Story Telling ‘เดอะ บัฟฟาโล อัมพวา’

23 ก.ค. 2561 | 06:07 น.
นำเสนอสิ่งที่คนอื่นไม่มี

ถ้าใครมีโอกาสได้ไปเยือน“The Buffalo Amphawa” การันตีได้เลยว่าคุณจะอดทึ่งไม่ได้กับดีไซน์ของ
รีสอร์ต ร้านอาหาร และร้านกาแฟ ที่บอกเลยว่าไม่ธรรมดา และหลายคนอาจแปลกใจว่าทำไมที่นี่ถึงฮอตฮิต
ขนาดนี้

เฉลยเลยแล้วกันว่าโครงการนี้ผ่านการออกแบบโครงสร้างและการตกแต่งจากศิลปินนักออกแบบที่มีดีกรีได้รับรางวัล
ด้านการออกแบบมากมายทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งเจ้าของธุรกิจนี้อย่าง “พ.ต.ท. นพพร เริ่มรวย” หรือคุณเป้ ต้องการสร้างเอกลักษณ์ของโครงการให้โดดเด่น โดยผสมผสานความเป็นท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงครามเข้าไปอยู่ในงานดีไซน์และการเล่าเรื่อง (Story Telling) เป็นตัวร้อยเรื่องราวให้เกิดจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้

nopporn 7

เจ้าตัวเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการลงทุนในโครงการนี้ว่า แม้เขาจะเป็นตำรวจ ในสังกัดกองบังคับการตำรวจภูธร จ.สมุทรสงคราม แต่ด้วยธุรกิจหลักของครอบครัวทำธุรกิจขายวัสดุก่อสร้างและโรงเลื่อย ประกอบกับเรามีที่ดินอยู่แล้วด้านหลังโรงเลื่อยจักรประสาร เป็นร่องสวนเก่า ตอนนั้นยังไม่ได้มองว่าจะทำรีสอร์ต เพียงอยากทำคอกเลี้ยงควายเล็กๆ เพราะชอบเลี้ยงสัตว์ และไปซื้อควายแคระตัวหนึ่งและควายแคระเผือกมาเลี้ยงชื่อ “กะทิและกะลา” ก็คิดเพียงการทำคอกเล็กๆ เปิดร้านกาแฟให้ลูกค้าได้มีโอกาสเห็นควายแคระที่เราเลี้ยง ก็น่าจะมีความสุขดี ทั้งงานไม้ก็เป็นสิ่งที่เป็นพื้นฐานธุรกิจของครอบครัวอยู่แล้ว และส่วนตัวก็ชอบงานศิลปะ ออกแบบอยู่แล้ว

ประกอบกับไปเห็นวิธีการทำไม้ไผ่ที่บาหลี ซึ่งสามารถยืดอายุไม้ไผ่ออกไปให้อยู่ได้คงทนและนานขึ้น โดยวิธีการกำจัดแป้งและนํ้าตาลในเนื้อไม้ อันเป็นอาหารของมอดออกไป  เราจึงได้นำเทคนิคนี้มาประยุกต์ใช้กับการทำไม้ไผ่ผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นกับร้านกาแฟของเรา โดยผมได้เพื่อนสนิทสมัยเรียนมัธยมที่ไม่ได้ติดต่อกันมานานอย่าง “กรกต อารมย์ดี” ที่เขามีผลงานศิลปะที่ใช้ไม้ไผ่ที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับงานดีไซน์มากมายทั้งในไทย ฮ่องกง ญี่ปุ่น
เขาจึงมาเป็นหัวหน้าทีมออกแบบสร้างสรรค์โครงการนี้ ทั้งยังมี“ปกรณ์ ธีระวรชาติ” และ “อนุรักษ์ อ่วมธรรม”  ร่วมกันสร้างจุดเด่นให้กับ The Buffalo Amphawa

พอได้มาคุยกันก็มองว่าด้วยพื้นที่กว่า 12 ไร่ การจะทำเพียงร้านกาแฟ ก็คงจะเล็กไป ก็เลยตกผลึกกันว่าจะทำร้านอาหาร และรีสอร์ตขนาด 62 ห้องให้มีที่พัก ต่อจิ๊กซอว์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร ก็จะทำให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมในการสร้างรายได้ด้วยเช่นกัน เบ็ดเสร็จจึงลงทุนในโครงการนี้ไปกว่า 200 ล้านบาท

การเข้าสู่ธุรกิจรีสอร์ตของคุณเป้ เขาบอกว่า จริงอยู่ที่จำนวนโรงแรมในสมุทรสงครามมีกว่า 430 แห่งก็จริง แต่การลงทุนของเขาเน้น “การนำเสนอในมุมมองที่แตกต่างหรือการนำเสนอสิ่งที่คนอื่นไม่มี” เป็นทางเลือกในการเข้าพักแล้วให้รู้สึกคุ้มค่ากับเงิน 3 พันบาทต่อคืน

นี่เองจึงทำให้การออกแบบของ The Buffalo Amphawa ในแต่ละจุด ล้วนแสดงถึงความประณีตของงาน Craft สะท้อน Story Telling อันเป็นวิถีชีวิตท้องถิ่นของชาวสมุทรสงคราม ไม่ว่าจะเป็น “The Buffalo Cafe” ร้านกาแฟชมบรรยากาศริมคลองแม่กลองและลานปลูกข้าว รูปทรงอาคารที่มองจากมุมบนจะเห็นเป็นรูปหลังควายหมอบอยู่ในนํ้า เพดานที่ทำมาจากกระดาษว่าว เคาน์เตอร์ร้านกาแฟ ที่เป็นงานดุนโลหะ (ทองเหลือง) ลวดลายอ่อนช้อย การใช้งานลงรักปิดทองคำเปลว มาทำเป็นตัวอักษรชื่อร้าน เก้าอี้ที่เป็นงานไม้ไผ่ที่ได้รางวัลระดับนานาชาติ การใช้งานมัดผูกไม้ไผ่ แบบเงื่อน “ยายจูงหลาน” ซึ่งเป็นเงื่อนประมงท้องถิ่น

แม้แต่โรงแรมสไตล์ Loft ที่ในความเรียบง่ายเน้นการใช้ไม้และไม้ไผ่เป็นวัสดุหลักในการตกแต่ง ที่สอดแทรกเรื่องราวของท้องถิ่น อย่าง ว่าวจุฬาและปักเป้า กำแพงไม้ไผ่ ลูกยางนา ทำจากโลหะ โคมไฟปลาทู สัญลักษณ์ปลาทูแม่กลอง และในส่วนของร้านอาหาร ก็เป็นอาคารทำจากเหล็กรูปกุหลาบทำให้เกิดสนิมแล้วเคลือบ สื่อถึงนํ้าเค็ม สะท้อนวิถีชีวิตการทำประมง สมกับความเป็น “เมืองสายนํ้า สามเวลา” ของจังหวัดสมุทรสงครามที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับสภาพนํ้าทั้งนํ้าจืด นํ้าเค็ม และนํ้ากร่อย ตลอดเช้า กลางวัน เย็น อย่างกลมกลืน

ดีไซน์อันสะท้อนตัวตนวิถีแห่งสมุทรสงครามเหล่านี้ เพื่อให้ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งและครอบคลุมทุกจุด คุณเป้ ยังมีแผนจะนำเทคโนโลยี AR และ QR Code  เข้ามาใช้ เพื่อให้ลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้สแกน และเข้าถึงเรื่องราวเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นจากจุดที่แตกต่าง ทำให้โครงการนี้แม้จะเปิดให้บริการไม่นาน ก็กลายเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจของอัมพวาไปแล้ว

คอลัมภ์ : ยังบลัด
โดย     : ธนวรรณ   วินัยเสถียร

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,377 (845) วันที่ 24 - 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว