'ดิจิตอลไอดี' ยืนยันตัวตน กู้ได้ทุกแบงก์!

07 ก.ค. 2561 | 17:01 น.
070761-2349

เดินเครื่องบริษัท NDID ให้บริการระบบกลางยืนยันตัวตนดิจิตอล ไอดีเดียวทำธุรกรรมข้ามแบงก์ เชื่อม อี-เซอร์วิส ดึง 'จิระพงศ์' นั่งเอ็มดีคนแรก พร้อมเปิดตัว ก.ย. นี้ ด้าน เอ็ตด้า เผย เร่งกำหนดมาตรฐานดิจิตอลไอดีให้หน่วยงานกำกับใช้อ้างอิง

แหล่งข่าวจาก บริษัท เนชั่นแนลดิจิตอลไอดีฯ (National Digital ID) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้าภายหลังจัดตั้งบริษัทดังกล่าว ด้วยทุนประเดิม 100 ล้านบาท
ว่า บริษัทเตรียมจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย. นี้ โดยปัจจุบัน บริษัทอยู่ระหว่างทดสอบโปรแกรมกับธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ซึ่งเป็นกระบวนการซักซ้อมก่อนที่ธนาคารจะเปิดให้บริการสำหรับการเปิดบัญชีของลูกค้า พร้อมทดสอบระบบกลางสำหรับการวิเคราะห์ตัวตน

 

[caption id="attachment_296166" align="aligncenter" width="307"] ©GDJ ©GDJ[/caption]

ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า กรณีลูกค้าต้องการเปิดบัญชีใหม่ สามารถเปิดบัญชีผ่านแอพพลิเคชัน หรือ เว็บไซต์ ของแต่ละธนาคาร เช่น เมื่อลูกค้ากรอกข้อมูลพื้นฐานในการเปิดบัญชีกับธนาคาร A ธนาคารจะสามารถตรวจสอบประวัตฐานข้อมูลดังกล่าวได้ โดยระบบของบริษัทจะทำการตรวจสอบ และกรณีลูกค้าทำธุรกรรมกับธนาคาร B ทางธนาคารแห่งนี้ก็จะสามารถดึงข้อมูลพื้นฐานดังกล่าวจากธนาคาร A โดยลูกค้าไม่ต้องกรอกข้อมูลอีก ขณะเดียวกันระบบจะทำการยืนยันตัวตนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การพิสูจน์ตัวตนทางชีวภาพ หรือ สแกนม่านตา นอกจากการถ่ายรูปปกติ

ปัจจุบัน บริษัท NDID ทำงานควบคู่กัน ทั้งทดสอบระบบกับธนาคารพาณิชย์บางส่วน เพื่อให้แน่ใจว่า เมื่อเดินระบบแล้วจะสามารถดึงข้อมูลระหว่างกันได้ จากนั้นจึงจะให้ยืนยันตัวตน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การพิสูจน์ยืนยันตัวตนทางดิจิตอลคืบหน้านำเสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนทางด้านดิจิทัล (บอร์ดไอดี) แล้ว โดยขั้นตอนรอสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) แก้ไขครั้งสุดท้ายก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.

 

[caption id="attachment_296167" align="aligncenter" width="503"] ©Clker-Free-Vector-Images ©Clker-Free-Vector-Images[/caption]

ขณะเดียวกัน บริษัทได้มอบโจทย์ให้ นายจิระพงศ์ เลาห์ขจร อดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายและการตลาด บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการผู้จัดการคนแรก ศึกษาทั้งงบประมาณและแผนดำเนินงาน เพราะอาจจะต้องเพิ่มทุนใหม่ เพื่อลงทุนในซอฟต์แวร์ด้วย และตอนนี้บริษัทกำลังเปิดรับสมัครทีมงาน โดยตั้งใจจะเปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการภายในเดือน ก.ย. อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้จะมีภาครัฐกับธนาคารบางส่วนให้บริการเชื่อมต่อข้อมูล ก่อนจะเชื่อมหน่วยงานผู้ให้ข้อมูลได้ทั้งระบบ รวมถึงการยินยอมให้ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงาน หรือ e-Consent เพื่อยืนยันตัวตนทางดิจิตอล สำหรับการขอสินเชื่อลูกค้ารายใหม่

ด้าน นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า (ETDA) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เอ็ตด้าไม่ได้ร่วมจัดตั้ง บริษัท National Digital ID แต่เข้าไปช่วยจัดทำมาตรฐานต่าง ๆ โดยเอ็ตด้าได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาระบบดิจิตอลไอดี (Digital ID) ให้พัฒนาระบบยืนยันตัวตน ซึ่งใช้มาตรฐาน Open ID Connect เพื่อทำให้ อี-เซอร์วิส (e-Service) ของหน่วยงานภาครัฐสามารถแชร์ไอดี (ID) จากหน่วยงานอื่น ๆ ได้ เช่น นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสามารถใช้ ID นักศึกษา ซึ่งออกโดยมหาวิทยาลัยในการขอยื่นกู้เงินกองทุนเพื่อการศึกษาจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อนาคตทำให้ประชาชนไม่ต้องมีไอดีหลาย ๆ อัน สำหรับการใช้บริการภาครัฐ

 

[caption id="attachment_296168" align="aligncenter" width="503"] ©TayebMEZAHDIA ©TayebMEZAHDIA[/caption]

นอกจากนี้ เอ็ตด้ายังได้กำหนดมาตรฐานสำหรับดิจิตอลไอดี (Digital ID) เพื่อให้หน่วยงานกำกับอื่น ๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) , สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) , สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ใช้อ้างอิงในการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนกับหน่วยงานที่อยู่ใต้การกำกับดูแล เช่น ธนาคาร บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันภัย ผู้ให้บริการมือถือ ซึ่งคาดว่าตัวมาตรฐานน่าจะประกาศใช้ได้ในเดือน ส.ค. 2561

ด้าน นายบัณฑิต เจียมอนุกูลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเจนเนอราลี่ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การนำระบบ National ID มาใช้ในธุรกิจประกันนั้น จะมาช่วยในเรื่องการพิสูจน์ตัวตน (E-KYC) ให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ลูกค้าจะต้องกรอกข้อมูลซ้ำ ๆ เวลาทำธุรกรรม ทำให้เกิดความยุ่งยากเสียเวลา แต่หากระบบนี้สามารถพัฒนาและนำมาใช้จะช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ให้สั้นลง สามารถดึงข้อมูลมาใช้ร่วมกันในจุดเดียว ลูกค้าไม่ต้องทำข้อมูล หรือ กรอกข้อมูลเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งในส่วนของลูกค้าและผู้ประกอบการ

 

[caption id="attachment_296169" align="aligncenter" width="503"] ©blickpixel ©blickpixel[/caption]

"เราเป็นหนึ่งที่ลงทุนด้วย แต่ลงทุนผ่านสมาคมประกันชีวิตไทย ซึ่งให้สมาคมเป็นคนดูแลและนำแผนงานมาบอกเราอีกที แต่เชื่อว่าระบบดังกล่าวหากนำมาใช้ อย่างน้อยจะช่วยเรื่องพิสูจน์ตัวตน เพราะตอนนี้ลูกค้าต้องมานั่งบอกที่อยู่ซ้ำ ๆ เดิม ทั้งที่บ้านไม่ได้เปลี่ยน แต่ต้องบอกทุกครั้งที่ทำธุรกรรม หากเราสามารถขจัดขั้นตอนนี้ไปรวมจุดเดียว ก็เป็นเรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อลูกค้าเองรวมถึงเราด้วย"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 ก.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ทุ่ม100 ล.ผุด‘ดิจิตอลไอดี’ รัฐผนึกเอกชนสร้างแพลตฟอร์มยืนยันตัวออนไลน์
เร่งเครื่อง‘ดิจิตอลไอดี’คลังมั่นใจทันใช้มิ.ย.61


e-book-1-503x62