อาเซียนพลัส | จีนคุกคามการค้าสหรัฐฯ?

12 ก.ค. 2561 | 07:18 น.
120761-1358

จีนและสหรัฐฯ กำลังทำสงครามการค้าระหว่างกัน โดยผ่านการขึ้นภาษีนำเข้าของประเทศตนเอง สาเหตุหลักมาจาก 2 ประเด็น คือ การขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศจีน ที่มีมูลค่ามากถึง 3.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ในปี 2560, US Census Bureau) ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งเป็นการขาดดุลการค้ากับประเทศจีน และประเด็นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) และเทคโนโลยีของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ

ประเด็นการขาดดุลการค้ากับจีน ผมได้พูดไปมากแล้ว บทความนี้ผมจึงขอเน้นการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และเทคโนโลยีของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ (ที่สหรัฐฯ กล่าวอ้าง) เพราะทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ได้ออกรายงานเมื่อเดือน มิ.ย. 2561 เรื่อง "How China’s Economic Aggression Threatens the Technologies and Intellectual Property of the United States and the World" ว่า จีนเป็นผู้รุกรานทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผ่านทางทรัพย์สินทางปัญญา เทคโนโลยี และสินค้าปลอมอย่างไร

 

[caption id="attachment_297324" align="aligncenter" width="220"] วิลเบอร์ รอส (Wilbur Ross) วิลเบอร์ รอส (Wilbur Ross)[/caption]

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2561 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ โดยนายวิลเบอร์ รอส (Wilbur Ross) ก็ได้ออกรายงาน "The Effect of Imports of Steel on the National Security" เพื่อขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้า สำหรับรายงานของสหรัฐฯ ที่กล่าวถึงการละเมิดทางการค้าของจีนนั้น ผมสามารถสรุปว่า มีกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องอยู่ 4 กลุ่ม คือ หน่วยงานรัฐบาล นโยบายอุตสาหกรรม บริษัทเอกชน และนักศึกษา โดยมีกลุ่มธุรกิจที่เป็นเป้าหมายถึง 8 ธุรกิจ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรคมนาคม หุ่นยนต์ การบริการข้อมูล ผลิตภัณฑ์ยา มือถือและบริการ การสื่อสารดาวเทียม และธุรกิจซอฟต์แวร์ โดยนำขนาดตลาดของจีนที่ใหญ่มหึมา ทั้งการค้าและการลงทุนเป็น "ตัวประกันและต่อรอง" เพราะใคร ๆ ก็อยากเข้าไปขายและลงทุนในประเทศจีน โดยมีเจ้าหน้าที่ของจีนที่ดำเนินการทั้งหมด 9 หมื่นคน (ในประเทศ 4 หมื่นคน ในต่างประเทศ 5 หมื่นคน)

รายงานระบุว่า 1.มีการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า ขั้นตอนในการทำธุรกิจและเทคโนโลยี เฉพาะความลับทางการค้าของสหรัฐฯ มีการประเมินว่า ได้ขโมยไปเป็นมูลค่าตั้งแต่ 180-540 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ USTR ก็ได้อ้างอีกว่า เป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ที่จีนเข้าไปล่วงรู้ข้อมูลที่เป็นความลับทางธุรกิจของสหรัฐฯ มีการเอ่ยชื่ออย่างชัดเจนว่าเป็นใคร นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า 2.จีนหลีกเลี่ยงกฎหมายการส่งออกในสหรัฐฯ เพราะมีกลุ่มคนที่ทำงานในสหรัฐฯ และส่งข้อมูลกลับไปยังประเทศจีนโดยหลบเลี่ยง ก.ม.ฉบับดังกล่าว

 

[caption id="attachment_297326" align="aligncenter" width="431"] ©Clker-Free-Vector-Images ©Clker-Free-Vector-Images[/caption]

3.ประเด็นการผลิตสินค้าปลอมและการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มากของสหรัฐฯ ซึ่งอ้างว่า จีนเป็นแหล่งสินค้าปลอมและละเมิดลิขสิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก และมีมูลค่าสูงถึง 6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 4.เรื่องของ "Foreign Owner Restriction" ของจีน ที่มีต่อนักลงทุนต่างชาติ สร้างความกังวลกับนักลงทุนสหรัฐฯ อย่างมาก USTR ให้ข้อมูลว่า จีนจะห้ามนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เว้นแต่ว่าจะร่วมลงทุนกับนักลงทุนจีนเท่านั้น และนักลงทุนจีนต้องสามารถควบคุมการตัดสินใจได้ด้วย และประเด็นสำคัญต่อไป คือ "ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี" ให้กับจีนอีกด้วย แต่หากเราติดตามเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า รัฐบาลจีนก็มีความตั้งใจจะเปิดโอกาสการลงทุนให้กับนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติจีน (NDRC) ได้มีกำหนดระยะเวลาในการยกเลิกข้อกำหนดการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเมื่อเดือน เม.ย. 2561 ว่า จากเดิมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ นักลงทุนต่างชาติต้องลงทุนแบบร่วมทุน สัดส่วน 50% ซึ่งข้อกำหนดนี้จะถูกยกเลิกไปในปลายปี 2561 สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรถยนต์เชิงพาณิชย์จะยกเลิกในปี 2563 และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยกเลิกในปี 2565

อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะปลดล็อกสัดส่วนการถือหุ้นก็ตาม แต่ประเด็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีนั้น ยังไม่มีการพูดถึงอย่างชัดเจนว่า ยังจะมีอยู่อีกหรือไม่? นอกจากนั้นแล้ว สหรัฐฯ ยังอ้างว่า การอนุมัติโครงการการลงทุนของจีนเป็นอุปสรรคอย่างมาก ทั้งมูลค่าการลงทุน โครงการอนุมัติจากรัฐบาลกลางและท้องถิ่น ซึ่งต้องคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศจีน ซึ่งจีนกำหนดใบอนุมัติไว้ถึง 100 ประเภทกิจการ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา เหมืองแร่ และบริการโทรคมนาคม เป็นต้น แต่สหรัฐฯ แย้งว่า ข้อกำหนดที่ไม่ชัดเจนและคลุมเครือ ทำให้เป็นอุปสรรคและเพิ่มต้นทุนในการดำเนินธุรกิจต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมาก 5.จีนบังคับให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตรและเทคโนโลยี โดยการออกระเบียบบังคับให้ประเทศเจ้าของสิทธิบัตรอนุญาตให้แก่บริษัทในประเทศจีน ภายใต้ข้อตกลงการถ่ายทอดเทคโนโลยี

 

[caption id="attachment_297332" align="aligncenter" width="503"] ©Tumisu ©Tumisu[/caption]

นอกจากนี้ ยังกำหนดระยะเวลาในการให้สิทธิการถือครองให้แก่บริษัทจีนไม่เกิน 10 ปี สำหรับการลงทุนในรูปแบบร่วมทุนนั้น หมายความว่า ประเทศเจ้าของสิทธิบัตรมีโอกาสในการถือครองเพียง 10 ปีเท่านั้น รวมทั้งออกระเบียบว่า จีนสามารถขยายระยะเวลาของสิทธิบัตรออกไปได้จากเดิมที่กำหนดว่าหมดอายุปีไหนอีกด้วย

ประเด็นสุดท้าย (ภายในโควตาบทความผม) เป็นเรื่องของความมั่นคงที่นักลงทุนต่างชาติต้องเปิดเผยข้อมูล รหัส และ Source Codes ให้กับจีน นอกจากนั้น ยังมีประเด็นของนักศึกษาที่เข้าไปเรียนในสหรัฐฯ และทำงานต่อในสหรัฐฯ แล้วเข้าไปล้วงข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัท รวมไปถึงบริษัทจีนที่เข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ แล้วเรียนรู้ข้อมูลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ข้างต้นเป็นมุมมองจากสหรัฐฯ เราต้องฟังจากจีนกันต่อไปครับ

……………….
คอลัมน์ : อาเซียนพลัส โดย รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 ก.ค. 2561 หน้า 08

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูง! 'สหรัฐฯ' ฟัดจีน ธุรกิจต้นทุนพุ่ง
ราคาน้ำมันดิบดิ่ง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนระอุ

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว