ทางออกนอกตำรา : “ลุงตู่” เคยรู้บ้างมั้ยขอรับ! รื้อสัญญาเช่าซื้อรถปุ๊บ-ขึ้นดอกปั๊บ

14 ก.ค. 2561 | 18:46 น.
6659565 ประกาศควบคุมสัญญาเช่าซื้อฉบับใหม่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะทำคลอดออกมา ทำท่าว่าจะดีต่อประชาชนในสาระ หลักคิด แต่ทำไปทำมากำลังเปิดทางให้ผู้ประกอบการลีสซิ่งพลิ้วไหวจนคนทั่วไปและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามไม่ทัน “ขึ้นต้นเป็นบ้องไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา” เสียนี่

ความมุ่งหวังว่าจะเพิ่มความคุ้มครองผู้บริโภคเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบ ด้วยการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องทำการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเบี้ย จากเดิมที่คิดดอกเบี้ยเช่าซื้อแบบคงที่ ด้วยการนำอัตราดอกเบี้ยมาคูณกับราคารถยนต์คูณด้วยระยะเวลาแล้วหารออกมาจ่ายสุทธิเป็นรายเดือน

นอกจากนี้ ยังกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องลดดอกเบี้ยปรับที่คิดจากลูกค้าลงมาเป็นไม่เกิน 15% ต่อปี จากเดิมที่สูงกว่า 17%

[caption id="attachment_297584" align="aligncenter" width="503"] พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา[/caption]

รวมถึงกำหนดให้บริษัทลีสซิ่ง ต้องทำตารางค่างวดแยกเงินต้น ดอกเบี้ย ออกมาให้ชัดเจน และเปิดทางโล่งโจ้งให้สิทธิ์ลูกค้าซื้อรถคืนได้ภายใน 7 วัน หลังผู้ประกอบการยึดรถที่ลูกค้าไม่สามารถผ่อนชำระได้

สิ่งเหล่านี้กำลังกลายเป็นคำพูดหรู ดูดี แต่ในทางปฏิบัติกลับเดินไปคนละทิศละทางอย่างสิ้นเชิง เมื่อผู้ประกอบการพลิ้วคิดดอกเบี้ยเหมือนเดิม และไม่มีการลดดอกเบี้ยลงมาอย่างแท้จริง

ผู้ประกอบการอ้างว่า ปัจจุบันการทำสัญญาเช่าซื้อ มีการคิดอัตราดอกเบี้ยทั้งแบบคงที่ (flat rate) และการคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก (effective rate) อยู่ในสัญญาอยู่แล้ว แต่ในการแจ้งลูกค้าจะใช้ flat rate เพื่อให้ลูกค้ามีความเข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้นการปรับจึงไม่มีผล

ก่อนจะอรรถาธิบายว่า ปัจจุบันถ้าปล่อยเช่าซื้อรถยนต์ การคิดดอกเบี้ยแบบ flat rate จะคิดดอกเบี้ยต่ำ เฉลี่ย 2.5-3% แต่คำนวณจากเงินต้นคงที่
Cum-se-amaneteaza-o-masina ขณะที่สัญญาเช่าซื้อที่มีการคิดแบบลดต้นลดดอก อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าราว 5-5.5% แต่จะคำนวณจากเงินต้นที่ปรับลดลงเรื่อย ๆ แต่โดยสรุปแล้วลูกค้าทั้ง 2 รูปแบบในสัญญา จะมีภาระดอกเบี้ยเท่ากัน

แปลว่า ประกาศฉบับนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่ นอกจากหน่อไม้!

ที่ร้ายมากกว่านั้นคือ บริษัทลีสซิ่ง หรือผู้ปล่อยกู้เช่าซื้อรถยนต์หลายรายประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ทันที โดยอ้างว่ามีต้นทุนดอกเบี้ยขึ้น...

