SMEs TALKS | 'ธุรกิจ' ที่ต้องคิดตลอด

14 ก.ค. 2561 | 11:09 น.
140761-1758 Screen Shot 2561-07-14 at 17.59.53

โอกาสทางธุรกิจมีมาใหม่เสมอ สำหรับผู้ที่มองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ผมได้มีโอกาสล่องใต้ไปสงขลา และมีคนแนะนำให้ไปเยือนข้าวต้มเนินขุมทอง ที่คนสงขลารู้จักกันดีว่า รสชาติเป็นเอกลักษณ์ พอได้คุยกับ 'พี่จิ๋ม' หรือ กุลพร บุญสุวรรณ ผู้ผันตัวเองจากอาจารย์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้สร้างข้าวต้มมัดของเนินขุมทองให้โด่งดัง เริ่มจากการรับมรดกข้าวต้มมัดนี้มาจากบรรพบุรุษ นำมาวางขายเป็นของฝากที่ร้านอาหารของน้องสาว แต่ปัญหาใหญ่ คือ อายุของข้าวต้มมัดจะสั้นมาก ทำให้การบริการสต๊อกเป็นไปลำบาก เพราะบางทีลูกค้าต้องการจำนวนมากและจำนวนไม่แน่นอน ทำให้ขาดโอกาสในการขาย เลยคิดหาวิธีการเก็บสต๊อกแบบง่าย ๆ โดยการแช่แข็ง แต่การแช่แข็งก็พยายามทดลองว่า ข้าวประเภทไหนที่เหมาะสำหรับทำข้าวต้มมัดแช่แข็ง แม้จะเริ่มจัดการได้ดีขึ้น แต่ก็ยังเจอปัญหาด้านลูกค้าอีก เพราะลูกค้าซื้อไปแล้วเก็บลำบากเวลาเดินทาง ก็เลขเข้าไปหารือกับงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลาฯ เพื่อหาทางให้อายุของข้าวต้มมัดเก็บได้นานขึ้น และลูกค้าพกพาสะดวก ก็เลยออกมาเป็นแบบ 'รีทอร์ต' โดยการอบฆ่าเชื้อ ทำให้จัดเก็บได้นานขึ้นในอุณหภูมิปกติ

วันนั้นที่ผมไปเยี่ยม พี่จิ๋มเอาข้าวต้มมัดแบบรีทอร์ตที่บรรจุสูญญากาศในถุงพลาสติกใสมาให้ผมดู และบอกว่า คนอาจสงสัยว่า ลูกคา้ไม่น่าจะคุ้นเคยกับข้าวต้มมัดในบรรจุภัณฑ์แบบนี้ ซึ่งแกเล่าว่า เริ่มทดลองทำรีทอร์ตแบบห่อด้วยใบตองก่อน ซึ่งได้ผลดี แต่จากการสอบถามลูกค้า ก็แปลกเมื่อพบว่า มีจำนวนมาก โดยเฉพาะนักเดินทางที่ชอบทานข้าวต้มมัด แต่ไม่ชอบแกะใบตอง เพราะยุ่งยากและกลายเป็นขยะจำนวนมาก พี่จิ๋มเลยทดลองออกมาเป็นข้าวต้มมัดแบบบรรจุในถุงพลาสติกสุญญากาศ ซึ่งผมก็แปลกใจ จนต้องถามย้ำ ซึ่งแกก็ยืนยันว่า เป็นแบบนั้นจริง ๆ และมียอดขายเข้ามาเยอะมาก ถ้าไม่ถามลูกค้าก็ไม่รู้และไม่เห็นโอกาสนี้ เพราะช่องว่างในความต้องการของลูกค้าที่แตกต่างกันยังมีอยู่มากในปัจจุบัน เพียงแต่ต้องค้นหาให้เจอ ซึ่งตอนนี้ต้องหาเครื่องจักรในการทำรีทอร์ต ผมแนะนำให้ไปใช้ที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 จ.สงขลา ที่มีเครื่องจักรนี้ให้บริการแก่วิสาหกิจ

 

[caption id="attachment_297977" align="aligncenter" width="503"] ©FB-เนินขุมทอง ©FB-เนินขุมทอง[/caption]

นอกจากนี้ พี่จิ๋มยังคิดต่อว่า ข้าวต้มมัดสามารถเป็นของคาวได้หรือไม่ พี่จิ๋มสังเกตจากตอนเกิดเหตุน้ำท่วมครั้งใดก็ตาม ก็จะมีการแจกข้าวห่อกัน และอายุของอาหารสดที่แจกจะสั้นมาก ก็เลยคิดข้าวต้มมัดไส้ 'คั่วกลิ้ง' ขึ้นมาก่อน เรียกว่า รสชาติเหมือนทานข้าวเหนียวกับคั่วกลิ้งประมาณนั้น แต่บรรจุในใบตองและมีอายุในการจัดเก็บยาว สะดวกในการแจกจ่าย ภายในเวลา 1 เดือน สามารถทานได้ปกติ แต่ถ้าเกิน 1 เดือน อาจต้องผ่านไมโครเวฟสักหน่อย เพราะข้าวเหนียวเริ่มเซตตัว ตอนแรก ๆ นั้น ก็ทำเพื่อช่วยคนที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ตอนนี้กลายมาเป็น 1 ในเมนูไส้ที่มีชื่อ ที่ลูกค้ามักถามหา ทำให้ผมนึกถึงตอนเด็ก ๆ ที่เอาข้าวเหนียวมาแบ ๆ และทาน้ำพริกตาแดงตรงกลาง แล้วเอาหมูทอดวาง แล้วห่อข้าวประกบกัน ... หิวเลย

วันนี้เลยเห็นไส้ข้าวต้มมัดของเนินขุมทองแห่งนี้ มีไส้นับไม่ถ้วน ทั้งคาวและหวาน แต่ที่ขึ้นชื่อต้องเป็นไส้กล้วยนางพญาที่เป็นของพื้นถิ่น กล้วยไม่อ่อนและเละ รสชาติหวานและไม่เปรี้ยว เหมาะกับข้าวต้มมัด ที่สำคัญข้าวเหนียวแน่นพอดี ไม่แฉะ และตอนนี้ข้าวต้มมัดแห่งนี้มีทั้งไส้แบบขนมเปี๊ยะ ถั่วกวนไข่เค็ม มะพร้าว ปลา และอีกสารพัด แต่ทุกอย่างผ่านจากระบวนการคิดที่รอบคอบ สอบถามลูกค้า และที่สำคัญ พี่จิ๋มบอกว่า ทำงานวิจัยเยอะมาก มีมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ที่กำลังดูเรื่องบรรจุภัณฑ์ให้ และเมื่อวางจำหน่ายสามารถยืดอายุและรสชาติคงเดิมมากที่สุด

 

[caption id="attachment_297978" align="aligncenter" width="374"] ©FB-เนินขุมทอง ©FB-เนินขุมทอง[/caption]

ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่รุ่นลูกของพี่จิ๋มทำออกมาเป็นของพื้นถิ่นที่คนภายใต้คุ้นเคย แต่ออกมาในรูปของที่ทันสมัยและตอบสนองวิถีการดำรงชีวิตในปัจจุบัน แต่ยังคงมีความเป็นพื้นถิ่นครบถ้วน เช่น ข้าวยำแท่ง ที่มีส่วนผสมที่คนในภาคใต้คุ้นเคย มีทั้งข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอร์รี่ แต่ต้องทำให้ข้าวเป็นข้าวเพาะงอกก่อน เพื่อให้มีโภชนาการสูงขึ้น โดยเฉพาะกาบา มีใบชะพลู ดอกดาหลา ใบมะกรูด ปลาคั่ว และอื่น ๆ เรียกว่า ครบเหมือนทานข้าวยำปักษ์ใต้แบบเป็นจาน ๆ แหละครับ แต่คราวนี้มาเป็นแท่ง ๆ บรรจุหีบห่อแบบช็อกโกแลตแท่ง เรียกว่า ทานข้าวยำแบบเก๋ ๆ ผลิตภัณฑ์นี้เป็นงานวิจัยใหม่สุดที่เพิ่งทำเสร็จ กำลังทดลองตลาด ในชื่อ 'ชาชิกาบู' และแน่นอนงานเหล่านี้ผ่านการทำงานด้านวิจัยมาพอสมควรกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่

ข้าวต้มมัด 'เนินขุมทอง' ที่อยู่ในมือพี่จิ๋ม วันนี้ไปไกลกว่าที่ใครคาดคิด จากข้าวต้มมัดรุ่นคุณยาย ผ่านมือจากรุ่นสู่รุ่น และพี่จิ๋มกำลังส่งต่อธุรกิจที่อาศัยความเป็นชุมชน วัตถุดิบในพื้นที่ และผลิตภัณฑ์ที่คนรุ่นใหม่อาจไม่เคยเห็น ส่งต่อให้รุ่นลูกสืบสานเจตนารมณ์นี้ และตลอดเวลาที่สืบทอดในธุรกิจของบรรพบุรุษมานั้น พี่จิ๋มแสดงให้เห็นว่า โอกาสทางการตลาดมีเสมอ เพียงแต่เราต้อง "สร้างขึ้นมา" ผ่านกระบวนการคิด สังเกต และที่สำคัญที่สุด คือ การวิจัย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ของวิทยาการใหม่ ๆ ที่ทันสมัย เพื่อรักษาผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นที่ผ่านกาลสมัยมาแต่โบราณให้ดำรงอยู่ต่อไป ในรูปลักษณ์ที่ทันสมัย

 

[caption id="attachment_297979" align="aligncenter" width="503"] ©FB-เนินขุมทอง ©FB-เนินขุมทอง[/caption]

พี่จิ๋มฝากถึงเพื่อนวิสาหกิจชุมชน ว่า เวลาเปลี่ยน ทุกอย่างเปลี่ยน ทั้งรูปแบบการค้า คู่แข่ง และลูกค้า ซึ่งทำให้เราต้องเปลี่ยน เพื่อดำรงอยู่ และแน่นอนไม่มีอะไรง่าย แต่ก็ไม่ยากเลย เพียงแต่ต้องเริ่มลงมือทำ และงานวิจัยเป็นสิ่งสำคัญ และช่องทางของความช่วยเหลือมากมายที่เราอาจต้องเดินเข้าหา


……………….
คอลัมน์ : SMEs TALKS โดย ดร.สมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 13

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
40 ปีสยามคูโบต้ารุกประกาศแผนธุรกิจตอกย้ำผู้นำ “นวัตกรรมเกษตรเพื่ออนาคต”
เศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูง! 'สหรัฐฯ' ฟัดจีน ธุรกิจต้นทุนพุ่ง


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว