รื้อแผนเกษตร! ชูตลาดนำผลิต

15 ก.ค. 2561 | 11:06 น.
150761-1801

'กฤษฎา' ลุยงานช้าง! วางแผนผลิตสินค้าเกษตรทั่วประเทศ ชู 'ตลาดนำการผลิต' นำร่องภาคกลาง-เหนือตอนล่าง ลดนาปรัง 2 ล้านไร่ ปลูกพืชอื่นเสริม คิกออฟสิ้น ก.ค. นี้ ชี้หากสำเร็จ! ประกาศแผนผลิตทั่วประเทศเดือน ต.ค. โยกงบ 3 แสนล้าน ตั้งกองทุนหมุนเวียน อัดแพ็กเกจเสริมจูงใจแห่ร่วม ไร่มันชี้! เอื้อนายทุน

จากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายแก้ปัญหาอาชีพเกษตรกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องอาศัยการปรับตัวและการปรับโครงสร้างเกษตรกรรมของประเทศ ภายใต้หลักคิด "ตลาดนำการผลิต" คือ การผลิตให้มีปริมาณสอดคล้องกับความต้องการของตลาด อันจะมีผลต่อเสถียรภาพราคาที่ดีนั้น

 

[caption id="attachment_298161" align="aligncenter" width="424"] กฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา บุญราช
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์[/caption]

นำร่องเปลี่ยนนาข้าว 2 ล้านไร่
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ทางกระทรวงได้สนองนโยบายและหลักคิดดังกล่าว โดยอยู่ระหว่างวางแผนการผลิตพืชเกษตรให้มีผลผลิตพอดีกับความต้องการของตลาด ล่าสุด อยู่ระหว่างประสานงานกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และภาคเอกชน ในการนำข้อมูลสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด มาดูถึงความต้องการของตลาดในประเทศและตลาดโลก เพื่อวางแผนการผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ

ทั้งนี้ จะเปิดทดลองดำเนินการพื้นที่นำร่องในภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างในฤดูนาปรัง (รอบที่ 2) ในสิ้นเดือน ก.ค. นี้ พื้นที่ 1-2 ล้านไร่ ซึ่งนอกจากรัฐจะให้เงินสนับสนุนเปลี่ยนจากข้าวไปปลูกพืชอื่น 2,000 บาทต่อไร่ เช่น มีที่นา 20 ไร่ ปลูกข้าว 10 ไร่ อีก 5 ไร่ หันไปปลูกข้าวโพด อีก 5 ไร่ ปลูกมันสำปะหลัง เป็นต้น โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงในหลายเรื่อง เช่น จะไปสอบถามภาคเอกชนว่า ต้องการผลผลิตข้าวโพดหรือมันสำปะหลังในปริมาณเท่าใด และจะรับซื้อในราคาเท่าใด เมื่อทราบข้อมูลแล้ว จะนำโควตาหรือความต้องการของเอกชนไปให้เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรปลูกตามแผน โดยจะรับซื้อในปริมาณและราคาที่ตกลงกันไว้ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจว่า มีผู้รับซื้อและได้ราคาที่แน่นอน ช่วยลดปัญหาม็อบมาเรียกร้องรายวัน


appP1-2-3075

เพิ่มแพ็กเกจจูงใจ
ขณะเดียวกัน กำลังคิดหามาตรการเสริมเพื่อเพิ่มแรงจูงใจเกษตรกรเข้าร่วมแผนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาด (เนื่องจากเรื่องนี้ไม่มีกฎหมายบังคับให้เกษตรกรต้องทำตาม) โดยจะเริ่มจากข้าวและจะขยายสู่พืชไร่และพืชสวนอื่น เช่น หากผลผลิตราคาสินค้าตกต่ำ รัฐจะให้เงินช่วยเหลือโดยตรง การประกันราคาขั้นต่ำเพื่อไม่ให้ขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุนการผลิต การทำประกันภัยพืชผลให้ รวมถึงหากเกษตรกรมีการรวมกลุ่มกัน จะมีสิทธิกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซื้อปัจจัยการผลิตในราคาต่ำกว่าราคาตลาด การได้ราคาพิเศษในการเช่าเครื่องมือ เครื่องจักร ต่าง ๆ เป็นต้น

"ถ้าเกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้อย่างนี้ เขาก็จะเชื่อเราและปลูกตามแผนที่เราบอก ในเบื้องต้นนี้ จะทดลองนำร่องไปที่ชาวนาข้าวเป็นอันดับแรก หากประสบความสำเร็จจะประกาศแผนการผลิตพืชเกษตรทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป ตรงนี้มีคนทักท้วงว่า มิต้องใช้เงินเป็นแสนล้านบาทเลยหรือ เรียนให้ทราบว่า ในแต่ละปี กระทรวงเกษตรฯ ต้องขอเงินรัฐบาลผ่านกระทรวงพาณิชย์ไปรับซื้อพยุงราคาบ้าง ไปรับประกัน ไปรับจำนำบ้าง ปีปีหนึ่งหมดเงินประเภทนี้ไปหลายแสนล้านบาท ไม่นับรวมโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลชุดก่อน ที่หมดเงินไปกว่า 7 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบัน หมดไปในส่วนนี้ราว 2-3 แสนล้านบาทเศษต่อปี ซึ่งเงินส่วนนี้เราจะนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนหมุนเวียน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งจะประหยัดงบมากกว่า"


GP-3382_180715_0002

ส.มันฯ ชี้เอื้อนายทุน
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า แผนการผลิตสินค้าเกษตรที่กระทรวงเกษตรฯ จะประกาศออกมา ถือเป็นแนวคิดที่ดี แต่คงต้องติดตามในรายละเอียดของแผนและมาตรการจูงใจเกษตรกรเพิ่มเติม ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับของเดิม เพราะช่วงที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรฯ ก็ได้ดำเนินการแล้วในหลายเรื่อง เช่น เกษตรแปลงใหญ่ดึงภาคเอกชนรับซื้อผลผลิต สนับสนุนเงินเป็นค่าใช้จ่ายการปลูกพืชทางเลือกอื่นแทนข้าว ไร่ละ 2,000 บาท (ไม่เกิน 15 ไร่) การจัดโซนนิ่งภาคเกษตร เพื่อสนับสนุนให้มีผลผลิตและคุณภาพที่ดี เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้เกษตรกรมีความมั่นคงในอาชีพและรายได้เพิ่มขึ้นบ้างแล้ว

นายธีระชาติ เสยกระโทก เลขาธิการสมาพันธ์ชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย กล่าวถึงมาตรการการบริหารจัดการภาคเกษตรใหม่ ที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะมีการวางแผนเพาะปลูก ประกันราคา และจะดึงโรงงานมารับซื้อโดยตรง มองว่า ไม่ตอบโจทย์ เอื้อนายทุนโรงงานหรือไม่ ที่ผ่านมา ในอดีตกระทรวงก็เคยมีมาตรการแบบนี้ แต่มีความสำเร็จเกิดขึ้นน้อย ท้ายสุดเกษตรกรก็ถูกกดราคาเช่นเคย


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
'สมคิด' ตรวจการบ้านเกษตร 16 ก.ค. นี้
นายกฯ ขอบคุณเกษตรกรเสียสละไม่รับเงินช่วยเหลือจากรัฐ ชี้! เร่งเยียวยาพื้นที่รับน้ำ 'ถ้ำหลวง'


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว