สงครามค่าเงินดันเงินร้อนทะลัก ไหลเข้าบอนด์สั้นพุ่ง 4.6 หมื่นล้าน

04 ก.พ. 2559 | 03:00 น.
เงินร้อนทะลักเข้าตราสารหนี้ระยะสั้นพุ่ง 4.6 หมื่นล้าน หลังธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน ดันมันนี่ ซัพพลายท่วม นักวิเคราะห์คาดต่างชาติเก็งกำไรค่าบาท ฟากตลาดหุ้นบล.ภัทร มองหุ้นไทยยังผันผวนทั้งปี กดดัชนีให้เป้า 1,350 - 1,380 จุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะเลือกจังหวะลงทุนสั้น ส่วน TMB คาดไตรมาสแรกยังเห็นธนาคารกลางจีน ,ยุโรป อัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อตลาดเงินในระยะข้างหน้าคือ การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ( BOJ) จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น หรือการที่ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจจีนจะถดถอยลงหรือไม่ ทั้งนี้ต้องจับตาดูตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ และที่ผ่านมาตัวเลขในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ดีนัก เฟดจึงต้องรอดูพร้อมประเมินเศรษฐกิจโลก ซึ่งภาพรวมยังมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบของ BOJ ส่งผลเชิงบวกต่อญี่ปุ่น ทำให้เงินเยนอ่อนค่า ตลาดหุ้นโตเกียวปรับขึ้น โดยหลังประกาศค่าเงินเยนอ่อนมาอยู่ที่ 121 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมอยู่ที่ระดับ 117 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่มาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อภาคเศรษฐกิจกิจญี่ปุ่นอย่างไรยังต้องติดตามอีกระยะ โดยเฉพาะหากธนาคารพาณิชย์ยังถือสภาพคล่องไว้โดยไม่ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ของนโยบายดอกเบี้ยติดลบครั้งนี้ ขณะที่เงินเฟ้อยังห่างเป้าที่ระดับ 2% ดังนั้นแนวโน้มในอีก 4-5 เดือนหลัง BOJ ประชุมในวันที่ 14-15 มีนาคม 2559 หากเศรษฐกิจจีนยังแย่ ก็มีโอกาสที่ BOJ จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น

"การที่ธนาคารกลางต่างดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเพื่อประคองเศรษฐกิจ รวมทั้งแนวโน้มที่ BOJ จะเดินนโยบายดอกเบี้ยติดลบมากขึ้น อีกทั้งการที่เฟดคงดอกเบี้ยต่อ เหล่านี้จะเป็นปัจจัยบวกดันให้เม็ดเงินกลับไหลเข้ามาหล่อเลี้ยงตลาดเงินและตลาดทุน แต่ตลาดหุ้นจะดีช่วงสั้นๆ เพราะนโยบายการเงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้ตลาดหุ้นดีตลอด ยังมีปัจจัยด้านราคาน้ำมัน ,ผลประกอบการของบริษัทเอกชนที่ต้องติดตาม"

อย่างไรก็ดีในระยะหลังนักลงทุนต่างชาติ จะกลับเข้ามาโดยเลือกลงทุนตราสารหนี้หรือพันธบัตรระยะสั้น เฉลี่ยไม่เกิน 1เดือนเพื่อลดความเสี่ยง เพราะตลาดตีความทิศทางอัตราแลกเปลี่ยนแกว่งตัว

[caption id="attachment_29659" align="aligncenter" width="396"] จิติพล พฤกษาเมธานันท์ จิติพล พฤกษาเมธานันท์[/caption]

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า ไตรมาสแรก คาดว่าจะเป็นช่วงที่อาจได้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายการเงินของทั้งธนาคารกลางจีน (PBOC) และธนาคารกลางยุโรป ( ECB ) ต่อ ทำให้ค่าเงินยูโรและหยวนมีโอกาสอ่อนค่าอีกเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังต้องวัดใจว่าในไตรมาสที่สอง เฟดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่ เพราะถ้าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเกิน จากที่ธนาคารกลางอื่นปรับลดดอกเบี้ยแข่ง ก็มีแนวโน้มที่เฟดอาจจะเปลี่ยนใจเลื่อนการปรับดอกเบี้ยขึ้นออกไปอีก ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นค่าเงินจะอ่อนตัว ส่งผลให้สกุลเงินในภูมิภาคมีโอกาสจะแข็งค่าขึ้น

ทั้งนี้ทีเอ็มบีคาดว่าค่าเงินบาทปลายปีจะอยู่ระดับ 36.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอีกแต่ไม่มาก ความเสี่ยงก็จะมาจากการที่เฟดเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ส่วนคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คาดว่าจะไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อเลยในปีนี้ ดังนั้นถ้าเฟดเลื่อนขึ้นดอกเบี้ยไปก่อนจริงคงไม่มีความจำเป็นที่ดอกเบี้ยนโยบายไทยจะปรับขึ้น

ส่วนด้านเงินทุนไหลเข้านั้น เริ่มเห็นชัดว่ามีเงินทุนไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียแล้ว สังเกตุได้จากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ10ปี ลดดลงราว 0.10 -0.15% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ถือว่าปรับตัวลงมากเมื่อเทียบกับการลดดอกเบี้ยของบีโอเจ เพียง 0.20% (จาก 0.1% เป็น -0.1%) ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี จนมาถึงปัจจุบันเงินทุนไหลเข้าตราสารหนี้ของไทยอยู่ที่ราว 1.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

" เราเชื่อว่าเงินทุนจะยังไหลเข้าตราสารหนี้ในภูมิภาคเอเชียอยู่ จากแนวโน้มที่ธนาคารกลางอื่นๆ เช่น PBOC และ ECB ยังมีทีท่าว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยหรือเพิ่มปริมาณคิวอีอยู่ ซึ่งจะทำให้เงินทุนเริ่มไหลออกไปยังประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และนักลงทุนบางส่วนก็ยังมีความหวังว่า ธปท. อาจออกโรงกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยอีก 0.25% ในเร็วๆนี้ด้วย

ในส่วนของหุ้นอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดเจนนัก เนื่องจากจะต้องรอดูผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการลดดอกเบี้ยดังกล่าวก่อน ซึ่งจุดสำคัญจะอยู่ที่เศรษฐกิจจีน ถ้าการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนส่งผลให้จีนยังรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในระดับ 6.5-7% ในช่วงครึ่งปีแรก ก็มีความเป็นไปได้ที่เงินลงทุนจะเริ่มไหลกลับเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

สอดคล้องกับนายชยนนท์ รักกาญจนันท์ กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน (บลน.) อินฟินิติ กล่าวให้ความเห็นถึงกรณีที่BOJใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ 0.10% ว่า ในช่วง 6 วันทำการล่าสุด (ถึง 1 ก.พ. 59 ) พบแรงซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยเกินกว่า 4 หมื่นล้านบาท และค่าเงินบาทแข็งค่าจาก 36.4 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาแตะที่ 35.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนว่าเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นไทย สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นในระยะสั้นเมื่อเทียบกับสกุลเยน, รวมถึงยูโรและดอลลาร์สหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ทิศทางยังคงไม่ชัดเจนว่า ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าได้นานแค่ไหนเพียงใด เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีมุมมองว่าเฟด จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้เช่นเดิม ทำให้ในระยะยาวค่าเงินบาทควรจะอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เงินทุนเคลื่อนย้าย (Fund Flow) ที่ไหลเข้ามาจากสกุลเงินยูโร และเยนอาจจะช่วยหนุนให้ค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่ารุนแรง เพราะทั้งยูโรโซน ,ญี่ปุ่น รวมทั้งจีนยังมีความต้องการให้ค่าเงินตัวเองอ่อนค่าอยู่

"มองแนวโน้มภายในสัปดาห์หน้า ค่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาอ่อนค่าเล็กน้อย โดยมีแนวต้านที่ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากกนง.ประชุมเสร็จแล้ว"

ด้านนายวิกิจ ถิรวรรณรัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค บริษัทหลักทรัพย์(บล.)บัวหลวง จำกัด กล่าวว่า กรณีธนาคารกลางทั่วโลกหันมาใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่ม เท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ ขณะเดียวกันจะทำให้เงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าเอเชียรวมตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ไทย อีกทั้งยังทำให้เงินที่จะไหลออกชะลอตัว

สำหรับตลาดตราสารหนี้ไทยนั้นเป็นการไหลเข้าพันธบัตรระยะสั้น สะท้อนว่านักลงทุนต่างชาติกำลังเก็งกำไรค่าเงินบาทชัดเจน และคาดว่าจะมีเงินบางส่วนไหลเข้ามาพักในตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ หรือบิ๊กแคป ที่ปันผลดี เมื่อราคาตราสารนี้แพงขึ้นซึ่งทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลดลง

รายงานข้อมูลจากบทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ไทยต่อเนื่องติดต่อกัน 6 วัน (สิ้นสุด 1 ก.พ.59 ) มูลค่ารวม 4.6 หมื่นล้านบาท กดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน มีเงินไหลเข้าตราสารหนี้ระยะสั้นกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท สาเหตุที่มีเงินไหลเข้าเนื่องจากการที่เฟดไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุด (26-27 ม.ค.59 ) ส่งผลให้เงินที่จะไหลกลับสหรัฐฯชะลอลง

นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บล. ทรีนิตี้ กล่าวว่า ผลกระทบจากการที่ BOJ ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า ถือเป็นการเริ่มต้นของสงครามค่าเงินอีกรอบหนึ่ง โดยอัตราแลกเปลี่ยนดอลลาร์สหรัฐฯ –ค่าเงินหยวน อาจอ่อนค่า และประเทศที่เป็นคู่แข่งทางการค้ากับประเทศญี่ปุ่นจะมีค่าเงินที่อ่อนตัวตาม

ส่วนค่าเงินของประเทศเกิดใหม่ รวมประเทศไทย จะแข็งค่าขึ้นชั่วคราว ซึ่งเป็นผลจากมีเงินไหลเข้าซื้อพันธบัตร ขณะที่มองว่าธนาคารกลางของประเทศในเอชีย อาจต้องมีนโยบายการเงินเชิงผ่อนคลายตาม BOJ และไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้

นางกุลนันท์ ซานไทโว กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าสายงานลูกค้าบุคคล บล.ภัทร กล่าวว่า บล.ภัทร ยังมองหุ้นไทยตลอดทั้งปีจะยังผันผวน โดยคาดว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET) สิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,350 - 1,380 จุด บนเงื่อนไขจีดีพีปีนี้โต 2-3% ปัจจัยที่ต้องจับตา คือ ปัญหาภัยแล้ง การเมือง และส่งออกเป็นหลัก โดยประเมินส่งออกขยายตัว 1-2% คาดการณ์ราคาน้ำมันปีนี้เฉลี่ยที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อ บาร์เรล ให้น้ำหนักลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่วนหุ้นกู้ควรลงทุนอายุไม่เกิน 3 ปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559