เชลล์ประกาศกลยุทธ์

23 ก.ค. 2561 | 06:23 น.
More and Cleaner Energy

เชลล์ถือเป็นองค์กรขยับตัวตอบรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานมาตั้งแต่กว่า 10 ปีที่แล้ว โดยขยับจากอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมก๊าซมากขึ้น ด้วยการเริ่มทยอยขายพอร์ตนํ้ามัน  แล้วหันมาลงทุนในก๊าซ LMG ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว และบริษัท รอยัลดัตช์เชลล์ ยังควบรวมกับ BG Group plc (BG) ทำให้พอร์ตก๊าซของเชลล์ใหญ่กว่าพอร์ตนํ้ามัน

อัษฎา หะรินสุต ประธานกรรมการ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า นี่เป็นกลยุทธ์ของเชลล์ทั่วโลก ที่เชลล์ต้องการหันมามุ่งพัฒนาและลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อลดการเพิ่มอุณหภูมิโลกให้เหลือ 2 องศาให้ได้ โดยประเทศไทยได้สานต่อนโยบายนี้เช่นกัน เริ่มตั้งแต่ที่ทำงาน ที่มีการปรับปรุงออฟฟิศให้ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และทำลายสิ่งแวดล้อมลงให้มากที่สุด เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในที่จอดรถ และในส่วนของธุรกิจเชลล์ได้ประกาศกลยุทธ์ More and Cleaner Energy Solution ที่มีองค์ประกอบ 3 ด้าน ได้แก่ 1. นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ 2. การทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย และ 3. ต้องมีการพัฒนาบุคลากร ที่มาช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างบูรณาการ

ShellBitumen_07

จากตัวเลขการใช้พลังงานและการใช้ไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่อง ปีที่ผ่านมามีตัวเลขการลงทะเบียนรถยนต์เกือบ 38 ล้านคัน การผลิตรถยนต์ การขาย ตั้งแต่ต้นปี เพิ่มขึ้นเกือบ 18% หรือประมาณ 4 แสนคัน โจทย์หลักของเชลล์ คือ จะเพิ่มการใช้พลังงานโดยช่วยลดโลกร้อนไปในตัวได้อย่างไร เชลล์มีแผนที่จะนำนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อการผลิตพลังงานชีวภาพให้มีประสิทธิภาพ มีต้นทุนที่ถูกลงอย่างไร เข้ามาใช้ ขณะเดียวกันก็ดูเรื่องพลังงานทางเลือก และไบโอฟิลต่างๆ ที่จะนำมาใช้ โดยโจทย์ใหญ่ คือจะใช้พลังงานทางเลือกเหล่านี้ โดยรัฐบาลไม่ต้องสนับสนุนมากได้อย่างไร

นวัตกรรมที่เชลล์นำมาใช้ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพและลดมลภาวะ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่ว่าจะเป็นนํ้ามันเชื้อเพลิง นํ้ามันเครื่อง และหรือการสร้างถนนด้วยยางมะตอย ที่จะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรในประเทศให้มีประโยชน์มากขึ้นได้ รวมไปถึงการผลักดันพลังงานชีวภาพ (Biofuel) ที่ได้มาจากผลิตผลทางเกษตร ทั้งจากปาล์มนํ้ามัน อ้อย
มันสำปะหลัง ซึ่งเชลล์ได้ร่วมสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกปาล์มนํ้ามันตามมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil หรือ RSPO ที่นอกจากจะเพิ่มศักยภาพในการผลิตแล้ว ยังสามารถส่งปาล์มนํ้ามันออกแข่งขันกับตลาดโลกได้อีกด้วย โดยเฉพาะในตลาดยุโรปที่ให้ความสำคัญกับ Certification เรื่อง RSPO

“การนำนวัตกรรมมาพัฒนาพลังงานชีวภาพ ให้เป็นเอทานอล 100% ที่เกิดจาก การนำขยะเกษตรมาใช้ แทนที่จะเอาไปเผาซึ่งจะได้พลังงานกลับมาประมาณ 30% แต่ถ้าเอามาผลิตเป็นเอทานอล หรือเอาขยะมาผลิตเป็นนํ้ามันสำเร็จรูป ก็อาจจะได้พลังงานกลับมาสัก 70%...ตรงนั้นก็เป็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็น่าจะมีประโยชน์สำหรับประเทศไทย สามารถนำมาปรับใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วย”

ShellBitumen_03

รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มีหลายประเภท เช่น รถไฟฟ้าที่ใช้ไฮโดรเจนฟิวเซล หรือ ไบโอเอทานอลฟิวเซล เป็นรถไฟฟ้าที่เอาเอทานอล 100% มาเติม เพียงเอาแบตเตอรี่ออก เอาฟิวเซล มีรีฟอร์มเมอร์เข้าไปแทน ก็จะเปลี่ยนเอทานอลให้เป็นไฮโดรเจน แล้วไฮโดรเจนก็โดนเปลี่ยนจากฟิวเซลให้มาเป็นอิเล็กตรอน ก็เป็นรถไฟฟ้าเหมือนกัน ซึ่งวิธีการนี้ จะทำให้ใช้งบลงทุนไม่มาก เพราะโครงสร้างเดิมสามารถรับเอทานอลได้อยู่แล้ว แค่ปรับนิดหน่อย นอกจากได้ต้นทุนที่ถูกลง ยังเกิดประโยชน์กับเกษตรกรอีกด้วย

ทั้งหมดนั่นคือ นวัตกรรมที่เชลล์มีอยู่แล้ว และคิดพัฒนาต่อเนื่อง อยู่ที่ว่าเทคโนโลยีแบบไหนที่จะช่วยประเทศไทยในแง่ของความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาลได้มากที่สุด ซึ่งต้องอยู่ที่ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันกลั่นกรอง ว่าแบบไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด มีผู้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาบุคลากร และการศึกษาใหม่ๆ ที่จะทำให้การพัฒนาพลังงานของไทยเกิดศักยภาพสูงสุด พร้อมๆ กับกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่ สนใจเข้ามาพัฒนาธุรกิจพลังงานให้มากขึ้น

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 (845) วันที่ 24 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62