กบช.เงินก้อนใหม่ ‘อภิศักดิ์’ยันไม่แตะสำรองเลี้ยงชีพเดิม

13 ก.ค. 2561 | 09:30 น.
ภาพรวมธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในประเทศไทย ยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยจากข้อมูลของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนล่าสุดเดือนพฤษภาคม 2561 พบว่า มีจำนวนนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวม 19,426 ราย เพิ่มขึ้น 3.86% จากสิ้นปี 2560 ที่มีอยู่ 18,704 ราย ขณะที่จำนวนพนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีจำนวนกว่า 3.31ล้านคน คิดเป็น 8.71% ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดกว่า 37.96 ล้านคน

อัตราการเติบโตของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสะท้อนให้เห็นว่า นายจ้างตระหนักถึงความสำคัญของการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเครื่องมือส่งเสริมให้พนักงานมีความมั่นคง และมีเงินเพียงพอไว้ใช้ในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจัดตั้งด้วยความสมัครใจของแต่ละองค์กร โดยไม่ได้มีกฎหมายบังคับแต่อย่างใด กระทรวงการคลังจึงได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ซึ่งถือเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ เพราะยังมีแรงงานอีกมากที่ยังไม่มีระบบการออม เพื่อรองรับการเกษียณอายุ โดยเฉพาะในภาวะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

ล่าสุดร่างพ.ร.บ.การจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ(กบช.) ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากภาคเอกชนที่บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว อย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) ซึ่ง “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ต่อประเด็นดังกล่าวว่า จุดประสงค์ของกบช.คือ ต้องการดูแลแรงงานที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอะไรเลย ให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาตามข้อกฎหมายกำหนด ส่วนบริษัทที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้ว ก็เป็นสิทธิของเขาอยู่แล้วที่จะว่าจ้างให้บลจ.รายใดก็ได้บริหารกองทุน โดยพิจารณาจากผลตอบแทนที่เกิดขึ้น

[caption id="attachment_296623" align="aligncenter" width="503"] อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์[/caption]

“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่เคยอยู่กับบลจ.ใด ก็ให้อยู่ตามนั้นไป ไม่มีใครไปยุ่งกับเขา ถ้าจะย้ายจาก บลจ.ใดก็เป็นเรื่องของบริษัทเจ้าของกองทุน ซึ่งขึ้นกับผลตอบแทนที่ได้ แต่ กบช.เป็นเงินก้อนใหม่ ที่ต้องการดูแลผู้สูงอายุที่จะเกษียณ เป็นกลุ่มที่ไม่เคยมีกองทุนมาก่อน ส่วนใหญ่เป็นบริษัทเล็กๆ แรงงานระดับล่าง เป็นคนงานที่รัฐพยายามจะให้มีการดูแล สำหรับบริษัทใหญ่ก็ยังทำของเขาไปไม่เกี่ยวกับธุรกิจเดิม เพราะฉะนั้นอย่าร้อง”

ส่วนที่ให้มีผู้จัดการกองทุนเพียง 3 ราย ก็เพื่อให้ขนาดสินทรัพย์ในการบริหารใหญ่พอ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน แต่ไม่ได้ผูกขาดแค่ 3 รายไปตลอด หากรายใดบริหารไม่ดี ผลงานห่วยก็ต้องคัดออกอยู่แล้ว และหารายใหม่เข้ามา และจะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เพื่อให้บลจ.ที่บริหารกบช.จะได้มีความพยายามที่จะบริหารผลตอบแทนได้ดี แต่ถ้ากระจายเงินให้หลายๆบลจ.เข้าบริหาร ขนาดสินทรัพย์จะเล็ก ก็จะถูกปล่อยไปตามธรรมชาติ อาจจะได้ผลตอบแทนบ้างไม่ได้บ้าง

ซึ่งนอกจากดูแลผู้ที่ยังไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้ว การสร้างความเท่าเทียมและเป็นธรรมในระบบ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่กระทรวงการคลังต้องดูแล อย่างการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ในอัตรา 15% จากกำไรที่ได้จากการลงทุนทั้งทางตรงและทางอ้อม ก็เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกับคนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง และดอกเบี้ยเงินฝากที่ต้องเสียภาษีในอัตรา 15% หรือแม้แต่การออกพันธบัตรของรัฐบาลเองก็ต้องเสียภาษีในอัตรา 15% เช่นเดียวกัน MP19-3382-A

“ในเมื่อทุกคนต่างก็เสียภาษี แต่ทำไมกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้กลับได้รับยกเว้น และจากผลการศึกษายังพบว่า บลจ. บางแห่งที่ออกกองทุนตราสารหนี้ แล้วลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล โดยได้รับการยกเว้นภาษี ปรากฏว่า นอกจากบลจ. จะได้ค่าธรรม เนียมในการบริหารจัดการแล้ว ยังสามารถนำส่วนของภาษีที่ไม่ต้องจ่าย ไปเป็นส่วนแบ่งกำไรให้กับตัวเองและลูกค้าได้อีกด้วย ซึ่งพฤติกรรมนี้สร้างความบิดเบี้ยวของตลาด”

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น ก็มีการตั้งข้อสังเกตถึงพฤติกรรมของธนาคารพาณิชย์ที่มีสภาพคล่องส่วนเกินมากนำเงินก้อนใหญ่ไปลงทุนกับบลจ. ขณะเดียวกันบลจ.เองยังคัดค้านว่า การจัดเก็บภาษีอาจทำให้ความน่าสนใจของการระดมทุนของรัฐผ่านการออกพันธบัตรลดลง กรณีแย่สุดอาจทำให้ตลาดตราสารหนี้มีความคึกคักน้อยลง เมื่อเทียบกับรายได้รัฐที่เพิ่มขึ้น และหากเก็บภาษีกองทุนก็ควรใช้มาตรฐานเดียวกับผู้ฝากเงินที่ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยที่ได้รับไม่ถึง 2 หมื่นบาทก็ตาม

“สิ่งสำคัญในการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีของไทยนั้นคือรายได้เข้ารัฐ แต่รัฐเองก็จะดูเรื่องความเท่าเทียมและเป็นธรรมด้วยเพราะมีบางคนได้รับความเสียหาย ดังนั้นถ้าหลักการถูกต้องรัฐก็ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่มานั่งนับจำนวนคนค้าน ไม่เช่นนั้นกฎหมายภาษีก็ไม่ต้องออกและไม่ต้องคิดจะทำอะไรเลย”

สัมภาษณ์ : โต๊ะข่าวกองทุน

 

           หน้า 19 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,382 วันที่ 12-14 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62-7