เอสพีซีจีลุยลงทุนต่างประเทศ ตั้งเป้าโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 500 เมกะวัตต์

07 ก.พ. 2559 | 08:00 น.
หลังจากการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รอบที่ 21 (คอป 21) ที่กรุงปารีส เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา ถือเป็นสัญญาณของทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญต่อการลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศา ขณะที่ประเทศไทยนั้น ได้มีการวางเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลลงมา และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ถือเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำ ที่มีส่วนเข้าไปส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของประเทศไทยให้มากขึ้น "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สัมภาษณ์ วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ ถึงทิศทางการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือโซลาร์ฟาร์ม ที่มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_29799" align="aligncenter" width="334"] วันดี กุญชรยาคง กรรมการผู้จัดการ วันดี กุญชรยาคง
กรรมการผู้จัดการ[/caption]

 โซลาร์เซลล์มีบทบาทเพิ่มขึ้น

กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด(มหาชน) ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนในธุรกิจโซลาร์เซลล์กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากของทั่วโลก และประเทศญี่ปุ่นก็ได้มีการประกาศรับซื้อคาร์บอนเครดิตออกมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมคอป 21 ที่ต้องการคงอุณหภูมิเพิ่มของโลกไม่ให้เกิน 2 องศา โดยมุ่งเป้าหมายซื้อคาร์บอนเครดิตจากอาเซียนเป็นหลัก ด้วยการส่งเสริมโครงการลดการใช้พลังงานและการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนทุกชนิด แต่ต้องใช้เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้ร่วมโครงการจะได้รับเงินสนับสนุนถึง 50% ของมูลค่าโครงการ ดังนั้น บริษัทจะใช้เป็นโอกาสนี้ในการลงทุนผลิตโซลาร์ฟาร์มในอาเซียนต่อไปมากขึ้น

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยระยะยาวปี 2558-2579 (พีดีพี 2015) กำหนดเป้ารับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ตามแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(เออีดีพี) ไว้ที่ 6 พันเมกะวัตต์ในปี 2579 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่มากกว่าพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น เนื่องจากพบว่าโซลาร์เซลล์มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า ประกอบกับต้นทุนที่ลดลงและใช้ระยะเวลาก่อสร้างไม่นาน ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 60 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ ลดลง 10% จากปีก่อน

 ลุยขยายลงทุนในต่างประเทศ

สำหรับการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยในปีนี้ ยอมรับว่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างน้อย เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนจากทางภาครัฐ ประกอบกับการรับซื้อไฟฟ้าที่ถูกเลื่อนออกไป ทำให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุน ดังนั้นในปีนี้บริษัทจะมุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มไปยังต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะญี่ปุ่น และเมียนมา

โดยการขยายโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น ปัจจุบันมีการร่วมทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มแล้ว 30 เมกะวัตต์ และในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ บริษัทเตรียมลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มอีก 30 เมกะวัตต์ กับบริษัท เคียวเซร่า จำกัด ประเทศญี่ปุ่น และบริษัท ทิสโก้ เซนจูรี่ โตเกียว ลิสซิ่ง จำกัด (TCL) คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟเข้าระบบภายในปลายปีนี้ นอกจากนี้ยังศึกษาลงทุนโซลาร์ฟาร์มเพิ่มขึ้นอีก 52 เมกะวัตต์ โดยตั้งเป้าโครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 300-500 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้าขณะที่โครงการลงทุนโซลาร์ฟาร์มในเมียนมา บริษัทร่วมกับธนาคารโลก(เวิลด์แบงก์) เตรียมลงทุนเฟสแรก 30 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 2 พันล้านบาท เนื่องจากมองว่าเมียนมาเป็นประเทศที่มีศักยภาพและมีความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เติบโตขึ้นทุกปี เบื้องต้นตั้งเป้าขอใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า(พีพีเอ) ในเมียนมา 300 เมกะวัตต์ ใน 2 ปีข้างหน้า

นอกจากนี้ บริษัทยังศึกษาโครงการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มเติม เนื่องจากพบว่ายังมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันฟิลิปปินส์มีประชากร 90 ล้านคน มีการผลิตไฟฟ้าเพียง 1.5 หมื่นเมกะวัตต์ เทียบกับประเทศไทยที่มีประชากร 67 ล้านคน มีการผลิตไฟฟ้า 3 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งในฟิลิปปินส์คาดว่าจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเฟส 2 อีก 2 พันเมกะวัตต์ ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ โดยบริษัทสนใจลงทุนดังกล่าว และติดตามอย่างใกล้ชิด

 หนุนรัฐกระตุ้นผลิตแผงในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบว่านโยบายของภาครัฐยังไม่เอื้อต่อผู้ผลิตแผงเซลล์ของไทยมากนัก เนื่องจากยังไม่กำหนดให้ใช้สินค้าในประเทศก่อน แต่ส่วนตัวมองว่าการผลิตแผงเซลล์จะต้องอยู่ในระดับที่คุ้มค่า เพราะหากต่ำกว่านี้ก็จะไม่คุ้ม ประกอบกับทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ด้านการส่งเสริมการผลิตแผงเซลล์ของไทยก็ถดถอยลง ดังนั้นการผลิตแผงเซลล์ในประเทศจึงมีต้นทุนสูงกว่าการนำเข้า

ดังนั้นในปี 2559 บริษัทตั้งเป้าผลิตแผงโซลาร์เซลล์ 100 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมา ฟิลิปปินส์ โดยจะรองรับตลาดของเคียวเซร่า ซึ่งปัจจุบันกำลังการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ของผู้ประกอบการไทยรวมกันอยู่ไม่เกิน 500 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่จะผลิตเพื่อส่งออกเช่นกัน

ขณะที่การเสนอเปิดเสรีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาหรือโซลาร์รูฟท็อปนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างมาก เนื่องจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) ลงได้ ลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และภาคเอกชน แต่การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป จะต้องมีคุณสมบัติ 3 ข้อคือ 1.มีเงิน 2.มีหลังคา และ3.มีความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลากลางวัน โดยบริษัทการันตีจะสามารถคืนทุนภายใน 7-8 ปี โดยเมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา บริษัทร่วมกับบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาธุรกิจระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใต้ "SPR Solar Roof" ซึ่งเป็นแผงผลิตไฟฟ้า ที่ใช้ติดตั้งบนหลังคาบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าโฮมโปรค่อนข้างมาก และในปีนี้ตั้งเป้ารายได้ส่วนนี้ 100 ล้านบาท เพิ่มเข้ามาจากปีก่อนอยู่ที่ 50 ล้านบาท

สำหรับการติดตั้ง SPR Solar Roof จะมีให้เลือก 2 แบบ ซึ่งลูกค้าสามารถเลือกติดตั้งได้ตามต้องการ ได้แก่ ขนาดกลาง (Size L) สำหรับพื้นที่หลังคา 36 ตารางเมตร มีขนาดติดตั้ง 4.5 KWp ราคา 3.7 แสนบาท และขนาดใหญ่ (Size XL) โดยมีพื้นที่หลังคา 80 ตารางเมตร ขนาดติดตั้ง 10 KWpราคา 8.2 แสนบาท เริ่มต้นผ่อนเพียง 3.8 พันบาท โดยจะใช้ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี ขึ้นอยู่กับความเข้มของแสงอาทิตย์

 อ้อนรัฐปลดล็อกปัญหาลงทุน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนธุรกิจโซลาร์ฟาร์มและการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน อาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) ขณะนี้ยังติดขัดปัญหาการลงทุน โดยเฉพาะกฎระเบียบของภาครัฐ ล่าสุดทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ประกาศเลื่อนการจับสลากคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ขายไฟฟ้าในโครงการโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์การเกษตร เฟสแรก 600 เมกะวัตต์ ที่เลื่อนออกมาตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา หลังมีผู้ร้องเรียนเรื่องความโปร่งใส

โดยเห็นว่าหากภาครัฐมีการปลดล็อกปัญหาต่างๆ อาทิ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หลังจากพบว่าหน่วยงานของรัฐหลายแห่งไม่สามารถลงทุนโครงการดังกล่าวได้เพราะยังมีข้อติดขัดของพ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ รวมทั้งการปลดล็อกพื้นที่สีเขียวให้สามารถลงทุนโซลาร์ฟาร์มได้ เชื่อว่าจะเกิดโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น

 เป้ารายได้ปีนี้5.5พันล้านบาท

สำหรับรายได้ในปี 2559 ตั้งเป้าไว้ที่ 5.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงมาจากรายได้จากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 260 เมกะวัตต์ และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 500 เมกะวัตต์ในอีก3 ปีนี้

ส่วนเงินลงทุนปี 2559 ตั้งไว้ที่ 1 พันล้านบาท ส่วนใหญ่ยังคงใช้ลงทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มในต่างประเทศ รวมถึงเงินลงทุนระยะ 5 ปี (2559-2563) อยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นสัดส่วนการลงทุนในประเทศไทยไม่มากนัก ส่วนหนึ่งมาจากความไม่แน่นอนนโยบายของภาครัฐ ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ ขณะเดียวกันการคืนทุนของโซลาร์ฟาร์มใช้ระยะเวลา 7-8 ปี จึงต้องการความมั่นใจก่อนการลงทุน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559