ผมไม่ทราบได้ว่า ทางเจ้าหน้าที่ สคบ.โดยเฉพาะ “นายตำรวจดัง” พล.ต.ต.ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการ สคบ.รวมถึง “รัฐมนตรี” ที่ดูแลกำกับ สคบ.ไปทำอะไรอยู่ที่ไหน จึงมองไม่เห็นปัญหานี้ ทั้ง ๆ ที่เป็นพฤติกรรมที่สวนทางกับความเป็นจริงของตลาดการเงินโดยสิ้นเชิง

คณะกรรมการนโยบายการเงิน สั่งขึงพืดดอกเบี้ยนโยบายมายาวนานที่ระดับ 2.5% และสั่งขึงยาวไปถึงสิ้นปีโน่น ฟากธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมานาน คนออกหุ้นกู้ล็อกต้นทุนดอกเบี้ยยาวได้สบายใจเฉิบ
p31 คนฝากเงินทุกคนกินดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเรี่ยดินมายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว บางคนกินดอกเบี้ยติดลบเสียด้วยซ้ำไปเมื่อนำมาหักจากเงินเฟ้อ นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นในผืนแผ่นดินนี้

แต่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์กลับขึ้นดอกเบี้ยเช่าซื้อไปทั้งตลาดแล้วขอรับนายท่าน ทำไมเป็นเช่นนั้น!

เพราะว่า ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจ ที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2561 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2561 วัตถุประสงค์หลักเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เช่าซื้อรถ จากที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อค่อนข้างเอารัดเอาเปรียบนั้นทำให้เกิดต้นทุนกับผู้ประกอบการโดยตรง

1.รายได้ของบริษัทลีสซิ่ง รายได้ของธนาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ทั้งมือ 1 และมือ 2 ลดลงฮวบฮาบ จากการลดต้นลดดอก ผ่อนเงินต้นไปเท่าไหร่ อัตราการจ่ายดอกเบี้ยก็จะลดลง เพราะคิดจากฐานเงินต้นในแต่ละงวด

2.ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานด้านเอกสาร เช่น การส่งหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อในกรณีการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าเบี้ยปรับชำระค่างวดล่าช้า ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่าย

3.รายได้จากการคิดเบี้ยปรับในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระหนี้จะลดลงเช่นกัน จากเดิมที่คิดจากฐานดอกเบี้ย MRR ของธนาคารกรุงไทย บวกไปอีก 10% หรือตกประมาณ 17% ต่อปี ของใหม่จะเปลี่ยนมาเป็นไม่เกิน 15% ต่อปี รายได้ในส่วนนี้ลดลงทันทีทุกรายการที่ผิดนัดชำระ 2%
ดาวน์โหลด เม็ดเงินก้อนนี้อาจดูน้อย แต่ในความเป็นจริงมันมหาศาลจากคนหาเช้ากินค่ำ ผิดนัดไป 10-20 วัน หรือ 2-3 เดือน โดนชาร์จบานตะเกียง 500-1,000 บาท/เดือน ลองคูณด้วยจำนวนรถใหม่ที่เข้าสู่ตลาดเช่าซื้อปีละ 8-9 แสนคันเอาดูก็แล้วกัน หากลูกค้ากลุ่มนี้สัก 15% ผ่อนไม่ตรงเวลาก็พอ ดอกผลจากการชาร์จค่าผิดนัดก็บานตะไท

ผมถึงบอกว่า นโยบายหลายอย่างอาจดูดี ในหลักคิด แต่ถ้าการปฏิบัติไม่ได้เรื่อง เจ้าหน้าที่ หน่วยงานที่กำกับดูแลเพิกเฉย ธุระไม่ใช่ ทำหน้าที่เหมือนมีอะไรมาอุดปากไว้ ก็จะกลับกลายเป็นการซ้ำเติมชาวบ้านตาดำๆ และเป็นการทำลายตลาดที่เป็นที่พึ่งของคนจนไปโดยคิดไม่ถึง

สคบ.ยังกลายเป็นองค์กรที่สังคมพึ่งไม่ได้ เป็นเสือกระดาษเหมือนเดิม...ไม่ว่าจะมอบดาบคมกริบไปให้ใช้ก็ตาม ส่วนประชาชนก็รับกรรมตามเคย

เรื่องแบบนี้เคยถึงหูนายกฯลุงตู่หรือไม่... ผมไม่อาจรู้ได้... แต่ผมโดนด่าหูอื้อมาหลายวันแล้ว เมื่อบอกกล่าวเล่าขานออกไปว่า รัฐบาลลุงตู่กำลังปฏิรูปธุรกิจเช่าซื้อครั้งใหญ่ในแผ่นดินนี้...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับ 3383 ระหว่างวันที่ 15-18 ก.ค.2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว