เร่งไฮสปีดเทรน-รถไฟทางคู่ ระบบโลจิสติกส์ทางรางขับเคลื่อนอีอีซี

09 ส.ค. 2561 | 06:44 น.
600_5 การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี  หัวใจหลักที่สำคัญของการขับเคลื่อน อยู่ที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาระบบรางให้มีการเชื่อมโยงครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ

แต่ยังมีข้อเรียกร้องของชาวจังหวัดระยอง ที่ต้องการให้รัฐบาลก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(กรุงเทพฯ-อู่ตะเภา) ถึงอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ตามแผนเดิมที่เคยกำหนดไว้ โดยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงพื้นที่เพื่อไปชี้แจง และรับรายชื่อประชาชนกว่า 1 หมื่นชื่อ ที่เรียกร้องในประเด็นดังกล่าวไปพิจารณา

พัฒนาไฮสปีดเทรน2ระยะ

สำหรับการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ให้ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงถึงแค่สถานีอู่ตะเภา ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการผลักดันให้โครงการนี้เสร็จโดยเร็ว เพราะหากต่อเชื่อมไปถึงระยอง มีความเป็นไปได้ที่จะใช้เวลาในการศึกษาและพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานาน โดยเฉพาะเส้นทางช่วงที่ผ่านนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาบตาพุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อโครงการความล่าช้าได้ จึงได้มีการปรับแผนออกเป็น 2 ระยะ

โดยระยะแรกจากท่าอากาศยานดอนเมืองสิ้นสุดที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา นอกจากผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้เร็วแล้ว ยังเป็นการสอดรับการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ที่จะดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จในปีเดียวกันด้วย หากโครงการใดโครงการหนึ่งเสร็จก่อนหรือเสร็จทีหลัง ความคุ้มค่าในการลงทุนก็จะไม่เกิดขึ้นกับทั้ง 2 โครงการ หรือไม่เป็นประโยชน์ซึ่งกันและกัน  ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ออกทีโออาร์ไปแล้ว ล่าสุดมีผู้มาซื้อซองเอกสารจำนวน 23 บริษัท  และจะเปิดให้มีการรับซองข้อเสนอวันที่ 12 พฤศจิกายน 256 คาดว่าได้ชื่อผู้ชนะและลงนามสัญญาได้เดือนธันวาคม 2561 กำหนดเปิดบริการในปี 2566 ระยะเวลา 50 ปี มีผลประโยชน์ตลอดอายุโครงการประมาณ 6.5 แสนล้านบาท ใช้เงินลงทุนราว 2.24 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 147,000 คนต่อวันในปีที่เปิดให้บริการ
CiHZjUdJ5HPNXJ92GRi8rgH0YATqis2pcg เร่งศึกษาส่วนต่อขยาย

ขณะที่ส่วนต่อขยายของโครงการในระยะที่ 2 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.)  ไปดำเนินการปรับแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในพื้นที่อีอีซี ที่ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว ให้มีการดำเนินงานเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนขยายของโครงการรถไฟความเร็วสูงอู่ตะเภา-ระยอง-จันทบุรี-ตราด ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร จากที่กำหนดเป็นแผนระยะกลาง (ปี 2562-2564) ให้ปรับแผนการดำเนินงานเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้การก่อสร้างดำเนินงานได้ภายในปี 2563 และแล้วเสร็จในปี 2567 ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ จึงน่าจะเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้ชาวระยอง คลายข้อสงสัยลงได้

เพิ่มขนส่งสินค้าทางรถไฟ

อีกทั้งผู้ที่อยู่ในจังหวัดระยอง รวมถึงนักลงทุน นอกจากได้อานิสงส์จากการเดินทางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับระบบรางในการขนส่งสินค้า ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และตอบสนองการลงทุนที่จะเกิดขึ้น

โครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรือ จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อให้มีระบบบริการการขนส่งสินค้าแบบไร้รอยต่อ เชื่อมโยงทั้งภาคอุตสาหกรรมและท่าเรือไว้ด้วยกัน  เพื่อเพิ่มสัดส่วนการขนส่งตู้สินค้าผ่านทางรถไฟ ขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ 7% ลดระยะเวลาการขนส่งจากเดิม 24 ชั่วโมงเหลือไม่เกิน 8 ชั่วโมงทำให้ประหยัดเงินจากค่าขนส่งให้กับประเทศชาติได้ประมาณ 2.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างเสร็จในปี 2566

TP11-3381-A
เชื่อมทางคู่สู่ภูมิภาค

โดยมีแนวทางการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน จะใช้เงินลงทุนราว 6.8 หมื่นล้านบาท ในการเชื่อม 3 ท่าเรือ ประกอบไปด้วย โครงการเพิ่มประสิทธิภาพทางรถไฟช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร โครงการรถไฟทางคู่ช่วงศรีราชา-สัตหีบ-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร และโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าคอนเทนเนอร์ (Inland Container Depot -ICD) ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา (หรือ ICD ฉะเชิงเทรา) เพื่อรองรับการรวบรวมและกระจายสินค้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและประเทศกัมพูชาผ่านจังหวัดสระแก้ว

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ได้จ้างที่ปรึกษามาดำเนินการศึกษาความหมาะสมของโครงการแล้ว ซึ่งในเดือนตุลาคม 2562 คาดว่าจะลงนามสัญญาก่อสร้างทางรถไฟเชื่อม 3 ท่าเรือได้ และในเดือนธันวาคม 2562 จะลงนามสัญญาก่อสร้าง ICD ฉะเชิงเทรา ทั้งหมดคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2566

ดังนั้น ด้วยระบบรางในพื้นที่อีอีซีที่มีอยู่จาก 2 โครงการนี้ จะช่วยให้การเดินทางและการขนส่งสินค้ามีความสะดวกและในปริมาณที่มากขึ้น ไม่เสียเวลาในการสับเปลี่ยนราง ซึ่งอานิสงส์จะเกิดประโยชน์กับประเทศไม่เพียงเฉพาะในพื้นที่อีอีซีเท่านั้น แต่จะนำพาให้เศรษฐกิจไทยมีความเข้มแข็งและเชื่อมโยงไทยไปสู่ภูมิภาคอาเซียนอีกด้วย

รายงาน : โต๊ะข่าวอีอีซี

……………….……………….……………….

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8-11 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62