Management Tools : AI Model จัดการด้วยปัญญา ที่ไม่ใช่ปัญญาประดิษฐ์

14 ก.ค. 2561 | 19:20 น.

63265959
เปล่าครับ ผมไม่ได้พูดถึง AI (เอไอ) ที่ย่อมาจาก Artificial Intelligence  หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่คอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์มีสมองคิดสั่งการแก้ไขปัญหาจากโปรแกรมการเรียนรู้ที่สั่งสมจนแทบทำงานทดแทนหรือดีกว่ามนุษย์ได้ แต่ผมกำลังกล่าวถึงตัวแบบในการตัดสินของผู้บริหารที่ชื่อว่า AI Model หรือ ย่อมาจาก Appreciative Inquiry หรือ การใช้จิตวิทยาเชิงบวกเพื่อการสนทนาหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์

Appreciative หมายถึงการชื่นชม หรือการมองผู้อื่นในทางบวก  เห็นข้อดีของคนอื่น  เวลาเรา appreciate ใคร เราจะชื่นชมเขาอย่างจริงใจ เห็นด้านดีของเขา  เห็นความเป็น Hero ในตัวเขา และมองข้ามความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ


1531594913884

ส่วน Inquiry หมายถึงการเข้าถึง  เช่น การอ่านหนังสือเป็นการเข้าถึงความรู้ที่ต้องการ  ดังนั้นเมื่อเอา 2 คำมารวมกัน ย่อมหมายถึงการเข้าถึงอย่างชื่นชม หรือมีคนแปลเป็นไทยให้ยากขึ้น เช่น สุนทรียสาธก  ซึ่งคงไม่เหมาะที่จะไปทำอะไรให้เข้าใจยากยิ่งขึ้น

วิธีการคิดแบบ AI. หรือ Appreciative Inquiry  จึงเป็นการเริ่มต้นที่การสร้างสรรค์ (Constructive) มากกว่าการทำลาย (Destructive)  และเป็นไปในเชิงบวก (Positive) มากกว่าเชิงลบ (Negative)

เขาแนะว่า หากลองสร้างเป็นแผนภาพ โดยเอาแกน X  เป็นแกนทัศนคติ ซ้ายลบขวาบวก  เอาแกน Y  เป็นแกนของการสร้างสรรค์  ด้านบนสร้างสรรค์ ด้านล่างไม่สร้างสรรค์  ก็จะเกิดพื้นที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน  ดังนี้


TP6-3383
ในพื้นที่ 4 ส่วน จากการตัดกันของเส้นแกน  จำแนกคนออกเป็น 4 ประเภท คือ


คนประเภทที่ 1   เราเรียกนักเผด็จการ (The dictator)  คนที่ติดอยู่ในกรอบความคิดแบบนี้มักจะมีประโยคประจำตัวคือ “ไม่” (No)   ใครถามอะไร เสนออะไร ที่ไม่ตรงใจตน ก็จะ “ไม่”สั้นๆอย่างเดียว  ไม่คิดจะอธิบายอะไรให้คนอื่นเข้าใจ  เพราะฉันคือเจ้าขององค์กร  ดังนั้นเมื่อฉัน “ไม่”  ก็ไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลใดๆ  เข้าใจหรือเปล่า

คนประเภทที่ 2 เราเรียกเขาว่าเป็น คุณครู (Schoolteacher)  มีประโยคประจำตัวเช่นกันว่า “ไม่ ความคิดนี้ยังไม่เข้าท่าเพราะว่า......” (No, the idea isn’t good because…..)  บุคคลประเภทนี้ยังเชื่อว่าตนเองรอบรู้ รู้ดีกว่าคนอื่น เหมือนคุณครูที่คิดว่าตัวเองรู้ดีกว่าลูกศิษย์   ดังนั้นใครพูดอะไรที่ไม่ตรงใจตัว ก็จะบอก “ไม่”เช่นกัน  แต่ยังมีความเป็นครูที่จะพยายามอธิบายในเหตุผลว่าทำไมจึง “ไม่”  อันนี้ดูดีขึ้นมาหน่อย

avatar people in the form of speech bubble

คนประเภทที่ 3 เป็นพวกนักจับผิด (Fault-finder) ประโยคประจำตัวของเขาคือ “ความคิดนี้ก็ดี แต่ว่า......” (The idea is good, but…….) วิธีการพูดดังกล่าวแม้จะเป็นบวก แต่ก็ไม่สร้างสรรค์  เพราะผู้พูดยังมีความเป็นอัตตาสูง  เชื่อมั่นในความคิดของตนแต่ฝ่ายเดียว  แต่มีวิธีการในการพูดให้อ่อนโยน  ให้ไม่เกิดการต่อต้าน  เช่น “พร้อมเลือกตั้ง แต่ยังไม่ถึงเวลา” ดังนั้นจึงเป็นคนประเภทที่มีลีลา แต่แสวงหาจุดอ่อนทางความคิดของผู้อื่นมาโต้แย้ง  เป็นพวกนักจับผิดตัวยง

คนประเภทที่ 4 เป็นพวก AI หรือพวกที่มีทัศนคติในเชิงบวกและสร้างสรรค์  ประโยคประจำตัวของเขาคือ “ได้ และผมคิดว่าควรจะมีอะไรเพิ่มเติมอีก คือ........” (Yes , and we could also……)  การมีความคิดและสื่อสารออกมาด้วยวิถีดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำเสนอที่สร้างสรรค์และสามารถสร้างความชื่นชมแก่คู่สนทนา  เวลาผู้ใต้บังคับบัญชาเสนออะไรขึ้นมา ก็ไม่รีบปฏิเสธเขาแต่ยังจะช่วยต่อเติมเสริมแต่งให้เกิดความงอกงามทางปัญญา  หัวหน้าประเภทนี้ก็จะเป็นหัวหน้าที่ลูกน้องอยากเข้าพบ อยากช่วยกันเสนอแนะความคิดใหม่ๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน  เพราะเมื่อเข้าหาจะได้รับการส่งเสริมและกลับออกมาด้วยความรู้สึกที่ดีว่าความคิดที่เสนอนั้นได้รับการยอมรับจากผู้บังคับบัญชา


choice-3183317_640

เลิกพูดคำว่า “ไม่”

เลิกพูดว่า “ไม่ เพราะว่า.......”

เลิกเสียทีกับคำพูดที่ว่า “ได้ แต่ว่า.....”

วันนี้ต้องเริ่มพูดคำว่า “ได้ และควรเพิ่มเติมให้ดีขึ้นด้วย.........”

เพราะทุกความคิดของทุกคนล้วนแต่เป็นความคิดที่ดี และสามารถทำให้ดีขึ้นได้หากช่วยกันแต่งเติมในสิ่งที่มีคุณค่าเพิ่มเข้าไป  วันนี้ต้องคิดบวกและสร้างสรรค์ครับ

| คอลัมน์ : Management Tools
| โดย : สมชัย ศรีสุทธิยากร 
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3383 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค.2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว