'ซีล' ซูเปอร์ฮีโร่! ภารกิจหฤโหดกู้ชีวิต "13 หมูป่า"

12 ก.ค. 2561 | 03:36 น.
120761-1016

ท่ามกลางความคาดหวัง แรงกดดัน และความไว้วางใจของคนไทยและคนทั้งโลก กับภารกิจสุดหฤโหดมากที่สุด เพื่อนำเยาวชนทีม "หมูป่า อะคาเดมี" 13 ชีวิต ออกจากถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ที่ในขณะนั้นมีน้ำท่วมสูง คับแคบ อากาศน้อย ทั้งยังต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้ทันกับสภาพอากาศที่อาจมีฝนตกได้ตลอดเวลา ขณะที่สภาพร่างกายของเยาวชนและโค้ชอ่อนแอลงทุกขณะ ทั้งยังมีเรื่องของการดำน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง การเรียกใช้บริการ 'หน่วยซีล' จึงตอบโจทย์มากที่สุดกับสถานการณ์วิกฤติที่ขุนน้ำนางนอน

"หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ" (นสร.) หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า 'หน่วยซีล' เป็นกำลังหลักในปฏิบัติการครั้งนี้ เนื่องจากกองทัพเรือหน่วยงานต้นสังกัดได้รับการประสานงานจากทางจังหวัดเชียงราย เพื่อขอกำลังสนับสนุน โดยชุดปฏิบัติการของ "หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขงเขตเชียงราย" (นรข.เชียงราย) ซึ่งอยู่หน้างานร้องขอกำลังเพิ่ม จึงประสานขอความช่วยเหลือมายัง "หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ" (นสร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด


14-3382-120761-1016-01

กระทั่ง ผู้บังคับบัญชาของกองทัพเรือตัดสินใจส่ง 'หน่วยซีล' เข้าร่วมปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. ช่วงที่ทั้ง 13 ชีวิต หายเข้าไปในถ้ำได้ไม่ถึง 48 ชั่วโมง ถึงวันนี้ได้ส่งกำลังเข้าร่วมปฏิบัติการนี้แล้วมากกว่า 40 นาย


รู้จัก 'ซีล'
หน่วยซีล (SEA AIR LAND : SEAL) ถือกำเนิดมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีประเทศอิตาลีเป็นต้นแบบการดำน้ำทางยุทธวิธี (Frogman) จากนั้นอังกฤษและอเมริกาก็ได้มีการเรียนรู้และพัฒนาหน่วยรบประเภทนี้ โดยชื่อของ SEAL นั้น มีบทบาทในการรบที่หาดนอร์มังดี ค.ศ. 1944 ได้สถาปนาหน่วยขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2495

 

[caption id="attachment_297232" align="aligncenter" width="503"] ©FB-Thai NavySEAL ©FB-Thai NavySEAL[/caption]

ถัดมาในปี 2496 กองทัพเรือได้ส่งนายทหารสัญญาบัตรและประทวน 7 นาย ไปเรียนหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจมที่อเมริกา และได้จัดตั้งหน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม ขึ้นตรงกับ บ.ก.กองเรือยุทธการ ในปี 2499 ได้ปรับปรุงให้เทียบเท่ากับหน่วย SEAL ของอเมริกา โดยสามารถปฏิบัติงานได้ 2 แบบ คือ 1.เป็น Under Water, Demolition, Team หรือ UDT คือ การรบในสงคราม อาทิ ทำลายสิ่งกีดขวางหน้าหาด และ 2.เป็น SEAL ในสงครามนอกแบบ อาทิ ต่อต้านการก่อการร้ายและจู่โจมทำลายการค้าของผิดกฎหมาย เป็นต้น

ภารกิจหลัก คือ การต่อต้านการก่อการร้ายสากล การปฏิบัติการจิตวิทยา ดำเนินการด้านข่าวลับ การก่อวินาศกรรมเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการทางเรือ ปฏิบัติการค้นหาและทำลายวัตถุระเบิด การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การถวายความอารักขาและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ รวมทั้งปฏิบัติภารกิจพิเศษอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา

 

[caption id="attachment_297233" align="aligncenter" width="503"] ©FB-Thai NavySEAL ©FB-Thai NavySEAL[/caption]

กว่าจะได้ชื่อว่า เป็นกำลังพลของ 'หน่วยซีล' นั้น ต้องผ่านการฝึกในหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ที่มีระยะเวลาการฝึกนานถึง 7-8 เดือน หลักสูตรที่นับว่าโหดและหินมากที่สุด ไม่แกร่งจริงทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ ก็ยากที่จะได้ประดับตรา "รูปปลาฉลาม คลื่น สมอเรือ และธงชาติ" เครื่องหมายนักทำลายใต้น้ำจู่โจม ที่ได้รับการออกแบบโดย ร.อ.พันรักษ์แก้ว (เกษียณยศ พล.ร.ท.) ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ในรายการข่าวของ ITV อธิบายความหมายของสัญลักษณ์เหล่านี้ไว้ว่า


14-3382-120761-1016

'ปลาฉลาม' ซึ่งมีสีขาว หรือ สีน้ำเงิน หมายถึง การเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล ดุร้าย น่าเกรงขาม สง่างาม แข็งแกร่ง

'คลื่น' หมายถึง ความน่ากลัวของทะเลที่มีเกลียวคลื่นตลอดเวลา หรือ อุปสรรคของคลื่นหัวแตก แต่ฉลามก็ไม่ได้หวั่นเกรง 'สมอเรือ' หมายถึง ทหารเรือ

ส่วน 'ธงชาติ' นั้น หมายถึง การยอมพลีชีพเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์


เปิดปูม 'บิ๊กน้อย' ผบ.นสร.
พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว (บิ๊กน้อย) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (ผบ.นสร.) เกิดที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนชะอวดวิทยาคาร โรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช รุ่นที่ 83 เป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 24 นักเรียนนายเรือ รุ่นที่ 81 (ปี 2526)

 

[caption id="attachment_297234" align="aligncenter" width="503"] ©ONE31(ช่องวัน) - one31.net ©ONE31(ช่องวัน) - one31.net[/caption]

สำเร็จหลักสูตรนักทำลายใต้น้ำจู่โจม รุ่นที่ 18 (ปี 2533) เป็นครูฝึกหน่วยซีล รวมถึงเป็นผู้บัญชาการหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) ยุกแรก ๆ ทั้งเคยเป็นผู้ช่วยฝ่ายทหารเรือ ประจำนครย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

ในปี 2553 พล.ร.ต.อาภากร ได้เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษร่วมกับ พล.ร.ต.ไชยยศ สุนทรนาค ในการบังคับหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดโซมาเลีย หลังจากการปล้นสะดมในน่านน้ำอ่าวเอเดน บริเวณตะวันออกกลาง เพื่อรักษาผลประโยชน์ของมนุษยชาติและเรือสินค้าไทยที่แล่นผ่าน โดยจัดส่งกำลังพล 351 นาย ร่วมกับกองทักเรือนานาชาติ อีก 29 ประเทศ

ต่อมา ในปี 2554 เกิดเหตุมหาอุทกภัยในประเทศไทย พล.ร.ต.อาภากร พร้อมด้วยกำลังพลหน่วยซีล 27 นาย ลงสู่พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในจุดที่ความช่วยเหลือทั่วไปไม่สามารถเข้าถึง

กระทั่งปี 2559 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ พล.ร.ต.อาภากร เป็นราชองครักษ์เวรสืบต่อไปอีกวาระ ตั้งแต่วันที่ 12 ส.ค. 2559 และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ณ วันที่ 1 ต.ค. 2560

ก่อนจะเป็นผู้นำหน่วยซีลเข้าเสริมทัพในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงที่ จ.เชียงราย ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้มีอดีตหน่วยซีลเสียชีวิต 1 นาย พล.ร.ต.อาภากร ได้แสดงความเสียใจ แต่ยังคงยืนยันดำเนินการภารกิจต่อไป เพื่อไม่ให้การเสียชีวิตของสมาชิกทีมต้องสูญเปล่า


14-3382-120761-1016-02 14-3382-120761-1016-03

……………….
เซกชัน : การเมือง โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 หน้า 14

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
"ณรงค์ศักดิ์" เผยแผนปฎิบัติการพาหมูป่ากลับบ้าน "เด็ก 4 -โค้ช 1- หมอ 1- ซีล 3 "
‘ในหลวง’ ทรงรับสั่งจัดงานศพ “จ่าแซม” อดีตซีลเสียชีวิตในถ้ำหลวงอย่างสมเกียรติ


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว