ไทย-อินโดฯฉีกสัญญาร่วมส่งออกยางเกินโควตา-เพิ่มใช้ในประเทศยังวุ่น

19 ก.ค. 2561 | 06:27 น.
ไทย-อินโดฯฉีกสัญญาร่วมส่งออกยางเกินโควตา-เพิ่มใช้ในประเทศยังวุ่น

ตรวจการบ้านจำกัดส่งออกยาง 3 ประเทศดันราคา 60 บาทยังแป้ก ระบุ“ไทย-อินโดฯ” ไม่ปฏิบัติตามสัญญา ส่งเกินรวม 1.8 แสนตัน ขณะเพิ่มใช้ยางในประเทศยังวุ่น  8 หน่วยรัฐซื้อจากโรงงานเอกชนโดยตรง กระทบ กยท. ยางค้างสต๊อก 1.7 พันตัน รอบอร์ดไฟเขียวเซ็นขาย

ความร่วมมือลดการส่งออกยางพารา 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย และมาเลเซียในนามสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) ปริมาณ  3.5 แสนตัน (ระหว่าง ม.ค.-มี.ค.61) ควบกับโครงการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดันราคายางสู่เป้าหมายที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) แต่เวลานี้ยังทำไม่สำเร็จ

แหล่งข่าวจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงผลการดำเนินงานมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพาราข้างต้นถือเป็นครั้งที่ 5 ภายใต้ข้อตกลงของ  ITRC ปริมาณ  3.5 แสนตัน แบ่งเป็นไทยต้องลดการส่งออก 2.3 แสนตัน อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย 2 หมื่นตัน ปรากฏสิ้นสุดมาตรการ ไทยส่งออกเกินโควตา 1.75 แสนตัน อินโดนีเซียเกินโควตา 1.52 หมื่นตัน ส่วนมาเลเซียลดการส่งออกได้ตามสัญญาโดยส่งออกตํ่ากว่าโควตาที่ได้รับ (ดูกราฟิกประกอบ) TP8-3383-A

“สาเหตุที่มาตรการไม่ได้ผลเพราะเป็นเพียงการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนในการลดการส่งออก  ไม่ได้เกิดขึ้นจากรัฐบาลกับรัฐบาล ผู้ส่งออกเองก็อ้างว่ามีคำสั่งซื้อเข้ามา ในช่วงนั้นก็มีความวุ่นวายเกิดขึ้นจากที่มีเอกชนไปฟ้องศาลให้คุ้มครองชั่วคราวให้สามารถส่งออกยางได้ตามคำสั่งซื้อที่มีอยู่ บางรายก็มีการซื้อขายโควตากัน ทำให้การจำกัดการส่งออกไม่ได้ผลจริง”

อีกด้านหนึ่งจากรัฐบาลมีโครงการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อดันราคายางให้สูงขึ้นนั้น มีรายงานผลการดำเนินงานความต้องการใช้ยางพารา  ณ วันที่ 22 มิถุนายน 2561 มีหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 8 กระทรวง ที่แจ้งความประสงค์การใช้ยาง (คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ กลาโหม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย ท่องเที่ยว ศึกษาธิการ และยุติธรรม) แบ่งเป็น 1. ปริมาณการใช้ยางที่ดำเนินการไปแล้วในงบประมาณปี 2561 (ที่ไม่ได้ซื้อยางจาก กยท.) แบ่งเป็น นํ้ายางข้น จำนวน 1.05 หมื่นตันและเนื้อยางแห้ง จำนวน 786 ตัน รวมทั้งสิ้น 1.13 หมื่นตัน

2. ปริมาณการใช้ยางที่ได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2561  (ซื้อยาง จาก กยท.) มี 4 กระทรวง คือ กระทรวงคมนาคม ได้แก่ กรมทางหลวง, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ กรมชลประทาน, กระทรวงกลาโหม ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก และกระทรวงมหาดไทย ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นนํ้ายางข้นรวม 4.11 หมื่นตัน  ปริมาณการใช้ยางที่อยู่ระหว่างของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2561 (ซื้อยางจาก กยท.) 3 กระทรวง ได้แก่ คมนาคม กลาโหม และยุติธรรม เป็นนํ้ายางข้น 1.98 หมื่นตันและยางแห้ง 363 ตัน รวมทั้งสิ้น 1.98 หมื่นตัน ยาง2

“ผลการใช้จ่ายค่าการดำเนินงาน แบ่งเป็นค่ารับซื้อยางกว่า 63 ล้านบาท ค่าแปรรูป 8.4 ล้านบาท (กก.ละ 4.50 บาท) ค่าใช้จ่ายในการขนส่ง 0.060 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน 71.9 ล้านบาท ผลการแปรรูปเป็นนํ้ายางข้น จำนวนกว่า 1,880.9 ตัน ผลการจำหน่ายยาง 110.01 ตัน ได้รับเงิน 4.32 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 3 บริษัท ได้แก่   1. บริษัทโซล่าแอสฟัลท์ จำกัด จำนวน 49.97 ตัน 2. บริษัท ไทยบิทูเมน จำกัด จำนวน 30.04 ตัน และบริษัท กิจทวีการโยธา จำกัด จำนวน 30 ตัน”

ปัจจุบันมีนํ้ายางข้นค้างสต๊อกจำนวน 1,720.8 ตัน ซึ่งต้องเร่งระบายเนื่องจากเกินระยะเวลาจัดเก็บตามสัญญา ฝ่ายผู้รับผิดชอบเห็นว่ายางจำนวนดังกล่าวควรจะขายออกไปก่อน แต่นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการ กยท.ไม่ยอมเซ็นขายยางจำนวนนี้ เพราะขายก็ขาดทุนเนื่องจากราคารับซื้อมาสูง รับซื้อมาในช่วงอดีตผู้ว่าการกยท.คนก่อน และเกรงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบความไม่โปร่งใส ดังนั้นต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กยท.กลางเดือนกรกฎาคมนี้จะมีมติให้รักษาการผู้ว่าการ กยท.ขายยางได้หรือไม่

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,383 วันที่ 15-18 กรกฎาคม 2561

e-book-1-503x62