บิ๊กเอกชนสั่งบุก! ฝ่า 'สึนามิค้าโลก'

16 ก.ค. 2561 | 10:42 น.
160761-1709

บิ๊ก สรท. - สภาหอฯ - สภาอุตฯ สั่งรับมือคลื่นสงครามการค้า ชี้! อีก 3 เดือน เห็นผลกระทบชัด แต่มั่นใจส่งออกไทยยังแกร่ง-เศรษฐกิจโลกยังโต ดันฝ่ามรสุม จี้! สมาชิกเปิดเกมรุกชิงฐานลูกค้าสหรัฐฯ-จีน เหนือคู่แข่ง ... พาณิชย์สวนกระแส! ปรับเป้าส่งออกโต 9%

สหรัฐฯ-จีน คู่เอกสงครามการค้า ได้ขึ้นภาษีสินค้าอัตรา 25% ตอบโต้กันในล็อตแรก รวม 1,363 รายการ คิดเป็นมูลค่าฝ่ายละ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา จ่อด้วยล็อตที่ 2 อีก 398 รายการ ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า มูลค่าอีกฝ่ายละ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


T07-3236-b

ล่าสุด สหรัฐฯ ประกาศเตรียมขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มอีก 6,000 รายการ ในอัตรา 10% มูลค่าอีก 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดจะมีผลปลายเดือน ส.ค. นี้ หลายฝ่ายวิตกสงครามครั้งนี้จะยุติเมื่อใด


สรท. ชี้ 3 เดือน เห็นภาพชัด
น.ส.กัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สงครามการค้าครั้งนี้ คาดจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนต่อการส่งออกของไทย และการค้าโลกใน 3 เดือน หรือ ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เบื้องต้น มองด้านบวกมากกว่าลบ สินค้าไทยมีโอกาสส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน และส่งออกไปตลาดจีนทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น

 

[caption id="attachment_298358" align="aligncenter" width="503"] (ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ขวา) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน (ซ้าย) โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
(ขวา) สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน[/caption]

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ส่งออกไทยติดตามข้อมูลลูกค้าในสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิดว่า ช่วงจากนี้ไปจะมีผลให้มีการนำเข้าลดลงหรือชะลอตัวมากน้อยเพียงใด เพราะการเพิ่มขึ้นของภาษีนำเข้าย่อมกระทบต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้น และกระทบผู้บริโภคทั้งในสหรัฐฯ และจีนแน่นอน ดังนั้น ในรายการสินค้าที่ทั้ง 2 ฝ่าย ได้ขึ้นภาษีตอบโต้กันนั้น ผู้ส่งออกก็ต้องไปคุยกับคู่ค้าว่า สนใจหรือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะสั่งซื้อสินค้าจากไทยที่เสียภาษีต่ำกว่าเข้าไปทดแทน ซึ่งต้องศึกษาคู่แข่งและตามประกบลูกค้าอย่างใกล้ชิด

"ภาษีที่เพิ่มขึ้น 25% ทำให้ผู้นำเข้ามีภาระเพิ่มขึ้น ต้องติดตามว่า เขาจะบริหารจัดการอย่างไร เพื่อไม่ให้กระทบผู้บริโภคหรือผู้ใช้สินค้า เช่น อาจลดราคาสินค้าลง ยอมแบกภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง หรือจะปรับราคาขึ้น คาดเขาต้องปรับตัวไม่ต่ำกว่า 3 เดือนเช่นกัน ส่วนสินค้าที่เขายังต้องการนำเข้า เราต้องสนองตอบให้ได้ อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะยังขยายตัวได้ และเวลานี้บาทอ่อนค่า คาดจากนี้ถึงปลายปีจะเฉลี่ยที่ประมาณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันสินค้าไทยในทุกตลาด ทำให้ทาง สรท. ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 8%"

 

[caption id="attachment_298359" align="aligncenter" width="503"] กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลินท์ สารสิน
ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย[/caption]

สภาหอฯ จี้เปิดเกมชิงคู่ค้า
เช่นเดียวกับ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มองว่า ไทยมีโอกาสส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เพื่อทดแทนสินค้าจีนและส่งออกไปจีนทดแทนสินค้าสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น และในระยะต่อไป อาจมีผลให้จีนและสหรัฐฯ มาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น เพราะสินค้าจากไทยจะส่งออกไปจีนและสหรัฐฯ ในอัตราภาษีที่ต่ำกว่า

"ต้องติดตามว่า สินค้าที่ไปสหรัฐฯ ไม่ได้หรือไปได้ลดลงจะไปขายที่ไหน จะไปขายตลาดเดียวกับเราเพิ่มขึ้นหรือไม่ หรือจะส่งมาขายบ้านเรามากขึ้น ดูว่าราคาเขาเป็นอย่างไร จะมีผลให้ลูกค้าหันไปซื้อสินค้าจีนที่อาจดัมพ์ราคาลงมากขึ้นหรือไม่ หรือยังซื้อสินค้าไทยอยู่ เรื่องเหล่านี้ ผู้ส่งออกไทยต้องติดตามลูกค้าใกล้ชิดว่า เขาต้องการสินค้าแบบไหน ราคาเท่าไหร่ คู่แข่งขันเป็นใคร ต้องรู้เขารู้เราตลอดเวลา"


02-3351-1714

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2561 ได้ปรับคาดการณ์การขยายตัวการส่งออกไทยในปี 2561 จากเดิม 5-8% เพิ่มเป็น 7-10% โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัว บาทอ่อนค่าช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ส่วนข้อพิพาททางการค้าสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ กับอีกหลายประเทศ มองว่าจะส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อการส่งออกของไทยในปีนี้


ส.อ.ท. เร่ง 45 กลุ่ม ส่งการบ้าน
ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า น่าห่วง เพราะสหรัฐฯ และจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 และ 2 ของโลก และจีนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก หากไม่ยอมลดราวาศอกกัน อาจทำให้บรรยากาศเศรษฐกิจและการค้าโลกเข้าสู่ภาวะช็อกหรือชะงักงันชั่วคราวได้ ขณะที่ ไทยพึ่งการส่งออก 70% ของจีดีพี และพึ่งพาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีนสัดส่วนรวมกัน 23.7% ในปีที่ผ่านมา (จีน 12.5% สหรัฐฯ 11.2%)


appwto

"ส.อ.ท. ได้ให้สมาชิก (45 กลุ่มอุตสาหกรรม) เร่งศึกษาผลกระทบและประเมินผลส่งกลับมา ปลายปีนี้คงเริ่มเห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจน ส่วนตัวมองบวกมากกว่าลบ โดยเชื่อว่า สินค้าในกลุ่มที่สหรัฐฯ และจีนขึ้นภาษีตอบโต้กัน ส่วนหนึ่งจะหันมานำเข้าจากประเทศอื่นมากขึ้น และไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะได้อานิสงส์"

ขณะที่ น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สงครามการค้ามีทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมต่อไทย แต่ยังมั่นใจว่า ยอดส่งออกไทยในภาพรวมในปีนี้น่าจะขยายตัวได้ถึง 9% จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 8% ส่วนจะถึง 10% หรือไม่นั้น ต้องรอดูสถานการณ์การส่งออกในไตรมาส 3 ก่อน ในสัปดาห์หน้า กระทรวงพาณิชย์จะเชิญผู้ประกอบการส่งออกหารือสถานการณ์ ก่อนปรับเป้าหมายการส่งออกของประเทศใหม่


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดศึกแล้ว! อินทรีฟัดมังกร บนสมรภูมิการค้าโลก
รับมือสึนามิการค้าโลก


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว