าวถือเป็นกรณีศึกษา ผู้ว่าฯรับมือได้ดีมาก การแถลงข่าวตรงจุด สั้นแต่เข้าใจได้ใจความ ไม่กลัวไม่เกรงใจนักข่าว แต่ก็ไม่แข็งกร้าว สามารถจัดระเบียบนักข่าวไม่ให้กีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้โดยที่ไม่ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งหรือกระแสด้านไม่ดี

นอกจากการรับมือกับนักข่าวแล้ว ยังสามารถจัดการกับข่าวลือตามโซเชียลได้เป็นอย่างดี สามารถชี้แจงให้กระจ่าง ลดความสับสน ให้ข่าวที่ถูกต้อง ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ณรงค์ศักดิ์4

การควบคุมบังคับบัญชา พันธกิจของผู้บังคับบัญชาที่สำคัญ (Critial Function)

1. การบังคับบัญชาหน่วยรอง (Command the Force) ผบ.จะเป็นผู้สั่งการและรับผิดชอบเพียงผู้เดียว บทบาทในฐานะผบ.เหตุการณ์ของผู้ว่าฯ จะเห็นได้ชัดว่า เป็นผู้มีอำนาจสั่งการเต็มในพื้นที่ ทุกอย่างจะดำเนินการได้ต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าฯก่อนเสมอ

2. ต้องทราบสถานการณ์อยู่เสมอ (Knows the situation) จะเห็นได้ว่า ผู้ว่าฯทราบสถานการณ์ โดยรอบอย่างกระจ่าง เข้าใจทุกปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อภารกิจ สามารถชี้แจงนักข่าวได้อย่างแจ่มแจ้ง เข้าใจในขีดความสามารถของส่วนต่างๆ ที่มาสนับ สนุน สามารถใช้ขีดความสามารถนั้นเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

3. การมอบภารกิจ (Assigns Mission) ผบ.จะต้องแน่ใจว่าภารกิจของแต่ละหน่วยจะเกื้อ กูลต่อแผนการปฏิบัติเป็นส่วนรวม จะเห็นได้ว่าแต่ละหน่วยได้รับภารกิจจากผู้ว่าฯ ซึ่งแต่ละภารกิจจะเกื้อกูลต่อแผนการช่วยเหลือโดยรวมทั้งสิ้น

4. การประกอบกำลังที่เหมาะสม (Allocates Means)

5. การตัดสินใจ (Makes Decisions) การตัดสินใจถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผบ.หน่วย สถานการณ์ในแต่ละวันต้องมีปัญหาเฉพาะหน้าให้ผู้ว่าฯ ต้องตัดสินใจอยู่เสมอแต่ผู้ว่าฯสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและเหมาะสมกับข้อมูลที่มีอยู่

6. อำนวยการและผนึกการใช้กำลังทั้งมวล (Directsand Synchronizes Force)สามารถประสานหน่วยงานต่างๆ ให้ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

7. ดำรงสถานภาพกำลังรบ (Sustains Forces) มีการผลัดเปลี่ยนกำลังให้มีความสดชื่นอยู่เสมอ

8. ชักจูงใจหน่วยรอง(สร้างขวัญ)ให้มีความรุกรบ (Motivates Subordinates) ผู้ว่าฯ ให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอ ให้ความเชื่อมั่นในการค้นหา เชื่อว่าสามารถค้นหาได้เจอแน่นอน ปลุกขวัญผู้ร่วมงานให้ปฏิบัติงานอย่างเต็มกำลัง

“ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้น้องทั้ง 13 คนกลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวโดยเร็ววัน ท้ายสุดที่อยากเขียนถึงก็คือทหารถูกฝึกมาก็เพื่อภารกิจพิทักษ์ รักษา ช่วยเหลือ และพัฒนาครับ”

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว