ไฟเขียวร่างก.ม.วิสาหกิจเพื่อสังคมฯ

10 ก.ค. 2561 | 12:41 น.
ไฟเขียวร่างก.ม.วิสาหกิจเพื่อสังคมฯ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า วันนี้ที่ประชุมครม. (10 กรกฎาคม) ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ... ตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญ เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะช่วยส่งเสริมหรือสนับสนุนจากภาครัฐ และจะเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบกิจการจากภาคเอกชนเข้ามาประกอบกิจการ หรือดำเนินการเพื่อสังคมมากขึ้น โดยครอบคลุมคำจำกัดความ

kob

ซึ่งจะเน้นเรื่องของบริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย มีวัตถุประสงค์ ผลิตหรือจำหน่ายสินค้า หรือบริการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน หรือแก้ไขปัญหาให้กับชุมชน สังคม สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม โดยมิได้มุ่งผลกำไรสูงสุดมาแบ่งปันกัน แล้วนำผลกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปลงทุนในกิจการของตนเอง ขยายกิจการ หรือเพื่อใช้ประโยชน์สำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ หรือตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เป็นต้น

วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว สามารถขอรับการส่งเสริมได้ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร มาตรการส่งเสริมการลงทุนในวิสาหกิจเพื่อสังคม และการได้รับความช่วยเหลือด้านเงินทุน ร่างก.ม.ฉบับนี้ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม รวมถึงให้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ (ควส.) และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

“พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นฉบับแรกๆของ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอเป็นวาระการปฏิรูปของประเทศไทย ใช้เวลา 3 ปีกว่า โดย ครม.ได้ผ่านความเห็นชอบและหลังจากนี้จะผ่านเข้าสู่การพิจารณาของกฤษฎีกา เพื่อนำไปสู่การประกาศเป็นร่างกฎหมายต่อไป” นายกอบศักดิ์ ระบุ

ทั้งยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นรูปแบบใหม่ที่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ อาทิ อังกฤษ อเมริกา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการตอบโจทย์เพื่อการพัฒนาประเทศรูปแบบที่ 3 นั่นก็คือ กึ่งรัฐกึ่งเอกชน กล่าวคือ ทำเพื่อสังคมแต่อาศัยโมเดลการทำธุรกิจมาประกอบด้วยทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างกว้างขวาง สามารถตอบโจทย์และสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนได้ โดยพันธกิจหลักของวิสาหกิจเพื่อสังคม คือ การแก้ไขปัญหาทางสังคม ไม่มุ่งเน้นการหากำไรสูงสุดมาแบ่งปันกัน ทำให้มีความยั่งยืนทางธุรกิจ ขณะเดียวกันก็มีการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ในลักษณะคล้ายคลึงกับมูลนิธิ องค์กรการกุศล แต่ยั่งยืนกว่า สามารถที่จะขยายกิจการได้

ทั้งนี้ คาดว่า ภายใน 10 ปีจะเกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมไม่น้อยกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างการจ้างงานให้กับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้พิการประมาณ 2 ล้านคน ผู้สูงอายุประมาณ 12 ล้านคน และผู้ด้อยโอกาส ประมาณ 5 ล้านคน รวมทั้งสิ้นกว่า 19 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ทั้งยังทำให้ประชาชนทั่วไปที่ขาดแคลนเงินทุน เข้าถึงแหล่งทุนในการจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งยังเกิดระบบรับรองมาตรฐานและระบบการประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินโครงการสังคม ส่งเสริมการสร้างตลาดการลงทุนทางสังคมระยะยาว

e-book-1-503x62-7