ชงหั่นภาษี SME! ฟื้นแรงซื้อภูธร

14 ก.ค. 2561 | 17:28 น.
150761-0002

กูรูแนะรัฐลดเหลื่อมล้ำภาษีเอสเอ็มอี 3 ล้านราย กระตุ้นเศรษฐกิจภูมิภาค ประเมินฟื้นกำลังซื้อฐานรากต้องใช้เวลา แม้รายได้เกษตรกรดีขึ้น แต่ยังต้องจ่ายหนี้เก่า

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า เศรษฐกิจภาพรวมในปีนี้ฟื้นตัวชัดเจน แต่ยังฟื้นตัวในระดับบน ขณะที่ เศรษฐกิจระดับล่าง ทั้งภาคเกษตรและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในภูมิภาคกำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว เพราะมีรายได้ดีจากภาคการท่องเที่ยวและเกษตรผลไม้ ส่วนภาคอีสานกับภาคเหนือกำลังซื้อทยอยฟื้นตัว แต่ภาคใต้ราคาสินค้าเกษตรแย่กว่าเดิม โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน


app-BAN04_THAILAND-THAKSIN_0816_03

ขณะที่ เอสเอ็มอีจำนวน 3 ล้านราย สร้างงานประมาณ 21 ล้านคน แต่ยังมีความเหลื่อมล้ำจากมาตรการปรับลดภาษี เช่น กำไรไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี เสียภาษีในอัตรา 15% หรือ กรณีมีกำไรเกิน 3 แสนบาทต่อปี เสียภาษีที่อัตรา 20% หากแต่บริษัทขนาดใหญ่ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี เสียภาษีสุทธิในอัตรา 7-8%

"ความเหลื่อมล้ำของการเสียภาษีที่ 20% กับอัตรา 7-8% ยิ่งทำให้เอสเอ็มอีไม่กล้าเข้าระบบบัญชีเดียว โดยเฉพาะเอสเอ็มอีในภูมิภาค แรงจูงใจเรื่องภาษียังเหลื่อมล้ำ ดังนั้น ผลต่อกำลังซื้อยังฟื้นไม่ได้เต็มที่ หากจะให้เศรษฐกิจภูมิภาคฟื้นก็ต้องดูแลเอสเอ็มอีภาคการค้าและบริการ 1.2 แสนธุรกิจ"

 

[caption id="attachment_298053" align="aligncenter" width="379"] สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สมประวิณ มันประเสริฐ
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา[/caption]

นายสมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า กำลังซื้อรายภาค ทั้งภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ยังประคองไปได้ แต่ภาคใต้ยังแย่ ขณะที่ รายได้ภาคเกษตรและราคาบางรายการอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น ช่วยหนุนกำลังซื้อ อุปสงค์ในประเทศมีสัญญาณเชิงบวก ช่วยสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจให้กระจายตัวมากขึ้น และภาครัฐเตรียมแผนเร่งเบิกจ่ายงบกลางปีเข้าสู่ชุมชนมากขึ้น คาดว่าจะช่วยหนุนการใช้จ่ายระดับเศรษฐกิจฐานราก

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แม้สัญญาณการฟื้นตัวภาพรวมของเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่คงใช้เวลาพอสมควรในการฟื้นกำลังซื้อเศรษฐกิจระดับฐานราก เพราะราคาสินค้าเกษตรและรายได้ที่ยังต่ำ ประกอบกับภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในคนกลุ่มนี้สูง

 

[caption id="attachment_298054" align="aligncenter" width="335"] ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ยรรยง ไทยเจริญ
รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ช่วงปี 2560 อีไอซีเริ่มเห็นสัญญาณการส่งผ่านผลประโยชน์ไปยังตลาดแรงงาน สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ลดลง ค่าจ้างนอกภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัว โดยค่าเฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นราว 4% โดยเฉพาะในสาขาที่มีการใช้แรงงานมาก เช่น ภาคอุตสาหกรรม ค้าส่งค้าปลีก และโรงแรม-ร้านอาหาร ที่เห็นค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงต้นปี ถือเป็นสัญญาณบวกที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงานรากหญ้า

ส่วนรายได้ภาคเกษตรเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่เดือน เม.ย. ถึง มิ.ย. ที่ผ่านมา จึงมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง รายได้ภาคเกษตรยังมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาที่มีแนวโน้มผ่านพ้นจุดต่ำสุดแล้ว จึงไม่น่าจะเป็นปัจจัยฉุดรั้งต่อรายได้เหมือนในช่วงที่ผ่านมา


mc0213-0008

ส่วนปัจจัยลบสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย หรือ กลุ่มรากหญ้า ยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นในช่วงปี 2560 ทำให้รายได้ที่เพิ่มขึ้นอาจต้องถูกแบ่งไปชำระหนี้ ส่งผลให้การใช้จ่ายจากกลุ่มรากหญ้าอาจต้องใช้เวลา ซึ่งตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนมีหนี้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 13% ขณะที่ รายได้ลดลงติดลบ 1% ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นถึง 12%

จากแนวโน้มดังกล่าว อีไอซี มองว่า ภาครัฐควรสนับสนุนภาคเกษตรผ่านกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต การเพิ่มมูลค่าเพิ่ม และการช่วยบริหารความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร เช่น การสนับสนุนทั้งด้านความรู้ และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำ การพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรโดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ เพื่อที่เกษตรกรจะได้จัดการความเสี่ยงด้านการเพาะปลูกได้ดีขึ้นในต้นทุนที่เหมาะสม แต่ควรระมัดระวังการประกันด้านราคาโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดการบิดเบือน


TP8-3350-A

ขณะที่ ความท้าทายในระยะต่อไปที่สำคัญ คือ การแข่งขันทางธุรกิจในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่ ทั้งจากในและต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในลักษณะที่ผู้ชนะจากการแข่งขันจะเป็นผู้กินรวบส่วนแบ่งทางการตลาดส่วนใหญ่ ทำให้ภาคส่วนที่ไม่สามารถปรับตัวได้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความยากลำบากได้ ดังนั้น ในยุคนี้ธุรกิจจะอยู่รอดได้คงอาศัยเพียงสภาวะเศรษฐกิจอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ควรให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่มีอยู่ในการแข่งขัน


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
SMEs TALKS | 'ธุรกิจ' ที่ต้องคิดตลอด
อุตฯผนึกสสว.ลุยยกระดับจัดSMEsสัญจรเสริมแกร่ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว