“ไวโป้” เผยอันดับนวัตกรรมโลก ไทยทะยานขึ้น 7 อันดับ จาก 51 เป็น 44 ของโลก

12 ก.ค. 2561 | 11:22 น.
- 12 ก.ค. 61 - ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติ ได้ประกาศผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดความสามารถทางนวัตกรรม Global Innovation Index (GII) ประจำปี 2561 โดยในปีนี้ประเทศไทยไทยได้รับการจัดอันดับที่ 44 ของโลก จากทั้งหมด 126 ประเทศ ขยับอันดับดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปีที่แล้ว 7 อันดับจาก อันดับที่ 51 อันดับ และยังเป็นการเลื่อนอันดับดีขึ้นต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 4 นับจากปี 2558–2561 และอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางที่มีการพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมที่ดีที่สุด รองจาก จีน มาเลเซีย บัลแกเรีย และโครเอเชีย 8303

ทั้งนี้สำหรับอันดับนวัตกรรมโลกในกลุ่มประเทศอาเซียน ประเทศสิงคโปร์อยู่อันดับที่ 5 ของโลกถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ขณะที่ประเทศมาเลเซียซึ่งถือเป็นประเทศในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 ของโลกประเทศเวียดนามปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอันดับที่ 47 ในปี 2017 เป็นอันดับที่ 45 ในปีนี้ และมีประสิทธิภาพของการพัฒนานวัตกรรมที่ดีขึ้นอย่างด้าวกระโดดเช่นเดียวกับไทย โดยอันดับที่ดีขึ้นของประเทศไทยนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการผลักดันประเทศด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งถือเป็นกลไกเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งในขณะนี้ 8305

อย่างไรก็ตามจากการจัดอันดับนั้นมีดัชนีชี้วัดความสามารถทางนวัตกรรมประกอบด้วยกลุ่มปัจจัยการวัดจำนวน 2 ด้าน คือ ดัชนีย่อยปัจจัยเข้าทางนวัตกรรม (Innovation input sub-index) และ ดัชนีย่อยผลผลิตทางนวัตกรรม (Innovation output sub-index) ซึ่งครอบคลุมศักยภาพ 7 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ 1.ด้านสถาบัน 2.ด้านทุนมนุษย์และการวิจัย 3.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 4.ด้านระบบตลาด 5.ด้านระบบธุรกิจ 6.ผลผลิตจากองค์ความรู้และเทคโนโลยี และ 7.ผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจากคะแนนตัวชี้วัดศักยภาพทางด้านนวัตกรรมของประเทศไทยปีนี้มีคะแนนสูงขึ้น โดยเฉพาะจากศักยภาพด้านระบบตลาด ที่มีความโดดเด่นเรื่องระบบการเงินเพื่อการขับเคลื่อนนวัตกรรม และการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน 8304

นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งด้านระบบธุรกิจในเรื่องของการทำ R&D มีแหล่งเงินจากธุรกิจสินค้าไฮเทค รวมถึงมีความชัดเจนในการแสดงผลงานด้านความรู้และเทคโนโลยี และการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ตลอดจนมีคะแนนนำในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญาและการจดสิทธิบัตรที่เกี่ยวเนื่องกับการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ การเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงกิจกรรมและการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา ที่หลายสถาบันได้มุ่งเน้นหลักสูตรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น และถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่ เป็น “Innovation Fast Move”

ดร. พันธุ์อาจ กล่าวว่า ที่ผ่านมา NIA ได้มีโอกาสหารือกับ WIPO ในเบื้องต้นเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงดัชนีนวัตกรรมของประเทศให้สูงขึ้น จึงเตรียมร่วมกับ WIPO กำหนดจัดกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อสร้างความเข้าใจ การแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกรอบแนวคิดดัชนีนวัตกรรมโลกแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนในงาน Thailand Innovation Week 2018 ในเดือนตุลาคม 2561 โดยหวังว่ากิจกรรมนี้ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้อันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศขยับตัวสูงขึ้น และค่อยๆก้าวจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูงต่อไป 8306 8307 8308 8309 8310 8311