สัมพันธ์แน่นแฟ้นไทย-ฮ่องกง กับบทบาทสำคัญใน Belt & Road

07 ก.ค. 2561 | 11:24 น.
 

569695

20180628085017

ฮ่องกงวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงประเทศผู้ส่งออกสินค้าอุตสาห กรรมรายใหญ่ และไม่ได้เป็นเพียงเมืองท่าและศูนย์กลางการเงินที่ยิ่งใหญ่แห่งภูมิภาค หากแต่เป็นหัวใจสำคัญที่มีส่วนผลักดันให้เอเชียเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลกและเป็นหัวหอกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือทางการค้าการลงทุนเคียงคู่ขนานกับการเชื่อมโยงเส้นทางยุทธศาสตร์ ตามแนวนโยบาย Belt and Road Initiative (BRI) ไม่เพียงกับประเทศในเอเชียแต่กับพันธมิตรในภูมิภาคอื่นของโลกด้วย

การประชุมสุดยอดว่าด้วยเส้นทางสายไหมยุคใหม่ หรือ Belt & Road Summit ซึ่งจัดขึ้นที่ฮ่องกงในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ตรงกับวันที่ 28 มิถุนายน 2561 โดยรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง และองค์การสภาพัฒนาการค้าฮ่องกง (HKTDC) ภายใต้สโลแกน Collaboration for Success หรือการประสานความร่วมมือสู่ความสำเร็จ ปีนี้ประเทศไทยไม่เพียงได้รับเกียรติเข้าร่วมเป็นองค์ปาฐถกาเปิดงานโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แต่ยังมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOUs) ระหว่างหน่วยงานและบริษัทเอกชนของฮ่องกงกับหน่วยงานและบริษัทเอกชนไทยถึง 6 ฉบับด้วยกัน สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมือที่เหนียวแน่นของไทยและฮ่องกง รวมทั้งบทบาทของไทยในโครงการเส้นทางสายไหมซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มี “ฮ่องกง” เป็น “ซูเปอร์ คอนเนกเตอร์” หรือผู้เชื่อมโยงที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งยวด
BRI2 “ในความเห็นของผม เสือเศรษฐกิจแห่งเอเชียตัวนี้ได้รับการติดปีกให้เป็นเสือทรงพลังที่บินได้และปีกนั้นก็คือบทบาทที่ได้รับการคาดหวังและมอบหมายจาก Belt and Road Initiative ที่ลือลั่นของจีนนั่นเอง” ดร.สมคิด รองนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทของฮ่องกงในยุทธศาสตร์ Belt and Road ในปาฐกถาพิเศษเปิดงาน พร้อมทั้งระบุว่า นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการเสริมสร้างความสัมพันธ์ของประเทศในเอเชีย!

เนื่องจากปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ของโลกได้มีการปรับตัวอย่างรุนแรงนับแต่วันที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาได้ประกาศนโยบายการต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจใหม่โดยเน้น America First มาตรการที่ติดตามมา ไม่ว่าเรื่อง NAFTA การถอนตัว จาก TPP การถอนตัวจากสนธิสัญญาปารีส มาตรการด้านภาษีเพื่อตอบโต้ทางการค้า และความไม่เป็นหนึ่งเดียวของการประชุมล่าสุดของ G7 ล้วนมีผลให้ระเบียบโลกทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่สหรัฐฯคือผู้แข็งขันในการจัดตั้งในอดีต สั่นคลอนและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน มาถึงวันนี้ก็ยังหาจุดเสถียรหรือจุดสมดุลใหม่ไม่ได้  แต่ปรากฏการณ์หนึ่งกลับก่อตัวขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นคือการขยับเพื่อปรับตัวของความร่วมมือใหม่โดยกลุ่มประเทศต่างๆในโลก ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจและมิติด้านความมั่นคง
BRI1 ที่เด่นชัดที่สุดและมีนัยสำคัญสูงสุดนั้นกำลังเกิดขึ้นที่เอเชีย นั่นคือการก่อตัวของ RCEP หรือเขตความร่วมมือการค้าเสรีใหม่ที่มีจุดเริ่มจากAsean บวก 6 ประเทศคู่เจรจา ที่ครอบคลุมประชากรและจีดีพีกว่าครึ่งโลก คาดว่าวันที่จะบรรลุข้อตกลงจะเกิดขึ้นในไม่ช้า  แต่ที่มีการกล่าวขวัญกันมากที่สุดและเริ่มเห็นความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็คือ Belt and Road Initiative (BRI) ที่ขับเคลื่อนโดยจีน และคำประกาศที่ติดตามมาของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ในการประชุม Boa forum ที่จะสนับสนุนและจรรโลงแนวคิดการค้าเสรี ตลอดจนการสนับสนุนให้ประเทศต่างๆ สามารถเชื่อมโยงถึงกันและกันด้วยเส้นทางสายไหมยุคใหม่นั่นเอง

“จังหวะเวลาในการจัด BRI Summit ในครั้งนี้ ถือว่าเหมาะสมอย่างยิ่งในเชิงของสถานการณ์ ในยามที่เอเชียกำลังทะยาน และในจังหวะที่โครงการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ BRI กำลังเริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างน่าพอใจ เส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์เป้าหมายหลายเส้นทางได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โครงการรถไฟเชื่อมจีนสู่ยุโรปก็กำลังไปได้ดี เส้นทางรถไฟข้ามทวีป (transcontinental rail) เชื่อมโยงจีนผ่านมองโกเลียก็กำลังถูกขับเคลื่อนพร้อมๆไปกับโครงการสร้างท่าเรือตามเส้นทางเลียบมหาสมุทรอินเดีย ในขณะเดียวกัน งานก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีนตอนใต้ผ่านลาวและไทยลงใต้สู่อาเซียนล้วนอยู่ในระหว่างก่อสร้างหรือในขั้นตอนที่กำลังวางแผนร่วมกัน เส้นทางสู่ลาวกำลังคืบหน้าไปมากในขณะที่ เฟส 1 หรือขั้นแรกของเส้นทางรถไฟไทย-จีนก็กำลังก่อสร้างและจะไปบรรจบกับลาวในไม่ช้า” ดร.สมคิดกล่าว
20180628092623 ในส่วนของประเทศไทยนั้น ยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงกับ BRI นั้น มิใช่อยู่ที่ความร่วมมือในการสร้างรถไฟความเร็วสูงแต่เพียงอย่างเดียว แต่ในขณะนี้ ไทยกำลังเร่งสร้างทางรถไฟรางคู่ขนานกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี)  คู่ขนานไปสู่ลาว และยังจะเชื่อมไปถึงกัมพูชาในทิศตะวันออกและไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่เมียนมา เพื่อรองรับทั้งการขนส่งประชาชน นักท่องเที่ยวและสินค้าระหว่างกัน ซึ่งในอนาคตเราจะเห็นการเชื่อมโยงทั้งการค้าการลงทุนและนักท่องเที่ยวระหว่างจีนกับประเทศในอาเซียนโดยรวม ความเชื่อมโยงนี้ยังครอบคลุมถึงเส้นทางถนน ที่กำลังเร่งเชื่อมโยงผ่านเมียนมาและลาวสู่จีนตอนใต้และผ่านเมียนมา สู่อินเดียและบังกลาเทศ

ในกรณีของประเทศไทยนั้น Belt and Road ได้แสดงให้เห็นผลอย่างชัดเจนในการสร้างประโยชน์เศรษฐกิจร่วมกัน คณะนักลงทุนไม่ว่าจากแผ่นดินใหญ่ หรือจากฮ่องกง ได้หลั่งไหลตามเส้นทาง Belt and Road เข้ามาติดต่อ ประสาน และลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเล็งเห็นโอกาสใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคตประโยชน์ทางเศรษฐกิจเหล่านี้ย่อมมิได้จำกัดอยู่ที่ประเทศไทยเท่านั้น แต่จะขยายตัวครอบคลุมสู่ทั้งภูมิภาคเพราะความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และหากเส้นทางรถไฟและเส้นทางคมนาคมอื่นๆ เสร็จสมบูรณ์ การเชื่อมโยงของทั้งคนและสินค้าจะทวีขึ้นอย่างมหาศาล การเชื่อมโยงทางอินเตอร์เน็ตที่จะนำไปสู่การค้า e-commerce การขยายตัวของโลจิสติกส์ที่จะตามมา ยังผลให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวางอันจะส่งผลให้เกิดการเติบโตและการกระจายรายได้ทางเศรษฐกิจของทั้งภูมิภาคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
20180628092629 บันทึกความเข้าใจไทย-ฮ่องกง 6 ฉบับ ที่มีขึ้นในวันที่ 28 มิถุนายน 2561

1. ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างบริษัท Ho & Partners Architects Engineers & Development Consultants กับบริษัท Life and Living จํากัด เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล

ที่เกี่ยวข้องกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานอื่น

2. บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท CLP Innovation Enterprise กับบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จํากัด เพื่อร่วมกัน พัฒนาและทดสอบรูปแบบทางธุรกิจในโครงสร้างพื้นฐานด้าน พลังงานของนิคมอุตสาหกรรมอมตะ อาทิ โครงการแผงพลัง แสงอาทิตย์

3. บันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ ของโครงการเปลี่ยนสายไฟอากาศเป็นสายใต้ดินระหว่างบริษัท Hong Kong Energy Infrastructure กับการไฟฟ้านครหลวง

4. บันทึกความเข้าใจระหว่าง HKTDC กับกรมส่งเสริม อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อระบุรายละเอียดของ ความร่วมมือเพิ่มเติมจาก MOU ฉบับเดิม โดยเฉพาะการแลก เปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์

5. ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้น ทางระหว่าง HKTDC กับธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน)

6. ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้น ทางระหว่าง HKTDC กับธนาคารไทยพาณิชย์ จํากัด (มหาชน)

| รายงาน : สัมพันธ์แน่นแฟ้นไทย-ฮ่องกง กับบทบาทสำคัญใน Belt & Road
| โดย : โต๊ะข่าวต่างประเทศ
| เชกชั่น : เศรษฐกิจต่างประเทศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 10 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2561

e-book-1-503x62