17 ทุนนอกจับขั้วลุยไฮสปีด วางหลักประกัน 2 พันล้านยื่นซอง 12 พ.ย.

13 ก.ค. 2561 | 05:04 น.
263665 ปิดฉากการประกาศขายซองเอกสารประกวดราคาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภาไปเรียบร้อยแล้ว โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยรายชื่อบริษัทพบว่ามีจำนวนมากถึง 31 ราย (ตามภาพประกอบ)
TP12-3382-A ปรากฏการณ์สำคัญของวงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงของไทยในครั้งนี้ร.ฟ.ท.ได้มีการเปิดขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา นับตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน เป็นต้นมาจนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการขายเอกสาร รวมระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยพบว่ามีเอกชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก เข้าซื้อเอกสารการคัดเลือกเอกชนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในครั้งนี้

มีลุ้นยื่นข้อเสนอ12 พ.ย.นี้

สำหรับกระบวนการภายหลังจากการขายเอกสารเสร็จสิ้นแล้วนั้นนายวรวุฒิ มาลา ในฐานะรักษาการผู้ว่าการร.ฟ.ท.ยืนยันว่าจะจัดให้มีการประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจจำนวน 2 ครั้งในวันที่ 23 กรกฎาคม 2561  ณ สโมสรรถไฟชั้น 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ หลังจากนั้นจะนำผู้ยื่นข้อเสนอไปดูสถานที่ก่อสร้างของโครงการ (Site Visit) ในวันอังคารที่ 24 กรกฎาคม 2561 และวันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม 2561 โดยเข้าดูพื้นที่ของโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน สถานีสุวรรณภูมิ และสถานีรายทาง, โครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต สถานีกลางบางซื่อ โครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และเขตทางรถไฟปัจจุบันตลอดแนวเส้นทางโครงการจากสถานีดอนเมืองไปตามเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านสถานีมักกะสัน สถานีฉะเชิงเทรา สถานีพัทยา และสิ้นสุดที่บริเวณสถานีบ้านฉาง
HighSpeedRail_Info-1 โดยร.ฟ.ท.จะเปิดให้มีการส่งข้อสังเกต ข้อเสนอแนะ หรือคำถามเกี่ยวกับเอกสารการคัดเลือกเอกชน และให้มีการตรวจสอบข้อมูลหรือรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม-9 ตุลาคม 2561 ณ ห้องประชุมฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟฯ ในเวลาราชการ

สำหรับกำหนดการรับซองข้อเสนอ จะมีขึ้นในวันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เวลา  09.00-15.00 น. โดยผู้ยื่นข้อเสนอต้องยื่นหลักประกันซองพร้อมกับซองข้อเสนอมูลค่า 2,000 ล้านบาท และต้องชำระค่าธรรมเนียมการประเมินข้อเสนอให้แก่ ร.ฟ.ท. เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาท ที่สำนักงานโครงการแอร์พอร์ต เรลลิงค์ มักกะสัน และผู้ที่ยื่นเสนอผ่านการประเมินข้อเสนอจะต้องวางหลักประกันสัญญาที่ออกโดยธนาคารให้กับร.ฟ.ท.ในวันที่เข้าทำสัญญาร่วมทุนเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาร่วมลงทุนของเอกชนคู่สัญญา

TP12-3341-1B จับตาทุนใหญ่จากฝรั่งเศส

ทั้งนี้ผศ.ดร.รัฐภูมิ ปริชาตปรีชา ผู้อำนวยการสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร และในฐานะประธานคณะกรรมการวิศวกรรมระบบราง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) วิเคราะห์ทั้ง 31 รายอย่างน่าสนใจว่า พลิกโฉมอีกหนึ่งปรากฏการณ์รถไฟความเร็วสูงของไทย แต่จะให้ความสำคัญกับประเทศที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีก่อน โดย 4 กลุ่มใหญ่ที่คาดการณ์ไว้มากันครบ คือกลุ่มซีพี กลุ่มบีทีเอส-ปตท. กลุ่มเบียร์ช้าง และกลุ่มช.การช่าง-BEM แต่น่าจับตากลุ่ม SNCF INTERNATIONAL ของฝรั่งเศสว่าจะจับกับทุนใหญ่รายใดของไทย เช่นเดียวกับรายต่างๆจากจีนว่าจะแยกจับขั้วกับกลุ่มใดบ้าง

ส่วนระบบอาณัติสัญญาณที่จะนำมาใช้จะเป็น ETCS Level 2 ขึ้นไป ซึ่งทุกบริษัทสามารถพัฒนาตามแบบฉบับของตนเองได้ตามมาตรฐาน ส่วนของฝ่ายจีนจะใช้ระบบ CTCS ไปให้บริการ ฝ่ายญี่ปุ่นจะมีระบบมาตรฐานซินเคนเซนตามโปรดักต์ ยกเว้นมาเลเซียที่ยังไม่มีเทคโนโลยีของตนเองจึงจะเกาะกลุ่มที่ 4 หรือกลุ่มที่ 5 เข้ามาร่วมแข่งขันในครั้งนี้

| รายงาน : 17 ทุนนอกจับขั้วลุยไฮสปีด วางหลักประกัน 2 พันล้านยื่นซอง 12 พ.ย.
| เชกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12  ฉบับ 3382 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.2561
e-book-1-503x62