หวั่น ก.ม.คุมดิจิตอล ฉุดภาวะตลาดซบเซา - ซื้อขายเหลือวันละ 40 ล้าน

16 ก.ค. 2561 | 06:13 น.
ผู้ประกอบการวิพากษ์ "กฎหมายคุมธุรกิจดิจิตอล" แนะต้องมองหลากมิติอย่างบูรณาการ ชี้! เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุน-ผู้ออกไอซีโอออกไปต่างประเทศ หากมีต้นทุนถูกกว่า เผย มูลค่าซื้อ-ขายตลาดคริปโตฯ ลดลง 3 เท่าตัว เหลือวันละ 40-50 ล้านบาท

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอลภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 แล้ว มีผลใช้บังคับในวันที่ 16 ก.ค. 2561

ประกอบด้วยประกาศเรื่องศูนย์กลางซื้อขาย การเป็นนายหน้า การเป็นผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิตอล การออกไอซีโอ ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิตอล หรือ ICO Portal รวมถึงการกำหนดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ

นายธรรม์ธีร์ สุกโชติรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจไอบีอีเอ็กซ์ จำกัด (JIBEX) ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ต้องรอดูในแง่ปฏิบัติให้ชัดเจนก่อนว่า การใช้กฎหมายจะมีผลอย่างไร ดูแล้วมีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เมื่อเทียบกับต่างประเทศอย่างไร

ในเรื่องการออกไอซีโอ ที่มีความเห็นว่า เมื่อมีกฎระเบียบออกมาแล้ว จะทำให้ผู้ออกไอซีโอไปทำในต่างประเทศ นายธรรม์ธีร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน การออกไอซีโอสามารถทำได้โดยไร้พรมแดนอยู่แล้ว หากมีประเด็นเรื่องภาษี หรือ การกำกับดูแลที่เข้มงวดเกินไป บริษัทหลาย ๆ แห่ง ก็จะออกไปทำในต่างประเทศ ตนไม่ได้เป็นห่วงผู้ออกไอซีโอ เพราะไอซีโอที่ดีต้องสามารถระดมทุนได้จากทั่วโลกอยู่แล้ว แต่ในแง่ของประเทศ เม็ดเงินก็จะไม่เข้ามาในประเทศไทย


mp17-3383-a


อีกประเด็นหนึ่ง คือ นักลงทุนรายย่อยในไทยก็อาจจะขาดโอกาสในการลงทุน เพราะไม่สามารถไปทำธุรกรรมในต่างประเทศได้ เนื่องจากศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศมีเงื่อนไขในการเปิดบัญชีซื้อขายที่แตกต่างกัน บางตลาดก็ต้องมีพาสปอร์ตของประเทศนั้น ๆ จึงเปิดบัญชีได้ เป็นต้น

สำหรับต้นทุนของการออกไอซีโอในไทย ก็จะมีต้นทุนที่ต้องทำให้มีคุณสมบัติครบถ้วน ถูกต้องตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแล ต้องมีการทำบัญชีที่มีมาตรฐาน มีต้นทุนทางภาษีต่าง ๆ นายธรรม์ธีร์ ให้ความเห็นว่า การออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลต้องดูในภาพรวมแบบบูรณาการ ดูในหลาย ๆ มิติ ต้องดูว่าอะไรที่เป็นจุดสมดุลและเกิดประโยชน์มากที่สุด ต้องดูว่า จุดประสงค์ในการออกกฎเกณฑ์ต้องการทำเพื่ออะไรและบรรลุวัตถุประสงค์นั้นหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าในที่สุดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม เพื่อให้บังคับใช้ได้จริง

"หากออกกฎเกณฑ์มา แต่บริษัทหรือนักลงทุนออกไปต่างประเทศกันหมด รัฐบาลก็จะไม่สามารถมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีตามที่กำหนดไว้ สุดท้ายแล้วจะไม่มีใครได้ประโยชน์จากการออกกฎเกณฑ์การกำกับดูแล"

ในส่วนของนักลงทุน แม้มีประเด็นว่า นักลงทุนที่เคยซื้อขายในไทย อาจโยกย้ายไปเล่นในกระดานของต่างประเทศ นายธรรม์ธีร์ ให้ความเห็นว่า นักลงทุนจะพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัย ประการแรกนักลงทุนจะพิจารณาจากความเสี่ยงของศูนย์ซื้อขาย ว่า มีความมั่นคงปลอดภัย น่าเชื่อถือ หรือ ไม่เป็นประการสำคัญ นอกจากนี้ นักลงทุนจะพิจารณาถึงต้นทุนการลงทุน ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาจจะมีต้นทุนอัตราแลกเปลี่ยน ต้นทุนทางภาษี ที่แต่ละประเทศมีแตกต่างกัน

"ในสหรัฐฯ เขาจะคำนวณภาษีกำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) แต่ถ้าหากลงทุนแล้วขาดทุน เกิด Capital Loss ก็สามารถนำมาหักได้ แต่ของไทยจะมอง Capital Gain เป็นรายได้ต้องนำมารวมคำนวณภาษี ซึ่งโครงสร้างภาษีเราแตกต่างกัน"

ภาวะตลาดคริปโตเคอร์เรนซีในปัจจุบันนี้ ถือว่าอยู่ในช่วงปรับฐาน หลังจากเกิดฟองสบู่ในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งการปรับฐานนี้เกิดขึ้นกับทุก ๆ สินทรัพย์การลงทุน ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นยุคที่รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศมีการเคลื่อนไหว มีการออกกฎเกณฑ์มากำกับดูแล ในประเทศไทยก็มีการออกกฎเกณฑ์มากำกับดูแล มีการพูดถึงประเด็นเรื่องภาษี ทำให้นักลงทุนต้องทบทวนถึงต้นทุนที่เกิดขึ้น

นายธรรม์ธีร์ กล่าวว่า ปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายของตลาดคริปโตฯ ในไทย ได้ลดลงมาถึง 3 เท่า จากในช่วงปลายปีที่ผ่านมา มีการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 40-50 ล้านบาท สาเหตุที่มูลค่าการซื้อขายลดลงมาจากตลาดทั่วโลกที่ซบเซาลง อย่างไรก็ตาม ตนมองว่า แนวโน้มในอนาคตตลาดคริปโตเคอร์เรนซียังเติบโตได้ เนื่องจากว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีความคล่องตัวสูงในการซื้อขายเปลี่ยนมือ สามารถแตกเป็นหน่วยย่อย ๆ ได้ ซึ่งถือว่ามีความคล่องตัวมากกว่าหุ้น


……………….
เซกชัน : ตลาดทุน โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561 หน้า 17-18

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
● ที่นี่ไม่มีความลับ : เงินทอนวัด-โกงเงินดิจิตอล-ตบทรัพย์โรงไฟฟ้า ภารกิจด่วน ปปง. ใหม่
● ที่นี่ไม่มีความลับ | ฉ้อฉล-ฟอกเงิน? ช่องทางเงินดิจิตอล พัน 3 นักการเมือง


e-book-1-503x62