อัพไซต์ "ดิวตี้ฟรี-รีเทล" !! 2 สมาคมหนุนประมูลตามหมวดหมู่สินค้า

10 ก.ค. 2561 | 09:39 น.
ทอท. จ่อรวมพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในทีโออาร์ดิวตี้ฟรีและสัญญาบริหารจัดการพื้นที่รีเทลสนามบินสุวรรณภูมิ ดันขยายพื้นที่เปิดประมูลเพิ่ม ด้าน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยผนึกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ยื่นจดหมายเปิดผนึกเสนอให้เปิดสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า

การจัดทำทีโออาร์การเปิดประมูลสัญญาร้านค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี) และสัญญาการบริหารจัดการพื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์ (รีเทล) ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ที่อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์ ไม่เพียงจะเป็นการจัดหาผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนพื้นที่เดิมที่ บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (KPD) และบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด (KPS) จะหมดสัญญาในวันที่ 27 ก.ย. 2563 และการประกอบการในพื้นที่ของอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (อาคารแซทเทิลไลท์) เท่านั้น ขณะนี้ ทอท. ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะรวมพื้นที่เชิงพาณิชย์ในส่วนของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในการเปิดประมูลครั้งนี้ด้วย


MP22-3381-A

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากการพิจารณาในเรื่องนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีโออาร์ออกมาล่าช้า ทีโออาร์จึงไม่น่าจะทันเข้าบอร์ดพิจารณาในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. นี้ เพราะต้องประเมินระยะเวลาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้วย เนื่องจากตอนนี้ยังไม่ได้ผู้ออกแบบอาคาร 2 จึงยังไม่ทราบว่า อาคาร 2 แบบ จะเป็นอย่างไร จะมีพื้นที่พาณิชย์เท่าไหร่ ซึ่ง ทอท. ต้องมีข้อมูลในเรื่องของตัวเลขพื้นที่ ตัวเลข Flow ผู้โดยสาร และข้อสมมติฐานทางการเงิน เพื่อประกอบการพิจารณา โดยต้องดูว่า ข้อมูลเพียงพอหรือรัดกุมมากพอที่จะออกทีโออาร์รวมกันไปในครั้งนี้หรือไม่


FB_IMG_1495967594490

กรณีการเปิดประมูลดิวตี้ฟรี ที่มีคนอยากเสนอให้มีการแยกสัญญาให้ออกมาถี่ ๆ เช่น การแบ่งประมูลเป็นรายพื้นที่ หรือ แบ่งประมูลตามหมวดสินค้า แทนการหาผู้ประกอบการเพียงรายเดียว ซึ่งผลการศึกษาก็ออกมาเบื้องต้นว่า มีข้อดีข้อเสียต่างกัน ซึ่งข้อดีคือ มีการแข่งขันมากขึ้น แต่ข้อเสียคือ ไม่ Practical ในการทำงาน หรือ ปฏิบัติงานจริง เช่น การแบ่งตามหมวดสินค้า หลัก ๆ ก็ต้องมีน้ำหอม , นาฬิกา , ปากกา , กระเป๋า , เครื่องนุ่งห่ม , เหล้า บุหรี่ ซึ่งจะต้องมีการจัดสรรพื้นที่เท่ากันเพื่อเปิดประมูล ก็จะมีร้านในหมวดสินค้าเหล่านี้หลายจุดในสนามบิน ก็จะเกิดการผูกขาดเป็นกลุ่ม ๆ

ส่วนการแยกตามพื้นที่ ก็จะเหนื่อยเรื่องการบริหารจัดการ เพราะบางพื้นที่หรือบางอาคารเทียบเครื่องบิน ก็มีการกระจายตัวของผู้โดยสารต่างกัน บางจุดมีเครื่องบินใหญ่มาลง บางจุดเป็นเครื่องบินเล็ก บางจุดก็เป็นโซนที่กักกันโรค อย่าง อีโบลา

"ใครอยากเห็นไอเดียการเปิดประมูลแบบไหน เสนอมายัง ทอท. ได้ เพราะกำลังปรับปรุงทีโออาร์อยู่"

นอกจากการออกทีโออาร์ประมูลดิวตี้ฟรีและพื้นที่รีเทลดังกล่าวที่จะดำเนินการในปีนี้แล้ว ทอท. ยังจะมีการแยกพื้นที่การให้บริการจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (Pick Up Counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ออกมาเปิดประมูลเป็นอีกสัญญาหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องรีบ อาจจะเปิดประมูลในช่วงปี 2562 ได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน (Common Use) เหมือนกับที่ดำเนินการอยู่แล้วที่สนามบินภูเก็ต


9_2561_6

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2561 น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และนางรวิฐา พงศ์นุชิต นายกสมาคมการค้าร้านค้าปลอดอากรไทย ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึงกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ขอชี้แจงและนำเสนอรูปแบบโครงสร้างสัมปทานดิวตี้ฟรีและพื้นที่เชิงพาณิชย์ในสนามบินสุวรรณภูมิ โดยสมาคมขอให้ ทอท. พิจารณาการเปิดสัมปทานตามหมวดหมู่สินค้า ซึ่งเป็นสัมปทานที่มอบให้แก่ผู้ประกอบการหลายราย โดยแต่ละรายจัดขายสินค้าในหมวดหมู่ที่ต่างกันและอยู่ในพื้นที่เดียว และกระจายครอบคลุมพื้นที่สัมปทานทั่วสนามบิน เพื่อไม่ก่อให้เกิดความได้เปรียบในแง่ของจำนวนผู้โดยสารในแต่ละพื้นที่ เพราะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ให้สัมปทานและรับสัมปทาน และมองว่า พื้นที่ในสนามบินมีมากเกินไปที่จะให้มีผู้รับสัมปทานเพียงรายเดียว สมาคมเน้นประเด็นจุดส่งมอบสินค้าสาธารณะในสนามบิน ที่ต้องจัดให้มีขึ้นตามกฎหมายศุลกากร โดยไม่เปิดให้มีสัมปทาน แต่ให้ผู้ประกอบการเช่าพื้นที่พร้อมระบบตรงจาก ทอท. และควรเก็บค่าบริการไม่เกินอัตรา 1% ของยอดขาย อีกทั้งสมาคมเสนอให้ ทอท. ประกาศกำหนดการคัดเลือกผู้ได้รับสัมปทานอย่างเป็นทางการและชัดเจน ประกาศเชิญชวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดให้เข้าร่วมออกความคิดเห็นตามประกาศคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อที่ ทอท. จะได้พิจารณาข้อมูลครบถ้วนครอบคลุม โดยสมาคมประเมินว่า ธุรกิจดิวตี้ฟรีในไทยทำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นถึง 5 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลาสัมปทาน 10 ปี


……………….
เซกชัน : ท่องเที่ยว โดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,381 วันที่ 8-11 ก.ค. 2561 หน้า 22

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
3ส.ผู้ค้ายื่น6แนวทางเปิดสัมปทานดิวตี้ฟรีรอบใหม่จี้ทอท.เปิดTOR
ส่อเลื่อนประมูล ดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ หลังหลายฝ่ายท้วงติง

e-book-1-503x62