บิ๊กพลังงานตั้งเป้าเติบโต! โกยกำไรอื้อ

09 ก.ค. 2561 | 11:26 น.
090761-1816

3 บิ๊กพลังงาน ตั้งเป้าเติบโต! 'บีซีพีจี' ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงล้อตามนโยบายรัฐ ... 'ไออาร์พีซี' โตกว่าปีที่แล้ว ตอกย้ำโปรเจ็กต์เอเวอเรสต์ ส่วน 'ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' ลั่น! โรงไฟฟ้าขยะขยายตัวต่อเนื่องทุกไตรมาส


02-3381-090761-1814

งานเสวนา "อนาคตพลังงานไทย" จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 3 บริษัทเอกชนจากภาคพลังงานต่างประเมินไปในทิศทางเดียวกันถึงการปรับตัวของธุรกิจพลังงานให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี นโยบายรัฐ และให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก

 

[caption id="attachment_296506" align="aligncenter" width="335"] บัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) บัณฑิต สะเพียรชัย
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บีซีพีจีดำเนินธุรกิจไฟฟ้า ปัจจุบัน นโยบายของกระทรวงพลังงานสอดรับกับกระแสโลก โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาในภาคพลังงานมากขึ้น อาทิ รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เปลี่ยนเชื้อเพลิงจากน้ำมันมาเป็นไฟฟ้า ขณะที่ การส่งเสริมด้านพลังงานทดแทนของประเทศไทย ซึ่ง นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เน้นย้ำถึงความมั่นคง ยั่งยืน และราคาไม่แพงนั้น โดยนโยบายดังกล่าวถูกมองเป็น 2 ด้าน คือ 1.ค่าไฟฟ้าถูกลง ทำให้การขายไฟไปยังภาครัฐ มีมาร์จินที่ลดลง บริษัทจากเดิมที่ขายให้รัฐก็หันไปขายให้กับผู้บริโภคโดยตรง (รีเทล) มากขึ้น ดังนั้น แทนที่จะได้ค่าไฟ 2.50 บาทต่อหน่วย ก็จะอยู่ที่ 3.50-4 บาทต่อหน่วย

และ 2.การรับมือ เมื่อเข้ากลุ่มรีเทลจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วย โดยการทำธุรกิจรีเทลไม่ได้มุ่งหวังในการขาย แต่สิ่งที่เสนอให้ลูกค้า คือ การช่วยให้ลูกค้าได้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ 15% และยังขายไฟฟ้าได้ผ่านแพลตฟอร์มที่ดำเนินการโดยบีซีพีจีนำร่องในโครงการแรก T77 ของบริษัท แสนสิริฯ (SIRI) ที่จะแล้วเสร็จในอีก 2 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ บริษัทยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งการเข้าซื้อกิจการและการลงทุนโครงการใหม่ ส่งผลให้เชื่อมั่นว่าผลประกอบการของบริษัทยังคงเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับการนำเทคโนโลยีของโลก เข้ามาสร้าง "Blockchain Technology" เป็นบล็อกเชนในภาคพลังงาน ที่ใช้ซื้อขายไฟฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ตบนมือถือในรูปแบบ Peer-to-Peer เบื้องต้น โครงการที่ร่วมกับ SIRI ใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งแพลตฟอร์มที่สั่งการจะบริหารจัดการด้านเทคโนโลยี ทำให้ไฟที่ผลิตถูกใช้และขายอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นายบัณฑิต กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ายังเติบโต คาดว่า EBITDA และกำไรยังเติบโตต่อเนื่อง โดยปีนี้วางเป้าหมายต้องเติบโตจากปีก่อน 20% หลังจากบีซีพีจีเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่บริษัทยังเติบโตทั้งกำไรก่อนหักภาษี, ดอกเบี้ยจ่าย และค่าเสื่อม (อีบิตดา) และกำไรสุทธิ ซึ่งจะเห็นว่าโครงการลงทุนต่าง ๆ จะสะท้อนราคาหุ้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่จะเห็นโครงการลงทุนของบีซีพีจีมากขึ้น

ขณะที่ แนวโน้มธุรกิจของบีซีพีจีในปีหน้า ผลประกอบการยังสูงขึ้น เนื่องจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจไฟฟ้าสีเขียว ตรงกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการค่าไฟไม่แพง ยั่งยืน และสมาร์ท นอกจากนี้ บีซีพีจียังเป็นผู้นำด้านพลังงานทดแทน ลงทุนโครงการไฟฟ้าที่มีความมั่นคง อาทิ โซลาร์ฟาร์มบวกแบตเตอรี่ ซึ่งในอนาคตโรงไฟฟ้าแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานต้นทุนจะถูกลงและสะอาดที่สุด

 

[caption id="attachment_296508" align="aligncenter" width="335"] สุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) สุกฤตย์ สุรบถโสภณ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สำหรับธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีเป็นการแข่งขันเสรี และต้องแข่งขันกับต่างประเทศ เพราะราคาอ้างอิงที่ตลาดสิงคโปร์ ทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมี จึงต้องมีแผนที่จะปรับประสิทธิภาพเพื่อให้แข่งขันได้ ตามเป้าหมายจะต้องได้ EBITDA (กำไรก่อนหักดอกเบี้ยและค่าเสื่อมราคา) 29,000 ล้านบาท เผอิญว่าตัวเลข 29,000 ล้านบาท ไปเท่ากับความสูงของยอดเขาเอเวอเรสต์กว่า 29,000 ฟุต จึงตั้งว่า "โปรเจ็กต์เอเวอเรสต์" ทั้งการผลิต การขาย การจัดซื้อ ทั้งองค์กร โดยเป้าหมายเรา คือ จะสร้างอีบิตดาเพิ่ม 10,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ทำไปครบแล้ว 2 ปี ทำไปได้ 7,000 ล้านบาทแล้ว ปีนี้น่าจะครบ 10,000 ล้านบาท คือ โครงการเอเวอเรสต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ไปสู่ท็อปควอร์ไทล์ในปี 2020

"หลักการของเรา ก็คือ ทำอย่างไรที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อแข่งขันกับตลาดโลกได้ ซึ่งดูแล้วปี 2020 จะสามารถพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้แน่นอน เพราะตอนเริ่มโครงการอีบิตดา เราอยู่ที่ 17,000 ล้านบาท ปีที่แล้ว เรา 20,000 ล้านบาท เพราะฉะนั้นอีก 3 ปี ก็น่าจะถึงเป้าหมายจากโครงการทั้งหมดที่มีอยู่ในมือ"

 

[caption id="attachment_296509" align="aligncenter" width="335"] ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP ภัคพล เลี่ยวไพรัตน์
รองกรรมการผู้จัดการ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP[/caption]

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายไม่รับซื้อพลังงานทดแทนในราคาสูงจากรัฐบาล เนื่องจากล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกมาชี้แจงว่า นโยบายดังกล่าวไม่รวมพลังงานไฟฟ้าจากขยะและโซลาร์ประชาชน โดยพลังงานไฟฟ้าจากขยะยังอยู่ในแผน PPP ปี 2558 คือ รับซื้อที่ 500 เมกะวัตต์ ขณะที่ ปัจจุบันรวม ๆ พลังงานไฟฟ้าขยะมีเพียงกว่า 200 เมกะวัตต์เท่านั้น ยังเหลืออีกกว่า 200 เมกะวัตต์ ที่จะต้องค่อย ๆ ประมูล และปัจจุบัน ยังมีการปรับระบบจากการให้โควตาส่วนกลาง แล้วให้เอกชนแต่ละแห่งยื่นเข้าไปว่า ต้องการกี่เมกะวัตต์ มาเป็นการกระจายให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเทศบาลแจกให้เอกชนเอง ซึ่งแต่ละ อบจ. และเทศบาลจะต้องไปออกทีโออาร์และเปิดให้เอกชนประมูลเอง

ดังนั้น สำหรับพลังงานขยะ การรับซื้อไฟฟ้ายังอยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ และราคายังอยู่ที่ FIT โดยจะเห็นว่า รัฐบาลมีแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 508 เมกะวัตต์ มีการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) และเดินเครื่องเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 364 เมกะวัตต์ โดยเป็นไฟจากทีพีไอโพลีน 163 เมกะวัตต์ เหลืออีก 144 เมกะวัตต์ ที่ยังไม่ได้เซ็น PPA และถูกยกเลิกไป อาจจะมีการทบทวนเรื่องราคาใหม่ แต่ก็ยังมีส่วนที่ค้างจากกรอบที่ผ่านมาอีก 78 เมกะวัตต์ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่า ได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับแล้ว ดังนั้น ส่วนนี้ก็จะไม่กระทบค่าไฟยังอยู่ที่กว่า 5 บาท

นอกจากนั้น กระทรวงมหาดไทยยังกำหนดให้การกำจัดขยะเป็นวาระแห่งชาติ จึงเป็นที่มาของการโยนโควตาให้กับเทศบาลและ อบจ. แต่ละจังหวัด ออกทีโออาร์และเปิดประมูลเอง ซึ่งค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานอาจจะรับซื้อไม่สูง แต่กระทรวงมหาดไทยจะให้ค่ากำจัดขยะ ซึ่งจะต่างกันตามแต่ละเมือง ดังนั้น จะมีค่ากำจัดขยะแฝงอยู่ในโรงไฟฟ้าที่ TPIPP จะได้รับด้วย

สำหรับผลประกอบการของ TPIPP ปีนี้บริษัทจะเติบโตทุกไตรมาส เนื่องจากจะมีโรงไฟฟ้าใหม่เริ่มเปิดดำเนินการ โดยช่วงไตรมาส 1 ต่อเนื่องไตรมาส 2 จะเปิดดำเนินการในโรงที่ 6 และช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องไตรมาส 3 จะเปิดดำเนินการโรงที่ 7 และช่วงไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 จะเปิดดำเนินการโรงที่ 8 ซึ่งหากเทียบปี 2560 บริษัทเติบโตทั้งรายได้และกำไรสุทธิ โดยกำไรสุทธิเติบโตจาก 1,800 ล้านบาท เป็น 2,400 ล้านบาท เติบโต 25% ขณะที่ รายได้ 3,000 เป็น 4,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 20% และไตรมาสแรกที่ผ่านมา มีรายได้รวม 1,350 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 750 ล้านบาท หากคูณ 4 จะสูงกว่าปีก่อน ทั้งรายได้และกำไรเช่นกัน

"ปีนี้การรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าอาจจะบางส่วน แต่ปีหน้าจะรับรู้รายได้เต็มปี ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า บริษัทจะมีรายได้ปี 2562 รวม 12,000-14,000 ล้านบาท และกำไรสุทธิประมาณ 5-6 พันล้านบาท"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8-11 ก.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มพลังงานยังน่าสนใจไหมในสายตาต่างชาติ
เฟ้นหุ้นพลังงานทำเงิน! KS ฟันธงปลายปีนี้ ดัชนีมีโอกาสแตะ 1800-1900 จุด


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว