ชี้ช่องดูดเงิน GenY เทรนด์ตลาดแห่งอนาคต อำนาจซื้อสูง

14 ก.ค. 2561 | 11:06 น.
แนะนักการตลาดเฟ้นหากลเม็ดเจาะผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล ชี้เป็นตลาดแห่งอนาคต อำนาจซื้อสูง คุ้นชินเทคโนโลยี กล้านำเทรนด์ ชื่นชอบการหาประสบการณ์ใหม่ ขณะที่แบรนด์สินค้าขยับตัว “นูสกิน” ชงแผนใหม่สร้างโอกาสทำเงิน

ผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล (Millennial) หรือที่เรียกว่า Gen Y คือ ผู้ที่เกิดระหว่างปี2523-2543 ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า 1,800 ล้านคนทั่วโลก และกว่า 20 ล้านคนอยู่ในประเทศไทย วันนี้หลายธุรกิจให้ความสำคัญด้วยจำนวน พฤติกรรม และกำลังซื้อ ทำให้กลุ่มมิลเลนเนียลมีบทบาทเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆในสถานที่ทำงานและแวดวงสังคม

โดยนางสาวบุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า วันนี้นักการตลาดให้ความสำคัญกับกลุ่มมิลเลนเนียลอย่างมาก เพราะมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นตลาดแห่งอนาคต เพราะมีขนาดใหญ่และอำนาจซื้อสูง หากมองในเชิงการตลาด การเพิ่มขึ้นของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลชี้ให้เห็นถึงศักยภาพ ด้านการใช้จ่ายและเม็ดเงินอัดฉีดในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งมีปริมาณคนเข้าสู่ตลาดมากเท่าใด โอกาสของธุรกิจก็มากเท่านั้น เทคนิคง่ายๆในการพิชิตใจผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล คือ สร้างแบรนด์ให้ชัด จัดให้ถูกจริตนิสัย คว้าชัยชนะเหนือคู่แข่ง

[caption id="attachment_297974" align="aligncenter" width="503"] บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์ บุปผา ลาภะวัฒนาพันธ์[/caption]

ขณะเดียวกันนักการตลาดต้องมีการสร้างแบรนด์ให้ชัดเจน และต้องตอบคำถามให้ได้ว่า “มีดีอะไร?” มีอะไรบ้างที่เป็นจุดเด่น? ที่คู่แข่งไม่มี ซึ่งการสร้างแบรนด์ให้ถูกจริตกลุ่มเป้าหมายไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้บริหารและสถานการณ์ที่ธุรกิจเผชิญอยู่ อย่างไรก็ดีสิ่งที่นักการตลาดต้องคำนึงถึงคือ การเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง ด้วยการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาสินค้าเพื่อตอบโจทย์นั้นๆ ขณะเดียวกันก็ต้องมีความชัดเจนของธุรกิจ

อย่างไรก็ดีหากวิเคราะห์พฤติกรรมของกลุ่มมิลเลนเนียล พบว่า ความพร้อมและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่ชัดเจน บ่งบอกความเป็นตัวเอง คุ้นชินกับเทคโนโลยี กล้านำเทรนด์ ไม่ภักดีต่อแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เมื่อผิดหวังก็พร้อมเปลี่ยนใจไปซบแบรนด์อื่น แต่กลุ่มนี้ก็มีกำลังซื้อสูง และอยากได้รับประสบการณ์ที่ดีในแบบฉบับของตัวเอง

“นักการตลาดมักสนใจแต่เรื่องปิดการขาย จนลืมเรื่องการสื่อสาร ซึ่งการเลือกคอนเทนต์และสื่อก็สำคัญไม่แพ้กัน ต้องเหมาะกับพฤติกรรมการเปิดรับสื่อและไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของชาวมิลเลนเนียล อินเตอร์เน็ตกลายเป็นสื่อยอดนิยมสำหรับแชต แชร์ โพสต์ เปรียบเทียบข้อมูลและราคาก่อนตัดสินใจซื้อ สืบจากหลายๆแหล่งเพื่อความมั่นใจ แต่ก็น่าแปลกที่บ่อยครั้งคนกลุ่มนี้กลับตกม้าตายเมื่อเห็นเน็ตไอดอลหรือรีวิว บล็อกเกอร์ เชิญชวนให้ซื้อสินค้าหน้าเพจ”

ทั้งนี้หากเข้าใจพฤติกรรมของมิลเลนเนียล คุณจะรู้ว่าสินค้าทุกประเภทมีโอกาสตอบโจทย์ได้หมด อะไรก็ได้ขอแค่โดนใจ ทำให้สะดวกสบายขึ้น รวดเร็ว สร้างประสบการณ์แบบส่วนบุคคล ทำในสิ่งที่เกินความคาดหมายของพวกเขา ซึ่งต่อไปคำว่า “Service Beyond Expectation” และ “Personalized Experience” จะเป็นกลยุทธ์หลักที่นักการตลาดใช้ในการพิชิตใจผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล ไม่ให้หนีไปไหน แต่อยู่ด้วยหัวใจที่ภักดี

mp36-3382-1 ด้านนางวิภาดา ตั้งปกรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นู สกิน เอ็นเตอร์ไพร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่บริษัทให้ความสนใจและต้องจับตามอง คือ กลุ่มมิลเลนเนียล ที่มีอายุระหว่าง 18-34 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลในการขับเคลื่อนโลกอนาคต เนื่องจากคนกลุ่มนี้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้ดี รวมถึงมีรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป เรียกว่า “กิ๊กอีโคโนมี” (Gig Economy) คือ การทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีรายได้หลายทาง หลายรูปแบบ ทั้ง ฟรีแลนซ์ พาร์ตไทม์ และฟูลไทม์ ซึ่งพบว่าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีกลุ่มคนที่เป็น “กิ๊กอีโคโนมี” มากถึง 34% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ จากปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นที่มาที่ทำให้บริษัทเดินหน้าปรับแผนเพื่อรองรับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยคาดว่าจะสามารถดึงกลุ่มคนเหล่านี้ให้หันมาสนใจธุรกิจด้วยแผนปันผลระบบใหม่ได้

“วันนี้มีคนใช้อินเตอร์ เน็ตมากกว่า 4,000 ล้านคนทั่วโลก โดยคนไทยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตราว 57 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ ที่เชื่อว่าจะช่วยสานต่อธุรกิจ บริษัทจึงเปิดตัวแผนจ่ายผลประโยชน์ให้แก่สมาชิกรูปแบบใหม่ “เวโลซิตี้” ที่มีความยืดหยุ่น สามารถดีไซน์แผนเองได้เพื่อให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง มีความรวดเร็ว ถูกออกแบบมาเพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ รวมถึงกลุ่มคนที่ต้องการทำงานแบบพาร์ตไทม์หรือหารายได้เสริม”

สำหรับหลักการทำงานผ่านโครงสร้างแผนการจ่ายเงินปันผลแบ่งออกเป็น 3 แนวทางด้วยกัน ได้แก่ 1. แชร์ (Share) เพียงแค่สมัครสมาชิกและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ประทับใจก็สามารถสร้างรายได้ ได้ทันที 2. สร้าง (Build) การสร้างกลุ่มของคนที่มีความสามารถในการออกไปแนะนำผลิตภัณฑ์ให้กับผู้อื่นและทำงานร่วมกันจนบรรลุเป้าหมายทำให้เกิดรายได้ต่อเนื่อง 3. นำทีม (Lead) การเข้าสู่องค์กรหรือการทำธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ มีการทำงานเป็นทีม เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจและมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยแผนงานดังกล่าวเน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายเจน Y ที่ชื่นชอบอิสระ

อย่างไรก็ตามปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนของนักธุรกิจที่เป็นคนกลุ่มมิลเลนเนียลราว 25% โดยคาดว่าจากการเปิดตัวแผน “เวโลซิตี้” จะสามารถเพิ่มจำนวนนักธุรกิจในกลุ่มดังกล่าวเข้าสู่ธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 35% และมีการขยายฐานผู้บริโภคเพิ่มขึ้นไม่ตํ่ากว่า 10% ทั้งนี้การปรับแผนจ่ายเงินปันผล “เวโลซิตี้” ในระบบใหม่นี้ถือว่าสัมพันธ์กับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า นู สกิน ไม่ได้แค่มุ่งเน้นพัฒนานวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังมีการพัฒนานวัตกรรมโปรแกรมแผนการปันผลให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์โลกอีกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

................................................................................................

หน้า 36 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,382 ระหว่างวันที่ 12-14 กรกฎาคม 2561