ม.อ.ห่วงขยะพลาสติกเกลื่อนทะเล ปนเปื้อนสัตว์นํ้าเศรษฐกิจที่จับได้

14 ก.ค. 2561 | 05:11 น.
ม.อ.วิจัยพบปัญหาวิกฤติปนเปื้อนของขยะพลาสติกในทะเลต่อความมั่นคงทางอาหาร เผยกลุ่มตัวอย่างสัตว์นํ้าเกินครึ่ง พบการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก

lo10 copy

รศ.ดร.ประวิทย์ โตวัฒนะ ผศ.ดร.ศิริพร ประดิษฐ์ นักวิจัยสถานีวิจัยสมุทรศาสตร์ชายฝั่งและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และนักศึกษาปริญญาเอก ประกอบด้วย Miss Patricia Blair Goh และนาย สุเทพ เจือละออง และ Mr.S.M. Oasiqul Azad นักศึกษาปริญญาโท ร่วมกันเปิดเผยผลจากการศึกษาการปนเปื้อนของไมโครพลาสติก (เศษพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร) ในสัตว์นํ้าเศรษฐกิจที่จับได้บริเวณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ว่า จากตัวอย่างปลาทะเลที่วางจำหน่ายทั้งสิ้น 165 ตัวอย่าง (24 ชนิด) พบว่ามี ไมโครพลาสติกอยู่ในกระเพาะและลำไส้ปลา ประมาณ 110 ตัว (67%) และตัวอย่างปลาหมึกกล้วยในบริเวณดังกล่าว 100 ตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วยปลาหมึกขนาดใหญ่ 50 ตัวอย่าง พบไมโครพลาสติก 32 ตัว (64%) และปลาหมึกขนาดกลาง 50 ตัวอย่าง พบ ไมโครพลาสติก 41 ตัว (82%)

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่อ่าวไทยนั้นได้ปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสัตว์นํ้าเศรษฐกิจปัญหานี้นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น

lo09 copy

รศ.ดร.ประวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยติดอันดับที่ 5 ของโลกในการทิ้งขยะลงสู่ทะเล รองจากประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม และ 5 ประเทศในเอเชียที่กล่าวนี้ ได้ทิ้งขยะพลาสติก ปริมาณ 60% ของปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเล นอกจากนี้ทาง Global watch ได้รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า ชาวประมงจังหวัดชุมพรได้พบเห็นแพขยะขนาดใหญ่มากที่ความยาวต่อเนื่องกันประมาณ 10 กม. และกว้าง 2 กม. ลอยอยู่ในบริเวณอ่าวไทย และแพขยะนั้นเป็นขยะพลาสติกแทบทั้งสิ้น ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านั้น เป็นขยะพลาสติกบนบก และถูกพัดพาจากบกลงสู่ทะเลจากขบวนการ นํ้าท่วม

ขยะพลาสติกจำนวนมากที่พบอยู่ในอ่าวไทยข้างต้นนี้ เมื่อถูกแสงแดด ออกซิเจน และคลื่นจากกระแสนํ้าทะเลจะผุพังและแตกหักเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่ากับหรือเล็กกว่า 5 มม. ที่ถูกเรียกว่า ไมโครพลาสติก ดังนั้นถุงพลาสติกหรือแก้วพลาสติก 1 ชิ้น เมื่อถูกทิ้งลงสู่ทะเลเมื่อเวลาผ่านไปจะผุพัง แตกหัก สลายตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกจำนวนหลายพันชิ้น และสามารถล่องลอยไปทั่วโลก ตั้งแต่ผิวนํ้าจนถึงใต้ท้องทะเล และเนื่องจากมันมีขนาดเล็ก และมีสีสันใกล้เคียงกับ แพลงก์ตอนพืชและสัตว์ จึงทำให้สิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ ในทะเลกินมันเข้าไป และสะสมอยู่ในตัวมัน และปนเปื้อนอยู่ในห่วงโซ่อาหารในที่สุด

ซึ่งเมื่อมนุษย์บริโภคสัตว์นํ้าที่ปนเปื้อน ไมโครพลาสติกเหล่านี้เข้าไป อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัย หรือเป็นสารก่อมะเร็งของมนุษย์ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยด่วน โดยทั้งทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดยต้องเริ่มแก้ปัญหา เช่น เปลี่ยนจากการใช้แก้วพลาสติกมาเป็นแก้วกระดาษ เปลี่ยนจากการใช้โฟมบรรจุอาหารมาใช้ใบตองและกระดาษไข หรือโฟมชานอ้อย การกำจัดขยะพลาสติกอย่างถูกต้อง เช่น การนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ใหม่

หน้า 21 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 กรกฎาคม 2561