สกัดสัญญาขายฝากจำแลง! รัฐเร่ง ก.ม.คุ้มครอง-เพิ่มเวลาไถ่ถอนคืน

11 เม.ย. 2561 | 15:55 น.
ปัญหาประชาชนและเกษตรกรขาดแคลนเงินในยามฉุกเฉิน เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนในระบบและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐฯ ส่งผลให้ประชาชนต้องยอมนำโฉนดที่ดินทำสัญญาขายฝากกับนายทุนนอกระบบ โดยนายทุนนอกระบบจะกำหนดเงื่อนไขในสัญญาขายฝากเอง อาทิ ให้กรอกเอกสาร หรือ เซ็นใบมอบอำนาจ

ขณะที่ ประชาชนและเกษตรกรจำต้องยอม 'นายทุนนอกระบบ' เพราะไม่เข้าใจสัญญาและสาระสำคัญของกฎหมายขายฝาก ผนวกกับความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้เงิน เมื่อถึงกำหนดเวลาไถ่ถอนคืน นายทุนจะกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนสั้นมาก ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระได้ทัน นำไปสู่การสูญเสียที่ดินทำกินในที่สุด

สภาพปัญหาที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมและอันเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลจึงหาแนวทางแก้ไขโดยยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝากควบคู่กับการกำหนดมาตรการให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนยามฉุกเฉิน อาทิ สินเชื่อรายย่อยระดับหมู่บ้าน ชุมชน ภายใต้ชื่อสถาบันการเงินประชาชนและธนาคารที่ดิน

แนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน ที่มี นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน ได้ตั้งอนุกรรมการพิจารณาเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชนเป็นผู้ศึกษาหาทางออก โดยเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ที่ผ่านมา ได้จัดรับฟังความเห็นประชาชนที่ จ.กาฬสินธุ์ และจะเปิดฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้


16-3355-150761-2300

ประชาชนหนุนแก้ ก.ม.ขายฝาก
นายคำนูณ สิทธิสมาน ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของประชาชน คณะกรรมการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วน เปิดเผยถึงการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชนใน จ.กาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง ว่า ผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นส่วนมากเป็นผู้ที่เดือดร้อนจากกฎหมายขายฝาก ภาพรวมส่วนใหญ่ประชาชนเห็นด้วยที่จะให้มีการแก้ไขกฎหมาย เพราะจากที่อนุกรรมการฯ รับฟัง ได้พบรูปธรรมของความเดือดร้อนต่าง ๆ สิ่งที่ประชาชนเรียกร้อง ซึ่งเราไม่สามารถตอบสนองได้ คือ มีประชาชนส่วนหนึ่งที่สูญเสียที่ดินจากการขายฝากแล้ว และถามว่า ถ้ามีการแก้ไขกฎหมาย เขาจะได้รับสิทธิด้วยหรือไม่ เราตอบได้ในเชิงหลักการว่า ปกติการแก้ไขกฎหมายต้องแก้ไขในเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว

"กรณีเรื่องที่เกิดไปแล้ว ที่ดินขาดไปแล้ว คงไม่ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ด้วย แม้กระทั่งที่ทำสัญญากันไว้แล้ว คงต้องเป็นไปตามสัญญาเดิม ยกเว้นบางประการ สุดแท้แต่กฎหมายจะเขียนขึ้นมา ส่วนการเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลต่อไป"


ล็อกเวลาขั้นต่ำไถ่โฉนด
นายคำนูณ กล่าวถึงแนวโน้มการแก้ปัญหา คือ ประการแรกจะไม่เป็นการยกเลิกบทบัญญัติเกี่ยวกับการขายฝากในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่จะหยิบยกประเด็นการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ออกมาเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝาก โดยจะมีหลักการสำคัญ คือ เพื่อให้เป็นสัญญาที่มีเงื่อนไขคุ้มครองประชาชนที่เสียเปรียบได้เพิ่มมากขึ้นกว่าที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สาระสำคัญเท่าที่สรุปได้แน่ชัด คือ จากเดิมที่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอนคืนไว้ในระยะขั้นสูงสุดไว้ไม่เกิน 10 ปี และไม่ได้ระบุเวลาขั้นต่ำไว้ จะต้องเพิ่มระยะเวลาขั้นต่ำเอาไว้เป็น 1 ปี หรือ 18 เดือน ขณะนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่จะต้องมีการระบุสัญญาขั้นต่ำเอาไว้

ประการที่ 2 จะต้องมีการเขียนบทบัญญัติไว้ในลักษณะที่เป็นสัญญาซื้อขายตามปกติ จะเป็นสัญญาซื้อขายที่เป็นเงื่อนไขพิเศษให้ผู้ขายสามารถซื้อคืนได้ภายในระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสัญญาขายฝาก ยกเว้น มีการพิสูจน์ว่า ไม่ใช่ จากที่เราได้สำรวจความเห็นจากหลายฝ่าย จะให้ความเห็นว่า ต่อให้ยกเลิกสัญญาขายฝากไป ก็จะมีการจัดทำสัญญาซื้อขายชนิดที่มีเงื่อนไขขึ้นมาแทน เราจึงต้องมาสู่ข้อสรุปว่า เราไม่เลิกเรื่องการขายฝาก แต่ทำให้การขายฝากเฉพาะการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ออกไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝาก เพื่อไม่ให้ไปทำสัญญาขายฝากจำแลงโดยใช้สัญญาซื้อขายแบบที่มีเงื่อนไขพ่วงไว้

ขณะเดียวกัน ในกฎหมายคุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝาก ให้สันนิษฐานไว้ว่า สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขพ่วงท้ายไว้ ให้มีการซื้อคืนได้ภายในระยะเวลาในสัญญาขายฝาก ก็ไปอยู่ภายใต้การคุ้มครองด้วย ยกเว้นจะพิสูจน์ได้ว่า ไม่ใช่


ยกร่าง ก.ม. แล้วเสร็จเดือนนี้
เมื่อพ้นจากการรับฟังความเห็นประชาชนที่ จ.กาฬสินธุ์ แล้ว คณะอนุกรรมการจะได้นำข้อมูลมาร่างเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนจากสัญญาขายฝาก ซึ่งขณะนี้ ต้นร่างกฎหมายน่าจะใกล้เคียงกับที่จะเสร็จแล้ว พร้อมที่จะเสนอเข้าสู่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศในระยะเร่งด่วน ในการประชุมนัดต่อไปในเดือน เม.ย. นี้ ซึ่งน่าจะเป็นช่วงปลายเดือน เม.ย. อาจจะมีการปรับแก้อีกนัด จากนั้นจะไปสู่ขั้นตอนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ค่อนข้างเร่งรัดมาก ทั้งเป็นกรรมการคนหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายในระยะเร่งด่วนด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะเสนอ ครม. ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ ถ้า ครม. รับหลักการก็จะไปสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาอีก ยังมีขั้นตอนอีกพอสมควร ยกเว้น รัฐบาลเห็นว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายผ่าน ครม. แล้ว นำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทราบแล้ว กำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา

"ในแผนปฏิรูปฯ เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้ดำเนินการแก้ไขกฎหมายสัญญาขายฝากและกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 ดังนั้น ทาง ครม. ต้องเสนอต่อ สนช. ภายในปี 2561 ซึ่งเป็นไปตามแผนปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย" นายคำนูณ ระบุ


……………….
เซ็กชัน : การเมือง โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 16

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก.ม.คุ้มครองสัญญาขายฝาก ปกป้องที่ดินผืนสุดท้าย
แจงร่างพ.ร.บ.คุ้มครองขายฝากฯเป็นวาระเร่งด่วนชี้เกษตรกรจำนองหนี้นอกระบบกว่า30ล.ไร่


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว