นอกน่านน้ำเฮ ! ไฟเขียวออกทำประมงมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ครั้งแรกในรอบ 3 ปี

06 ก.ค. 2561 | 10:51 น.
นอกน่านน้ำเฮ ! ไฟเขียวออกทำประมงมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ครั้งแรกในรอบ 3 ปี

แหล่งข่าวผู้ประกอบการนอกน่านน้ำ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรมประมง โดย นายอดิศร พร้อมเทพ ลงนามประกาศกรมประมง เรื่อง หลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ที่ทำประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ พ.ศ. 2561 เรียบร้อยแล้ว สาระสำคัญ สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิกตามความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) ทำให้ประเทศไทยมีสิทธิเข้าไปทำการประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงดังกล่าว กรมประมงจึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ประสงค์จะออกไปทำการประมงนอกน่านน้ำไทยในบริเวณดังกล่าวทราบถึงหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติของเรือประมงนอกน่านน้ำไทย ที่จะต้องปฏิบัติหากเข้าไปทำการประมงในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 พื้นที่และชนิดของสัตว์น้ำที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงการทำประมงสําหรับพื้นที่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรอินเดีย (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA)ให้เป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 2 เรือที่จะทำการประมงมีสัตว์น้ำไว้บนเรือทําการขนถ่ายสัตว์น้ำ หรือนำสัตว์น้ำขึ้นจากเรือในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) จะต้องเป็นเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับอนุญาตขององค์การบริหารจัดการประมงตามกรอบความตกลงดังกล่าว ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากเว็บไซต์ http://www.siofa.orgเจ้าของเรือและผู้ประกอบการเรือที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับอนุญาตขององค์การบริหารจัดการประมงตามวรรคหนึ่ง ต้องไม่มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมการประมงในพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) กับเรือไร้สัญชาติหรือเรือที่ไม่ได้อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับอนุญาตขององค์การบริหารจัดการประมงดังกล่าว

nann

ข้อ 3 จํากัดการลงแรงประมงสามร้อยวันต่อลําต่อปี
ข้อ 4 เรือประมงอวนลาก ให้ทําประมงได้เฉพาะในบริเวณพื้นที่ตามพิกัดแนบท้ายประกาศนี้
หากลากอวนได้ปะการังมีชีวิตมากกว่าหกสิบกิโลกรัมขึ้นไป หรือฟองน้ำมีชีวิตมากกว่าเจ็ดร้อยกิโลกรัมต่อการลากอวนหนึ่งครั้ง ต้องย้ายตำแหน่งทำการประมงให้ห่างจากที่เดิมอย่างน้อยสองไมล์ทะเล โดยวัดจากแนวลากอวนด้านใดด้านหนึ่ง

ข้อ 5 เรือประมงเบ็ดราว หากมีการทําประมงได้ปะการังมีชีวิตหรือฟองน้ำมีชีวิตมากกว่าสิบกิโลกรัมต่อเบ็ดจำนวนหนึ่งพันตัวหรือต่อความยาวสายคร่าวหนึ่งพันสองร้อยเมตร แล้วแต่ว่าจำนวนตัวเบ็ดหรือความยาวสายคร่าวอย่างใดอย่างหนึ่งจะเข้าเงื่อนไขก่อน ให้ย้ายพื้นที่ทำการประมงจากจุดเดิมออกไปในรัศมีไม่น้อยกว่าหนึ่งไมล์ทะเลนับจากจุดกึ่งกลางของแนวการวางเบ็ด

ข้อ 6 เรือประมงที่ทําการประมงโดยใช้ลอบที่มีสายคร่าวซึ่งวางต่อเนื่องกัน หากได้ปะการังมีชีวิตหรือฟองน้ำมีชีวิตมากกว่าสิบกิโลกรัมต่อความยาวสายคร่าวหนึ่งพันสองร้อยเมตร หรือทำการประมงโดยใช้ลอบเดี่ยว หากได้ปะการังมีชีวิตหรือฟองน้ำมีชีวิตมากกว่าสิบกิโลกรัมต่อลอบหนึ่งลูก ให้ย้ายพื้นที่ทําการประมงจากจุดเดิมออกไปในรัศมีไม่น้อยกว่าหนึ่งไมล์ทะเลนับจากจุดกึ่งกลางของสายคร่าวหรือจุดกึ่งกลางของลอบ

ข้อ 7 ห้ามทำการประมงในเขตพื้นที่ตามพิกัดแนบท้ายประกาศ
ข้อ 8 ห้ามใช้เครื่องมืออวนลอยขนาดใหญ่ หรืออวนติดตาน้ำลึก ซึ่งเป็นอวนติดตาหรืออวนอื่น ๆ ที่มีขนาดความยาวรวมกันเกินกว่าสองจุดห้ากิโลเมตร ในเขตพื้นที่ที่อยู่ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA)

ข้อ 9 ห้ามทํากิจกรรมใดที่มีลักษณะเป็นการสนับสนุนเรือประมงที่อยู่ในกรณีเครื่องมือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ เรือที่ทําการประมงโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายขององค์การระหว่างประเทศ
ข้อ 10 เรือประมงที่จะทําการขนถ่ายน้ำมัน เครื่องมือประมง คนประจําเรือ หรือเสบียงในทะเลจะต้องแจ้งการขนถ่ายดังกล่าวให้กองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมงทราบล่วงหน้า อย่างน้อยยี่สิบสี่ชั่วโมง โดยใช้แบบฟอร์ม SIOFA Transfer At Sea Notification แนบท้ายประกาศนี้ เมื่อดําเนินการขนถ่ายเสร็จสิ้น ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงต้องรายงานการขนถ่ายต่อกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง โดยใช้แบบฟอร์ม SIOFA TransferAt Sea Declaration แนบท้ายประกาศนี้

ข้อ 11 ต้องจัดทําเครื่องหมายของเครื่องมือประมง ซึ่งมีชื่อเรือและสัญญาณเรียกขานและหมายเลขที่เครื่องมือแสดงไว้อย่างชัดเจน โดยดําเนินการดังต่อไปนี้ (1) กรณีเครื่องมือที่มีการใช้สายคร่าว ให้ติดเครื่องหมายที่ปลายของอวนหรือสายคร่าวของเครื่องมือนั้น ประกอบกับต้องติดทุ่นธงหรือทุ่นเรดาร์ในตอนกลางวัน และติดทุ่นไฟ โดยต้องสามารถมองเห็นแสงไฟได้ในระยะอย่างน้อยสองไมล์ทะเลในสภาวะการมองเห็นตามปกติสําหรับตอนกลางคืนทั้งนี้ ธงหรือทุ่นดังกล่าวต้องสามารถใช้ระบุตําแหน่งและขอบเขตของเครื่องมือประมงได้

ข้อ 12 ต้องจัดให้มีอุปกรณ์ในการนําเครื่องมือประมงที่หลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหายในขณะทําการประมงกลับคืน ห้ามทิ้งเครื่องมือประมง เว้นแต่มีเหตุจําเป็นเพื่อความปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะอันตราย ในกรณีเครื่องมือประมงหลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย ไม่ว่าด้วยเหตุประการใดก็ตามผู้ควบคุมเรือต้องดําเนินการนําเครื่องมือประมงดังกล่าวกลับคืน หากไม่สามารถนําเครื่องมือดังกล่าวกลับคืนได้ ผู้ควบคุมเรือต้องรายงานต่อกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำกรมประมงทันที

nann1

การรายงานตามวรรคสาม ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ชื่อเรือ และสัญญาณเรียกขาน
(2) หมายเลข IMO (ถ้ามี)
(3) ชนิดเครื่องมือประมงที่หลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย
(4) จํานวนเครื่องมือประมงที่หลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย
(5) วัน เวลา และพิกัดที่เครื่องมือประมงหลุด ถูกทิ้ง หรือสูญหาย
(6) วิธีการในการนําเครื่องมือประมงกลับคืน
(7) เหตุการณ์ที่ทําให้เครื่องมือประมงหลุดหรือสูญหาย หรือเหตุผลความจําเป็นที่ต้องละทิ้งเครื่องมือประมง

ข้อ 13 ในกรณีที่พบและได้เก็บเครื่องมือประมงซึ่งถูกทิ้งหรือสูญหายของผู้อื่นขึ้นมาบนเรือ ให้ผู้ควบคุมเรือแจ้งต่อกองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำ กรมประมง
การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุข้อมูลดังต่อไปนี้
(1) ชื่อเรือ และสัญญานเรียกขานของเรือที่เก็บเครื่องมือประมงนั้นขึ้นมาได้และหมายเลข IMO (ถ้ามี)
(2) ชื่อเรือ หมายเลข IMO และสัญญานเรียกขานของเรือที่เป็นเจ้าของเครื่องมือประมงนั้น(ถ้าทราบ)
(3) ชนิดเครื่องมือประมงที่เก็บกู้ได้
(4) จำนวนเครื่องมือประมงที่เก็บกู้ได้
(5) วัน เวลา และพิกัดที่เก็บกู้เครื่องมือประมง
(6) ภาพถ่ายของเครื่องมือประมงที่เก็บได้ (ถ้ามี)

ข้อ 14 สัตว์น้ำแช่แข็งที่เก็บไว้บนเรือประมง ต้องมีฉลากที่ชัดเจนบนกล่องหรือภาชนะที่บรรจุสัตว์น้ำแช่แข็ง โดยในแต่ละบรรจุภัณฑ์จะต้องมีสัตว์น้ำเพียงชนิดเดียว
ฉลากตามวรรคหนึ่งต้องระบุรายการ ดังต่อไปนี้
(1) ชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ กลุ่มชนิดสัตว์น้ำ รหัสชนิดสัตว์น้ำตามที่องค์การอาหาร
และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือตามที่คณะกรรมการวิทยาศาสตร์กำหนด อย่างใดอย่างหนึ่ง
(2) วันที่จับสัตว์น้ำ
(3) หมายเลขที่สามารถระบุตัวตนของเรือประมงที่จับสัตว์น้ำ

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6

ข้อ 15 เรือประมงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเรือที่ได้รับอนุญาตของความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement : SIOFA) กรณีทําประมงพบสัตว์น้ำอนุรักษ์ต้องบันทึกในแบบบันทึกการติดสัตว์น้ำโดยบังเอิญ (Incidental catch log sheetof SIOFA) และรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจำกอง

ข้อ 16 หากพบเห็นเรือไร้สัญชาติหรือเรือที่มิได้อยู่ในบัญชีเรือที่ได้รับอนุญาตขององค์การบริหารจัดการประมงตามกรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (SouthernIndian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) กำลังทำการประมงหรือขนถ่ายสัตว์น้ำในเขตความรับผิดชอบขององค์การบริหารจัดการประมงดังกล่าว ผู้ควบคุมเรือต้องแจ้งข้อมูลให้กองควบคุมการประมงนอกน่านน้ำและการขนถ่ายสัตว์น้ำกรมประมงทราบ ข้อมูลตามวรรคหนึ่งต้องประกอบด้วย ชื่อเรือ เลขทะเบียนเรือ สัญญาณเรียกขานรัฐเจ้าของธง วัน เวลา พิกัดที่พบเรือ และรูปถ่ายเรือ เป็นต้น

ข้อ 17 การแจ้งและการรายงานตามข้อ 10 ข้อ 12 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 ให้แจ้งหรือรายงานผ่านทางเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถตรวจสอบและนำกลับมาใช้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง หรือทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] ที่ส่งผ่านมาจากทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถระบุตัวตนของอุปกรณ์ส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม

ข้อ 18 เนื่องจากหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติขององค์การบริหารจัดการประมงภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการประมงในมหาสมุทรอินเดียตอนใต้ (Southern Indian Ocean Fisheries Agreement ; SIOFA) มีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลาตามข้อมูลต่าง ๆ ที่กําหนดจากการประชุมของประเทศสมาชิกผู้ที่ประสงค์จะเข้าไปทําการประมงในพื้นที่และชนิดสัตว์น้ำตามข้อ 2 จึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงของหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา

e-book-1-503x62