แบงก์เฟ้นหาพันธมิตรลุยตั้งเป็นตัวแทน ฝาก-ถอน ไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อวัน

22 ส.ค. 2561 | 05:26 น.
แบงก์เฟ้นหาพันธมิตรจัดตั้งตัวแทน Banking Agents เน้นเพิ่มความสะดวกลูกค้า-ไม่ทับซ้อนสาขาเดิม เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจ ด้าน “กรุงเทพ-กรุงศรีอยุธยา” ยื่นแผนให้ธปท.แล้ว ส่วน “กสิกรไทย-เกียรตินาคิน” กำลังพิจารณา ยันไม่รีบ เน้นพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถพิจารณาเลือกให้เป็นตัวแทนได้ โดยไม่ต้องมาขออนุญาตธปท. เป็นรายกรณีเหมือนในอดีต แต่ต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ขั้นตํ่าคือ 1.มีหลักแหล่งในการให้บริการที่ชัดเจน 2. มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และระบบที่เหมาะสม  3. มีกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการที่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถดำเนินธุรกิจได้คล่องตัว โดยลดภาระการขออนุญาตจากธปท. อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดีและมีการดูแลผู้ใช้บริการที่เหมาะสม รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ยังคงเป็นผู้รับผิดชอบเสมือนเป็นผู้ดำเนินการเอง

[caption id="attachment_297019" align="aligncenter" width="276"] ขัตติยา ขัตติยา อินทรวิชัย[/caption]

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารยังอยู่ในขั้นตอนของการเลือก Banking Agents โดยรายที่ธนาคารพิจารณาเลือกนั้น จะต้องเป็นเอเยนต์ที่สามารถอำนวยความสะดวกกับลูกค้าของธนาคารได้จริง โดยเฉพาะธนาคารคาดหวังให้ Banking Agents สนับสนุนลูกค้าในพื้นที่ที่ไม่ซํ้ากับสาขาที่มีอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเป้าหมายธนาคารต้องการให้ตัวแทนมีความเข้าใจแอพพลิเคชัน K PLUS ด้วย ซึ่งการเลือกพันธมิตร Banking Agents จะต้องไม่คิดว่า ธนาคารเป็นคู่แข่ง

“ที่ผ่านมาเรายังไม่ส่งรายชื่อเอเยนต์ไปยังธปท. โดยเข้าใจว่า ยังสามารถเลือกได้เรื่อยๆ ซึ่ง Banking Agents ที่เราเลือกต้องเข้าใจเป้าหมายเราในอนาคต เพื่อจะช่วยโหลดแอพพลิเคชัน K PLUS เมื่อกฎของธปท.เปิดแต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้”

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธนาคารได้ยื่นขอตั้งแบง กิ้งเอเยนต์ต่อธปท. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเรื่องของปริมาณธุรกรรมและกำลังคน รวมถึงทำเลที่ตั้ง เนื่องจากพันธมิตรที่ธนาคารจะเลือกมาเป็นตัวแทน (Agent) ในการเปิดแบง กิ้งเอเยนต์นั้น จะต้องมีคุณสมบัติตามที่ได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะได้รับจากความผิดพลาดจากตัวแทนในอนาคต ดังนั้น ธนาคารจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในการคัดเลือกตัวแทนที่เหมาะสมที่สุดขณะเดียวกันธนาคารยังได้เสนอแผนการต่อธปท.เพื่อให้พิจารณาเห็นชอบอีกด้วย

MP24-3382-A-

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเชื่อว่า แบงกิ้งเอเยนต์ จะเป็นหนึ่งในช่องทางในการให้บริการลูกค้า ซึ่งมีเกณฑ์ควบคุมการจัดตั้งอยู่แล้ว เช่น เรื่องความเสี่ยงและบทบาทความรับผิดชอบ แต่ธนาคารยังคงให้ความสำคัญ และใช้ประโยชน์จากช่องทางอื่นอยู่ เช่น การให้บริการผ่านสาขาและทางเทคโนโลยีดิจิตอล เพื่อให้ลูกค้ามีช่องทางหลากหลายในการใช้บริการ

“ตอนนี้เรายื่นแผนให้ธปท.แล้วซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาปริมาณธุรกรรมและกำลังคน เพื่อให้การบริการมีประสิทธิภาพ”

ขณะที่นายพงษ์อนันต์ ธณัติไตร ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจลูกค้ารายย่อยและเครือข่ายการขาย บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ธนาคารได้ส่งแผนไปให้ธปท.พิจารณาการจัดตั้งแบงกิ้งเอเยนต์แล้ว ตอนนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการหารือร่วมกับพันธมิตรด้วยกัน 3-4 ราย ซึ่งจะเป็นร้านสะดวกซื้อ เทลโก้ สถานีปั๊มนํ้ามัน และบุญเติมในการเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ ทั้งนี้ การเริ่มต้นธุรกิจจะขึ้นอยู่กับความพร้อมของพันธมิตรแต่ละราย

อย่างไรก็ดี คาดว่าภายใน 2 เดือน น่าจะเริ่มมีความชัดเจน โดยธุรกรรมเบื้องต้นฝาก-ถอน แม้ว่าจะมีเอทีเอ็มอยู่แล้ว แต่การเลือกใช้บริการยังคงขึ้นอยู่กับลูกค้า ทั้งนี้ ภายใต้พันธมิตรคาดว่าจะมีแบงกิ้งเอเยนต์เกิดขึ้นได้ 200-300 แห่ง ซึ่งจะเน้นอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ส่วนทิศทางสาขาธนาคารนั้น แม้ว่ามีแผนตั้งแบงกิ้งเอเยนต์ แต่สาขายังคงมีความจำเป็นอยู่ แต่รูปแบบสาขา ขนาด และการบริหารจัดการอาจจะเปลี่ยนแปลงไปแตกต่างกันตามพฤติกรรมผู้บริโภคและลูกค้า

“เราส่งแผนไปแล้ว ตอนนี้กำลังหารือพันธมิตรที่จะเป็นแบงกิ้งเอเยนต์ให้กับธนาคาร ซึ่งใครพร้อมก็สามารถทำได้เลย ส่วนเรื่องค่าธรรมเนียมตอนนี้กำลังตกลงว่าค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างๆ เมื่อเกิดการให้บริการแล้ว จะคิดค่าธรรมเนียมเท่าไร แบงก์ต้องชดเชยค่าธรรมเนียมแทนลูกค้า หรือลูกค้าจ่ายเอง หรือต้องแบ่งกันระหว่างแบงก์และผู้เป็นแบงกิ้งเอเยนต์แต่ในอดีตลูกค้าจะเป็นผู้จ่ายเอง”

นายมานิตย์ วรรณวานิช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายเครือข่ายการขายและบริการ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน กล่าวว่า ตอนนี้ธนาคารกำลังศึกษาและพิจารณาการจัดตั้งแบงกิ้งเอเยนต์อยู่ แต่ยังไม่ได้มีการส่งแผนให้กับธปท.แต่อย่างใด อย่างไรก็ดี ธนาคารมองว่า จำนวนสาขาในระดับปัจจุบันที่มีอยู่ 65 สาขา ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจและอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เหมาะสมโดยอยู่ในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯในสัดส่วนครึ่งๆ เท่ากันขณะเดียวกัน ฐานลูกค้าของธนาคารส่วนใหญ่จะเน้นทำธุรกรรมบนโมบายแบงกิ้ง ส่งผลให้สัดส่วนการทำธุรกรรมบนสาขาอาจจะน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่จะเป็นฐานลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth Management) จึงมีความคุ้นชินที่จะทำธุรกรรมบนโทรศัพท์มือถือ และธนาคารไม่ใช่ธนาคารที่เน้นการทำธุรกรรม (Transaction Banking)

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12 - 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2561