ชงครม.สัญจร 24 ก.ค. อนุมัติรถไฟทางคู่ "เด่นชัย-เชียงของ"

06 ก.ค. 2561 | 12:14 น.
ครม.สัญจร 24 ก.ค.มีลุ้นอนุมัติก่อสร้างรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของกว่า 300 กม. งบ 8.5 หมื่นล้าน ร.ฟ.ท.เร่งทำข้อมูลประกอบการพิจารณา ด้านค่ายรับเหมามีลุ้นซูเปอร์บอร์ดแบ่งสัญญาก่อสร้าง จับตาราคาที่ดินขยับรับอานิสงส์

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”  ว่าอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรจังหวัดเชียงรายในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ที่จะนำโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของระยะทาง 330 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนประมาณ 8.5 หมื่นล้านบาทเข้าสู่การพิจารณา

โดยภายหลังผ่านการพิจารณาจากครม.เรียบร้อยแล้วร.ฟ.ท.จะเร่งนำเสนอคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (ซูเปอร์บอร์ด) พิจารณาการจัดแบ่งสัญญา ซึ่งคาดว่าจะแบ่งได้ไม่น้อยกว่า 10 สัญญาก่อนที่จะตั้งคณะกรรมการจัดการประกวดราคาให้พร้อมดำเนินการโดยเร็วต่อไป

[caption id="attachment_295981" align="aligncenter" width="335"] วรวุฒิ มาลา วรวุฒิ มาลา[/caption]

“เป็นข้อมูลกายภาพพื้นฐานทั่วไปว่าจะมีการเวนคืนพื้นที่เท่าไหร่ กรอบวงเงินก่อสร้างราว 7.7 หมื่นล้านบาทประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แต่เนื่องจากเป็นกรอบวงเงินก่อสร้างที่ประมาณราคาหลายปีแล้วจึงจะต้องมีการปรับกรอบวงเงินใหม่อีกครั้งก่อนจัดแบ่งสัญญา โดยวงเงิน 8.5 หมื่นล้านบาทจะรวมค่าเวนคืนเอาไว้ด้วย ซึ่งการแบ่งสัญญาจะต้องพิจารณาหลายด้านประกอบเนื่องจากมีบางช่วงเป็นอุโมงค์”

ด้านนายวสันต์ คงจันทร์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้คอนซัลแตนท์  จำกัด กล่าวว่า ราคาที่ดินปรับเพิ่มตามแน่โดยเฉพาะทำเลโดยรอบย่านสถานี ปัจจุบันราคาที่ดินตามแนวถนนสายหลักเส้นทางในพื้นที่เชียงของราคาเดิม 1-3 ล้านบาทจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4-5 ล้านบาทต่อไร่ สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ บางแปลงปรับราคาไปแล้ว 8-10 ล้านบาทต่อไร่

tp12-3337-a ทั้งนี้ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นยังเห็นว่าไม่ติดกับดักราคาที่ดิน เพราะแปลงเล็กราคา  8-10  ล้านบาทก็ยังมีให้เห็น โดยเฉพาะในพื้นที่เชียงของที่เติบโตล่วงหน้าไปมากแล้วจากการพัฒนาโครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าเชียงของ สะพานยังเป็นแรงกระตุ้นส่วนหนึ่งเท่านั้นรถไฟทางคู่จะมาสนับสนุน เนื่องจากจะมีการขนส่งสินค้าเกิดขึ้นจริงๆ ส่วนราคาที่ดินโซนกลางและโซนต่อเนื่องอย่างพิษณุโลก พะเยา และอำเภอส่วนย่อยตามแนวเส้นทางยังจะมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก

“คงจะมีการซื้อที่ดินสร้างคลังสินค้ามากขึ้น แม้พื้นที่เชียงรายจะมีกลุ่มเบียร์สิงห์และซีพีขึ้นไปพัฒนาบางโครงการ แต่ยังไม่มีทุนใหญ่อื่นๆเข้าไปสมทบ อีกทั้งยังจะขายโครงการให้ได้จำนวนมากก่อนแล้วค่อยสร้างจึงจะไม่เป็นการเสี่ยง ช่วงนี้ไปจนถึงปลายปีซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันรับการท่องเที่ยวฤดูหนาวน่าจะเป็นแรงกระตุ้นได้อีก อำเภอแม่สาย เชียงแสน และเชียงของเป็นเมืองหนุนการพัฒนาเชียงรายที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้าจากเมืองเหล่านี้ไปสู่กรุงเทพฯได้มากขึ้น”

[caption id="attachment_295987" align="aligncenter" width="503"] วรงค์ วงศ์วรกุล วรงค์ วงศ์วรกุล[/caption]

นายวรงค์ วงศ์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพร่ธำรงวิทย์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทเตรียมความพร้อมไว้นานแล้ว คาดว่าร.ฟ.ท.จะเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาในพื้นที่เข้าร่วมประมูล แม้จะร่วมกับผู้รับเหมารายใหญ่ที่ได้งานระบบรางก็พร้อมเข้าร่วมเนื่องจากบริษัทมีแหล่งวัสดุและอุปกรณ์ตลอดจนเครื่องมือก่อสร้างรองรับไว้พร้อมแล้ว โดยจะเน้นการรับงานระดับดินทั้งการเปิดทางและการถมที่บริษัทมีความชำนาญ ปัจจุบันได้รับงานก่อสร้างในพื้นที่บางส่วนเป็นงานถนนส่วนต่อขยายซึ่งเมื่อเริ่มก่อสร้างรถไฟทางคู่สามารถเข้าร่วมได้ทันที โดยยืนยันพร้อมร่วมประมูลโครงการอย่างแน่นอนส่วนจะร่วมกับรายไหนนั้นขอหารือรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน

| เชกชั่น : เศรษฐกิจมหภาค
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 12 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.2561

e-book-1-503x62