ขีดเส้นก.พ.รู้ผลโละเรือประมง ‘ไกรบุญ’ชี้ 2 ทางจมทำปะการัง-แลกเปลี่ยนสินค้า

06 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
"ไกรบุญ" ไอเดียกระฉูด เตรียมโละเรือประมง 1.17 พันลำ แจกหน่วยราชการ /แลกเปลี่ยนเรือกับประเทศอื่นหรือสินค้าแทน จมเรือทำปะการังเทียมทั้งหมด ยันต้องการใช้เงินรัฐให้คุ้มค่าที่สุด เร่งสมาคม-กรมประมง ทำการบ้านใหม่ ให้ไปสำรวจเรือที่ต้องการจะขาย 22 จังหวัด ทั้งประมงพื้นบ้าน/พาณิชย์ เผยช่วยคนเดือดร้อนที่สุดก่อน ขีดเส้นวันที่ 28 ก.พ.นี้ ต้องแล้วเสร็จ

พล.ต.ต.ไกรบุญ ทรวดทรง เลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ชุดที่ 1 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน และในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานจัดซื้อเรือประมงคืน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงผลการประชุมเมื่อเร็วๆ นี้ว่า จะใช้งบประมาณ 150 ล้านบาท ใช้ในการซื้อเรือคืน จำนวน 1.177 พันลำ (เรืออวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้องที่ต้องการจะขาย และเรือที่ใช้เครื่องมือไม่ตรงกับอาชญาบัตร)ตามมติคณะรัฐมนตรีก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดีในการประชุมครั้งล่าสุด (15 ม.ค.) ทางสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้เสนอจำนวนเรือพาณิชย์ที่ต้องการจะขายต่อที่ประชุมเพียง 55 ลำเท่านั้น มองว่าไม่ค่อยโปร่งใส และไม่เป็นธรรม จึงเห็นควรจะให้สิทธิเรือประมงพื้นบ้านและเรือพาณิชย์ 22 จังหวัดเข้าร่วมโครงการอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้นจึงได้ให้เวลากับสมาคมร่วมกับกรมประมง ไปสำรวจและรวบรวมรายชื่อเรือที่ต้องการจะขายและนำเสนอภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้

"แนวทางที่จะใช้ซื้อเรือคืน เช่น ชาวประมงที่เดือดร้อนมากที่สุด หรือซื้อจากพื้นที่ที่มีปัญหามากที่สุด ที่จำเป็นต้องนำเรือออกนอกระบบเร็ว หรือจะซื้อพื้นที่จากพื้นที่นำร่องในเรื่องการทำประมงถูกกฎหมาย สรุปคือต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ ส่วนเรื่องงบประมาณไม่มีปัญหา รัฐบาลพร้อมที่จะสนับสนุน แต่อยากได้ความชัดเจนในเรื่องตัวเลข" พล.ต.ต.ไกรบุญกล่าวและว่า

ส่วนวิธีการไม่ต้องให้ชาวประมงมาเสียเวลากรอกเอกสารอีกแล้ว แค่ 1.ใครเป็นเจ้าของเรือ 2.เรือขนาดเท่าไร 3.มีความประสงค์จะขายหรือไม่ 4.ขายแล้วจะไปประกอบอาชีพอะไร ผลประชุมล่าสุด ทางสมาคมก็ยืนยันแล้วว่าพร้อมจะช่วยทั้งเรือที่อยู่ในสมาคมและนอกสมาคม มองว่าหากมีความร่วมมือกันจริงๆ เพียงแค่ 1 เดือนก็คาดว่าจะแล้วเสร็จ"

พล.ต.ต.ไกรบุญ กล่าวอีกว่า อยากจะทำความเข้าใจกับทุกฝ่ายว่า งบที่จะนำมาใช้ซื้อเรือครั้งนี้จะใช้งบประมาณในส่วนการซื้อปะการังเทียม มาจัดซื้อเรือประมงออกจากระบบ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อเรือประมงกว่า 1 พันลำไปจมปะการังเทียมทั้งหมด จึงได้ให้ทางคณะทำงานไปพิจารณากันใหม่ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง โดยได้ตั้งโจทย์ 2 เรื่อง คือ 1.ให้ทางเลขานุการของคณะทำงาน (กรมประมง) สอบถามหน่วยงานราชการต่างๆ ว่าหน่วยงานใดบ้างที่ต้องการจะนำเรือประมงไปใช้ และเพื่อวัตถุประสงค์อะไร หรือ 2.จะนำเรือประมงไปซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้คุ้มค่ากับเงินงบประมาณที่สุด อย่างไรก็ดีการกำหนดค่า MSY (การจับสัตว์น้ำเพื่อผลผลิตที่ยั่งยืน)นั้นได้รับการยอมรับจากสหภาพยุโรป (อียู) แล้วที่จะนำเรือเหล่านี้ออกจากระบบ ซึ่งตัวเลขคงไม่มากไปกว่านี้แล้ว

ด้าน นายพงศธร ชัยวัฒน์ รองประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราคากลางเรือที่รัฐบาลรับซื้อขนาดตั้งแต่ 1 -150 ตันกรอสขึ้นไปนั้น ราคากลางตั้งแต่ 8.98 แสน -20 ล้านบาท เป็นราคาที่พอใจ วันนี้เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ แล้วว่ารัฐบาลมีหลักเกณฑ์ในการซื้อเรืออย่างไรบ้าง ส่วนตัวเลขยังไม่ชัดเจน จะเร่งไปประชาสัมพันธ์สำหรับกลุ่มคนที่ต้องการขายเรือ เพราะเรือจอดมานาน 6-7 เดือนแล้ว และไม่สามารถไปทำการประมงได้เพราะจำนวนเรือดังกล่าวมีปัญหากับค่า MSY ซึ่งจะได้แจ้งและเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องชาวประมงว่ารัฐบาลไม่ได้ทอดทิ้ง ยืนยันว่ามติ ครม. เพื่อซื้อเรือคืน จำนวน 150 ล้านบาท คาดต้นเดือนมีนาคมจะสามารถจ่ายเงินได้ สำหรับผู้ที่ต้องการจะขายเรือเพื่อไปประกอบอาชีพอื่น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559