ฉาย บุนนาค : เงื่อนไขแห่งกาลเวลาและบททดสอบของพ่อแม่...

10 ก.ค. 2561 | 09:57 น.
256266526 สมัยนี้ดูเหมือน “การส่งลูกไปเรียนเมืองนอก” จะเป็นกิจบังคับหรือ ธรรมเนียมปฏิบัติของพ่อแม่รุ่นใหม่ที่พอมีกำลัง

แต่จะมีพ่อแม่สักกี่คนที่พินิจพิจารณาจริงๆ ว่าส่งไปแล้ว ลูกเราได้อะไร เสียอะไร ถูกกาลเทศะหรือไม่?

เพราะการที่คนส่วนใหญ่ “ทำ” บางอย่าง ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนั้นดีหรือเหมาะกับเราเสมอไป

ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งใช้ชีวิตการศึกษาที่ต่างประเทศมาตั้งแต่อายุ 13 ปีจนถึง 23 ปี ยืนยันได้เลยว่าการไปเรียนต่างประเทศมีทั้งข้อบวกและลบ ดั่งเหรียญที่มักมี 2 ด้านเสมอ

teaching-tech ข้อได้เปรียบด้านภาษา วิชาการ มุมมองแนวคิด ประสบการณ์ รวมถึงเครือข่ายเพื่อนฝูง ที่จะได้รับ สามารถจะทดแทน เวลา ความอบอุ่นของครอบครัวเราได้จริงหรือ?

กับสถาบันการศึกษาไทยที่พัฒนาขึ้นมาสู่ระดับโลกหลายแห่งในปัจจุบัน จะมีได้คุ้มเสียจริงๆ หรือในการส่งลูกไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่วัยเยาว์

และไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ว่าใครจะเลี้ยงลูกได้ดีกว่าพ่อแม่?!

เรื่องนี้ไม่มีคำตอบ เพราะทุกท่านต่างมีความเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี

ผมเองก็เช่นกัน ที่เพิ่งส่งลูกชายวัย 9 ขวบ ไป Summer Camp ที่สวิสเซอร์แลนด์ เป็นระยะเวลา 1 เดือน การตัดสินใจครั้งนี้ “ไม่ใช่เพราะแฟชั่น” ตามที่คนอื่นเขาทำ แต่เพื่อให้เขาได้เรียนรู้จักการช่วยเหลือตัวเอง หัดรับผิดชอบ และเปิดโลกทัศน์ของเขาให้กว้างไกลขึ้น

เหตุผลอีกข้อคือ ผมต้องการให้ลูกสัมผัสความรู้สึกยามไม่มีพ่อแม่อยู่ข้างกาย ไม่มีคนปกป้องดูแล และเรียนรู้การจากลาตาม “เงื่อนไขแห่งกาลเวลา”

ฟิน บทเรียนราคาแพงนี้ หาใช่ของลูกผมคนเดียวที่ต้องเรียนรู้ แต่คือบททดสอบของพ่ออย่างผมด้วยเช่นกัน

รู้สึกใจหายไม่ใช่น้อยเมื่อต้องเตรียมรับมือกับความจริงที่ “ลูกน้อย” ที่ผมส่งไปเข้าแคมป์อาจกลับมาเป็น “เด็กหนุ่ม” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่นี้ก็คือ ”สัจธรรม” คือ “ธรรมะ” ของโลก ว่าด้วยเรื่อง “อนิจจัง” หรือ “ความไม่เที่ยง” และ “การแปรเปลี่ยนตามกาลเวลา”

“บททดสอบแห่งกาลเวลา” นี้ คือเป้าหมายอันดับหนึ่งที่ผมหวังให้ครอบครัวเราศึกษาจากการส่งลูกไปเรียนในครั้งนี้ จะสอบผ่านหรือสอบตกอีก 3 สัปดาห์เราคงได้รู้กัน

| คอลัมน์ : ฉาย บุนนาค
| โดย : ฉาย บุนนาค
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 18 ฉบับ 3382 ระหว่างวันที่ 12-14 ก.ค.2561
e-book-1-503x62-7