ตลาดบอนด์ไทยแข็งแกร่งผลตอบแทนขาขึ้นทั้งปีออกตราสารหนี้8แสนล้าน

18 ก.ค. 2561 | 04:28 น.
ThaiBMA ชี้ผลตอบแทนพันธบัตรไทยยังเป็นทิศทางขาขึ้น เหตุกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.5% ถึงปลายปี จากเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว คาดทั้งปี การออกตราสารหนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมาย 7-8 แสนล้านบาท

สมาคมตราสารหนี้ไทย หรือ ThaiBMA สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยในครึ่งปีแรกของปี 61 พบว่า มีมูลค่าคงค้างรวม 12.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 11.56 ล้านล้านบาท โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 8.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 5% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการซื้อขายพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดตราสารหนี้ในครึ่งปีหลัง ในแง่อัตราผลตอบแทนระยะสั้น (Yield curve) ของตลาดตราสารหนี้ คาดว่า อัตราดอกเบี้ยระยะสั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะไม่เปลี่ยนแปลง โดยยังคงยืนที่ระดับ 1.5% เนื่องจากหนี้ต่างประเทศระยะสั้นยังอยู่ในระดับตํ่า ทุนสำรองทางการระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงและยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่จะสนับสนุนให้กนง.ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เชื่อว่าจะปรับขึ้นได้บ้าง แต่จะไม่ปรับขึ้นอย่างเป็นนัยสำคัญ อาจจะมีการแกว่งตัวผันผวนระหว่างทางได้จากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องสงครามการค้า Print

แนวโน้มการออกตราสารหนี้ครึ่งปีหลัง เชื่อว่า ยังมีการออกตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 4 แสนล้านบาทขึ้นไป และจะทำให้ยอดการออกตราสารหนี้ทั้งปีขึ้นไป 7-8 แสนล้านบาท เพราะส่วนหนึ่งมาจากการยืดอายุหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอายุในครึ่งปีหลังประมาณ 2.24 แสนล้านบาท นอกจากนั้นก็อาจจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของการครอบงำ(เทกโอเวอร์) กิจการต่างๆ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับตํ่า จึงน่าจะเอื้อให้บริษัทขนาดใหญ่ ไปซื้อกิจการในต่างประเทศและมารีไฟแนนซ์เป็นหุ้นกู้ในประเทศแทน โดยปีที่ผ่านมามีการออกหุ้นกู้ทุบสถิติสูงถึง 8.3 แสนล้านบาท และ 6 เดือนแรกปีนี้ออกไปแล้ว 4.3 แสนล้านบาท ใกล้เคียงกับครึ่งปีก่อน ดังนั้นครึ่งปีหลังก็น่าจะใกล้เคียงกัน

สำหรับมูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้เฉลี่ย 8-9 หมื่นล้านบาทต่อวัน หลักๆ มาจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ ขณะที่มูลค่าการซื้อขายของต่างชาติจะเฉลี่ยที่ 1-2 หมื่นล้านบาท  ไม่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นนัยสำคัญหลังเกิดความกังวลจากนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา  ส่วนเงินทุนต่างชาติที่ไหลออกจากตราสารหนี้นั้น จะเห็นว่า เป็นการไหลออกจากตราสารหนี้ระยะสั้น ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท แต่ก็เป็นการไหลเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ประมาณ 8 หมื่นกว่าล้านบาท ทำให้รวมยอดเบ็ดเสร็จแล้ว นักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิในตราสารหนี้ไทย 4.3 พันล้านบาท

“เงินลงทุนต่างชาติที่ไหลออก ไม่ได้เกิดจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) หรือความกังวลในเรื่องสงครามการค้า แต่เกิดจากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้น ดังนั้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นทั่วโลก จึงอ่อนค่าลง รวมถึงเงินบาทของไทยด้วย ดังนั้นเมื่อเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้เงินไหลออกในตราสารหนี้ระยะสั้น เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นไม่คุ้มค่า จึงตัดส่วนที่ขาดทุนออกไปด้วยการขายพันธบัตรระยะสั้น”

              หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,383 วันที่ 15-18 ก.ค. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว