"8 ทิปส์ดีดี" กับการขี่มอเตอร์ไซค์ในหน้าฝน

20 ก.ค. 2561 | 11:55 น.
ถือเป็นฤดูกาลที่เหล่าไบค์เกอร์ขยาด! และไม่ชื่นชอบเท่าไรนักสำหรับหน้าฝน เพราะเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ และต้องเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่มากขึ้น เนื่องจากทัศนวิศัยด้านหน้าไม่ดี ยิ่งถนนที่เปียกลื่น ก็ยิ่งส่งผลต่อการขับขี่ อย่างไรก็ดี เหล่าไบค์เกอร์ทั้งหลายก็คงหนีไม่พ้นและคาดเดากันไม่ได้ว่า ฝนจะตกเมื่อไหร่

วันนี้ รอยัล เอนฟิลด์ ประเทศไทย จึงได้แนะนำ 8 ทิปส์ดี ๆ ในการเตรียมตัวและการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ให้ปลอดภัย และพร้อมลุยฝนอย่างหายห่วง ประกอบไปด้วย

 

[caption id="attachment_296019" align="aligncenter" width="335"] royal final create royal final create[/caption]

1.เครื่องแต่งกายต้องครบ
การขับขี่มอเตอร์ไซค์โดยทั่วไป ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเบื้องต้นให้ครบอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น หมวกกันน็อก ถุงมือ รองเท้า เสื้อแจ็คเก็ต และกางเกงขายาว ซึ่งการขี่รถมอเตอร์ไซค์ในช่วงหน้าฝน จำเป็นต้องสวมใส่อุปกรณ์เหล่านี้ให้ครบเช่นเดียวกัน แต่อาจต้องใส่ใจรายละเอียดอุปกรณ์มากกว่าเดิม ได้แก่

● หมวกกันน็อก จำเป็นต้องเลือกหมวกแบบปิดหน้าที่มีวินด์ชิลด์ (Windshield) เพื่อกันฝนสาดเข้าใบหน้าและดวงตาเวลาขับขี่ (สเปรย์ฉีดที่ชิลด์ให้น้ำฝนไม่เกาะ)

● อุปกรณ์การขับขี่ ควรเลือกแบบกันน้ำ ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า และแจ็คเก็ต ซึ่งการขับขี่ของเราสะดวกสบายเวลาฝนตก เสื้อผ้าไม่เปียกน้ำ ตัวเราไม่เปียกชื้น ทั้งนี้ การสวมใส่เสื้อผ้าเปียกน้ำและยังฝืนขับขี่ ทำให้เกิดร่างกายหนาวเย็นและชาด้าน ส่งผลให้ตอบสนองการขับขี่ไม่ทันท่วงที

● ชุดกันฝน บางครั้งฝนก็ตกมาแบบไม่ทันตั้งตัว มีเสื้อกันฝนสำรองไว้ใต้เบาะสักตัว ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยเราได้ในยามฉุกเฉิน

2.เตรียมพร้อมรถคู่ใจ
เมื่อเตรียมตัวและอุปกรณ์สวมใส่ตัวพร้อมแล้ว อย่าลืมเช็กรถคู่ใจกันต่อ สิ่งที่ควรเช็ก ได้แก่

● ยาง เช็กความลึกดอกยางว่าเหลือความลึกยางเท่าไร การเช็กเบื้องต้นง่าย ๆ ให้สังเกตดูปุ่มสะพานยาง หากหน้ายางสึกจนถึงปุ่มสะพานยาง แสดงว่า ถึงเวลาต้องเปลี่ยนยางเส้นใหม่ และอย่าลืมเติมลมยางให้เหมาะสมตามคำแนะนำจากบริษัทผู้ผลิตรถ

● เบรก การหยุดรถเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ เช็กน้ำมันเบรก ผ้าเบรก และกลไกทั้งหมดว่า ทำงานได้เป็นปกติ

● ของเหลว ไม่มีรอยรั่วซึม เปลี่ยนน้ำมันเครื่องตามระยะเปลี่ยนถ่าย โดยเฉพาะหน้าฝน ตรวจสอบว่า น้ำมันเครื่องเปลี่ยนสีหรือไม่ หากมีสีขาวขุ่นผสม แสดงว่า มีน้ำมันปนเปื้อน ต้องรีบเปลี่ยนน้ำมันเครื่องใหม่ ระบบไฟ เช็กอุปกรณ์ให้ความสว่างและสัญญาณไฟทุกชิ้นว่า ทำงานได้อย่างปกติ

● อุปกรณ์อื่น ๆ ไล่ตั้งแต่หัวเทียน กรองอากาศ ฯลฯ ต้องอยู่ในสภาพปกติน๊อตต่าง ๆ ต้องขันให้แน่น

3.ใช้โช๊คช่วยสตาร์ท
รถมอเตอร์ไซค์อาจประสบปัญหาสตาร์ทติดยากในวันที่ฝนตก อากาศเย็น ลองเรียนรู้วิธีการใช้ระบบโช๊ค (Air Control System) ในการสตาร์ทรถ ซึ่งช่วยให้การสตาร์ทรถกลายเป็นเรื่องง่ายนิดเดียว โดยโยกเปิดโช๊ค (ปกติอยู่ใต้แฮนด์ซ้าย) จากนั้นจึงสตาร์ทรถและโยกปิดโช๊คเมื่อรถสตาร์ทติดแล้ว

4.เผื่อระยะเบรก
เบรกตามปกติ โดยเบรกหลังก่อนและตามเบรกด้วยหน้า เพื่อหยุดรถอย่างมีประสิทธิภาพ แต่อาจต้องเผื่อระยะการหยุดรถให้มากขึ้น เนื่องจากถนนลื่นทำให้รถต้องใช้ระยะหยุดรถที่ยาวมากขึ้น เพิ่มสัดส่วนการใช้เบรกหน้าและหลัง เช่น 60-40%

5.ลดความเร็ว
ใช้ความเร็วลดลงเมื่อต้องขี่ฝ่าฝน เนื่องจากฟิล์มน้ำบนผิวถนน ทำให้ยางรถเกาะถนนน้อยลง หรือไม่สัมผัสกับผิวถนน และยังเป็นอุปสรรคต่อการเข้าโค้ง เลือกใช้ความเร็วต่ำลง เพื่อความปลอดภัยของตนเอง

6.หลีกเลี่ยงแอ่งน้ำ
ใต้แอ่งน้ำที่ราบเรียบ อาจมีหลุมบ่อขนาดใหญ่ซ่อนอยู่ได้ ยิ่งเป็นถนนหนทางในประเทศไทยแล้ว ไม่มีอะไรการันตีว่า ใต้ผิวน้ำนั้นจะมีอะไรซ่อนอยู่ เลือกขี่อ้อมนิดหน่อยเพื่อความปลอดภัยของตนเอง

7.ลุยน้ำห้ามดับเครื่อง
อย่างที่รู้ ๆ กันว่า ฝนตกในกรุงเทพฯ ทำให้น้ำท่วมซอยสูงถึงเข่า การขี่ลุยน้ำบางครั้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคนิคเบื้องต้น คือ เลือกใช้เกียร์ต่ำและรักษาความเร็วคงที่ตอนลุยน้ำ เพื่อให้แรงดันจากท่อไอเสียดันน้ำออกมาและห้ามดับเครื่องยนต์โดยเด็ดขาด! แต่หากระดับน้ำสูงกว่า 1 ฟุตไปแล้ว แนะนำว่า อย่าลุยน้ำเลยดีกว่า ยกเว้น มีรถมอเตอร์ไซค์แบบแอดเวนเจอร์ทัวริ่ง อย่าง รอยัล เอนฟิลด์ หิมาลายัน คันนั้นลุยได้ลุยไปเลย!

8.มีสติ
การมีสติและสมาธิจดจ่ออยู่กับการขับขี่ตลอดเวลา นับเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพักผ่อนให้เพียงพอ ก่อนการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ทุกครั้ง


……………….
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
คมนาคมประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจแก้ปัญหาอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์
โพลชี้! คนเลือกใช้ 'วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง' มากกว่า Grab Bike


e-book-1-503x62