“สมคิด” โรดโชว์ญี่ปุ่นดึงทุนลงอีอีซี

10 ก.ค. 2561 | 09:02 น.
บีโอไอเผย “สมคิด” นำคณะเยือนกรุงโตเกียว จังหวัดไอจิ และมิเอะ ของญี่ปุ่น 17-21 ก.ค.นี้ จัดสัมมนาใหญ่ พบผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน อาหารทางการแพทย์ เครื่องจักร และหุ่นยนต์-ระบบอัตโนมัติ เพื่อเชิญชวนลงทุนในพื้นที่อีอีซี

- 10 ก.ค. 61 - น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 17-21 ก.ค. 2561 นี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำคณะผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย - ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission - HLJC) ครั้งที่ 4 ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงโตเกียว

ในโอกาสนี้รองนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ จังหวัดไอจิ และจังหวัดมิเอะ ซึ่งตั้งอยู่ในภาคกลางของประเทศญี่ปุ่น และเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ของจังหวัดไอจิ และจังหวัดมิเอะ ได้แสดงความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับบริษัทเป้าหมายที่รองนายกรัฐมนตรีจะพบหารือในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และอากาศยาน ผู้ผลิตอาหารทางการแพทย์ ผู้ผลิตเครื่องจักร และผู้ผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นต้น นอกจากนี้ยังจะเป็นประธานเปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand Taking off to New Heights” ที่จะจัดขึ้น ณ เมืองนาโกยา จังหวัดไอจิ โดยมี นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขาธิการบีโอไอ และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาฯอีอีซี ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ศักยภาพของไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุน และความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ในอีอีซี  ล่าสุดมีนักลงทุนในจังหวัดไอจิ และพื้นที่ใกล้เคียงสนใจเข้าร่วมงานสัมมนาแล้วกว่า 650 คน

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรียังจะเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ของบีโอไอกับจังหวัดมิเอะ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน

“ทั้ง 2 จังหวัดที่คณะรองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปเยือนครั้งนี้มีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายของไทย อาทิ จังหวัดไอจิ มีชื่อเสียงมากในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งนอกจากมีบริษัทใหญ่ระดับโลก เช่น บริษัทโตโยต้าแล้ว ยังมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์อีกจำนวนมาก ขณะที่จังหวัดมิเอะ มีความร่วมมือกับประเทศไทยมาแล้วในหลายด้าน และกำลังพัฒนาความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาบุคลากรของไทย ดังนั้นกิจกรรม และการให้ข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ในครั้งนี้ จึงเป็นการเน้นย้ำความตั้งใจของรัฐบาลที่จะขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมหน่วยงานระดับท้องถิ่นรายจังหวัดของญี่ปุ่น” นางสาวดวงใจ กล่าว