"บอร์ดดีอี" ไฟเขียว! เสนอ ครม. พิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้ง 'สภาดิจิทัลฯ'

12 ก.ค. 2561 | 11:10 น.
รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ เผย มติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 3/2561 เห็นชอบในหลักการและสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... มอบ สดช. เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา พร้อมให้กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามแผนงานเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนากำลังคนภาครัฐให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัลตามยุทธศาสตร์ที่ 5 และยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี


S__58007567[13171]

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2561 โดยมี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาและเห็นชอบเรื่องสำคัญ ๆ อาทิ เห็นชอบในหลักการและสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย พ.ศ. .... พร้อมมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ สดช. และสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทย (TFIT) ได้ร่วมผลักดันการจัดตั้งสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย โดยการร่าง พ.ร.บ.สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญแบ่งออกเป็น 7 หมวด ได้แก่ หมวด 1 ให้กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการจัดตั้งสภาดิจิทัลฯ โดยให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจหน้าที่เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาดิจิทัลฯ , หมวด 2 สมาชิกของสภาดิจิทัลฯ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ สมาชิกสามัญ สมาชิกวิสามัญ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ , หมวด 3 คณะกรรมการบริหารมีอำนาจหน้าที่วางนโยบายและดำเนินกิจการของสภาดิจิทัลฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสภาดิจิทัลฯ , หมวด 4 สำนักงานสภาดิจิทัลฯ มีผู้อำนวยการเป็นหัวหน้าสำนักงานโดยตำแหน่ง ทำหน้าที่บริหารกำกับดูแลการดำเนินงานประจำของสำนักงานให้เป็นไปตามนโยบายคณะกรรมการ , หมวด 5 ให้คณะกรรมการบริหารของสภาดิจิทัลฯ จัดทำรายงานประจำปีแสดงผลงานคณะกรรมการบริหาร , หมวด 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กำกับดูแลการทำงานของสภาดิจิทัลฯ ได้ตามขอบเขตที่ พ.ร.บ.สภาดิจิทัลฯ กำหนด และหมวด 7 ผู้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของสภาดิจิทัลฯ ต้องระวางโทษปรับ

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบหลักการของแนวทางการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G รวมทั้งการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม (Infrastructure Sharing) เพื่อเร่งรัดการพัฒนา 5G ตลอดจนเพิ่มการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการและเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น รวมทั้งหลักการของการทดสอบภาคสนามในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นการทดสอบที่รองรับการร่วมใช้โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งเปิดรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่หลากหลาย ซึ่งจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อพื้นที่ต่อเนื่องและในวงกว้างของประเทศต่อไป โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานเตรียมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเพื่อขับเคลื่อน 5G เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุน โดยพิจารณานโยบายที่ให้เกิดการร่วมใช้ทรัพยากรเพื่อรองรับความจำเป็นในการติดตั้งเสาส่งจำนวนมาก และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมฯ ได้มีข้อเสนอว่า ควรมีการศึกษาผลกระทบเรื่องของคลื่นความถี่ให้มีความชัดเจน รวมถึงด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินการ โดยหลังจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ พร้อมด้วยสำนักงาน กสทช. จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งอาจมีการตั้งคณะทำงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ

อีกทั้งได้เห็นชอบในหลักการให้นำมาตรการสร้างและพัฒนากำลังคนภาครัฐเชิงกลยุทธ์ เพื่อการไปสู่ Digital Thailand ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาใช้สนับสนุนการพัฒนากำลังคนภาครัฐ ให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ตามยุทธศาสตร์ที่ 5 และยุทธศาสตร์ที่ 4 ของแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ตามลำดับ และเห็นควรให้สำนักงาน ก.พ. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ใช้เป็นการกรอบการดำเนินงานต่อไป

สำหรับเรื่องสำคัญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายหลังกระทรวงคมนาคมได้เสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติดำเนินโครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคมของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยเสนอขอวางโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงตลอดเส้นทางรถไฟ เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านของระบบควบคุมรถไฟจากอนาล็อกมาเป็นดิจิทัล และจากการประชุมบอร์ดดีอี ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2561 มีมติเห็นควรให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีระบบโครงข่ายใยแก้วนำแสงของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อการควบคุมการเดินรถไฟด้วยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ให้มีการจัดทำแผนบูรณาการในการจัดหาให้มีโครงข่ายใยแก้วนำแสง เพื่อระบบควบคุมการเดินรถไฟให้มีความเพียงพอ ไม่ซ้ำซ้อน และเกิดการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในระยะยาวควรมีการศึกษาความต้องการใช้งานของทุกหน่วยงานด้วย โดยเห็นควรให้กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมกับกระทรวงคมนาคม ดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการดังกล่าวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศต่อไป

นอกจากนั้น ที่ประชุมยังได้รับทราบรายงานผลการดำเนินงานคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ครั้งที่ 2 (ระหว่างวันที่ 16 พ.ค. – 29 มิ.ย. 2561) ซึ่งได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการออกแบบสถาปัตยกรรม (Architecture Design) ระบบบูรณาการข้อมูลภาครัฐ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ และคณะอนุกรรมการด้านการพัฒนาบุคลากรเพื่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) อย่างต่อเนื่องด้วย


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว