"9 สินค้าเกษตร" วูบ! จี้รัฐเร่งดันราคา

06 ก.ค. 2561 | 06:16 น.
060761-1248

9 สินค้าเกษตร น่าห่วง! "สับปะรด ข้าว ยาง ปาล์ม หมู ไก่ ไข่ไก่ กุ้ง กระเทียม" ทิศทางราคายังไม่โงหัว สปีดเร่งแก้ไขปัญหา 16 โรงงานสับปะรด ชี้! ผลผลิตล้นตลาด ทำโอทีเร่งส่งออก เจอคู่แข่งฟิลิปปินส์-อินโดฯ ตัดราคา ทำขาดทุน ต้องชะลอซื้อ ข้าววูบตันละ 500 หมูขาดทุนตัวละ 500

แม้เวลานี้สถานการณ์สินค้าเกษตรหลายรายการทิศทางราคายังสูงและไม่น่าห่วง เช่น ข้าวเปลือกหอมมะลิ (แต่เกษตรกรไม่มีของในมือ) ข้าวโพด มันสำปะหลัง ทุเรียน แต่อีกด้านหนึ่งจากการตรวจสอบพบยังมีสินค้าเกษตรที่มีปัญหาด้านราคาที่อ่อนตัวลงอย่างน้อย 9 รายการ ได้แก่ สับปะรด ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวเปลือกเจ้า ไก่ ไข่ไก่ สุกร กุ้ง กระเทียม เป็นต้น และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยกันแก้ไขปัญหา


GP-3380_180706_0015

16 โรงงานสับปะรดทำโอทีช่วย
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ราคาสับปะรดที่โรงงานรับซื้อช่วงนี้ เฉลี่ย 2-4 บาท/กิโลกรัม (ต่ำสุดในรอบ 10 ปี) จาก 2 ปีที่แล้ว (ปี 2558) รับซื้อที่ 12-15 บาท/กิโลกรัม (กก.) ผลพวงหลักจากราคาที่ดีก่อนหน้านี้ จูงใจให้เกษตรกรแห่ปลูกและไม่มีการวางแผนการตลาดที่ดี ปีนี้คาดผลผลิตสับปะรดจะมีปริมาณออกมามากถึง 2.1 ล้านตัน เวลานี้โรงงานสับปะรดในประเทศที่มีอยู่ 16 โรงงาน ได้รับซื้อสับปะรดและเร่งผลิตสินค้าอย่างเต็มที่

"จากผลผลิตสับปะรดที่ออกมามาก แม้โรงงานจะทำโอทีทุกวัน แต่ก็ผลิตไม่ทันจึงต้องชะลอซื้อ ขณะที่ การส่งออกสับปะรดกระป๋อง เรายังมีคู่แข่งสำคัญ คือ ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ที่มีผลผลิตสับปะรดมากเช่นกัน ทำให้แข่งขันขันด้านราคาสูง แต่ 2 ประเทศ ได้เปรียบไทยจากได้สิทธิจีเอสพีจากสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี คาดราคาสับปะรดน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเลยช่วงผลผลิตออกมามาก หรือ ช่วงพีก (พ.ค. ถึง มิ.ย.) แล้ว"

 

[caption id="attachment_295682" align="aligncenter" width="503"] สุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย สุเทพ คงมาก
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย[/caption]

ข้าวเปลือกวูบ 500 บาท/ตัน
นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า ราคาข้าวเปลือกเจ้า (ความชื้น 15%) ที่เกษตรกรขายได้เวลานี้ เฉลี่ยที่ 7,600-7,800 บาท/ตัน ลดลงจากเดือนก่อน 500 บาท/ตัน โดยโรงสีอ้างเหตุผลถูกผู้ส่งออกลดราคารับซื้อข้าวสาร (ข้าวขาว 5%) ลงเหลือ 1.1-1.2 หมื่นบาท/ตัน ทำให้ต้องลดราคารับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรลง ก่อนหน้านี้มีสถานการณ์ข้าวราคาตก โดยผู้ส่งออกอ้างว่า ฝนตกมากขนข้าวลงเรือไม่ได้ มีข้าวเต็มสต๊อก จึงได้เรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสต๊อก แต่ก็ยังไม่แจ้งผลว่าเป็นอย่างไร

"ผมห่วงราคาข้าวช่วงจากนี้ไปจะอ่อนตัวลงอีกหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 11 ก.ค. นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อวางแผนการผลิตและการตลาด รวมถึงมาตรการเพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ซึ่งในส่วนของข้าวเปลือกเจ้าต้องอยู่ที่ระดับ 8,500 บาทต่อตันขึ้นไป ชาวนาถึงอยู่ได้และมีกำไร"

 

[caption id="attachment_295684" align="aligncenter" width="503"] เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เยี่ยม ถาวโรฤทธิ์
รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.)[/caption]

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า ราคายางในประเทศยังไม่ดีมากจากกลไกตลาดถูกตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศชี้นำ ซึ่งทาง กยท. ได้เร่งดำเนินการ 2 แนวทางใหม่ เพื่อช่วยกระตุ้นราคาให้ดีขึ้น ได้แก่ 1.มาตรการสร้างความเข้มแข็งให้กับ 6 ตลาดกลางยางพารา ของ กยท. (นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี สงขลา ยะลา หนองคาย บุรีรัมย์) โดยมีเงินสำรอง 250 ล้านบาท เพื่อสำรองจ่ายให้เกษตรกรที่นำยางมาขายไปก่อน โดยกำหนดราคารับซื้อยางแผ่นดิบและยางแผ่นรวมควันชั้น 3 ราคาเดียว ทั้ง 6 ตลาด ซึ่งราคาจะไม่เท่ากันในแต่ละวัน (เริ่ม 2 ก.ค. 61) ซึ่ง กยท. จะมีรายได้จากผู้ส่งออกที่มาประมูลซื้อ 2.จะประกาศขายยางในสต๊อกของ 6 โรงงานผลิต ของ กยท. ทั้งน้ำยางขัน ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง รวมถึงรับผลิตตามคำสั่งซื้อ


หมู-ไก่ ร้องขาดทุนอ่วม
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า เวลานี้มีผลผลิตสุกร (หมู) มีชีวิตออกสู่ตลาด 4.6 หมื่นตัน/วัน ยังเกินความต้องการ 3-4 พันตัว/วัน ต้นทุนการเลี้ยงเฉลี่ยที่ 62 บาท/กก. ขายได้ 55-59 บาท/กก. ยังขาดทุนเฉลี่ย 500 บาท/ตัว (100 กก.) เวลานี้ได้แก้ปัญหาโดยส่งออกหมูไปกัมพูชาวันละ 1.4-1.5 พันตัว/วัน และกำลังหาลู่ทางส่งออกไปจีน เพื่อระบายสินค้าช่วยให้ราคาหมูในประเทศดีขึ้น


PIG-1

ส่วนนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย กล่าวว่า ราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มที่เกษตรกรขายได้ ณ ปัจจุบัน เฉลี่ยที่ 30-32 บาท/กก. ยังขาดทุนจากต้นทุนเฉลี่ยที่ 33 บาท/กก. จากผลผลิตล้นตลาดและฤดูฝนกำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนตัวลงจากมีทางเลือกในการบริโภคเนื้อสัตว์อย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการได้เร่งส่งออกและลดปริมาณการเลี้ยงไก่ลง เพื่อดันราคาให้คุ้มทุนมากขึ้น

แหล่งข่าวจากเกษตรกร กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีสินค้ากระเทียมนำเข้าราคาต่ำ และกระเทียมลักลอบนำเข้า และสินค้ากุ้ง ได้รับผลกระทบจากคู่แข่งขันมีผลผลิตมาก เช่น อินเดีย สามารถส่งออกได้ในราคาต่ำ ทำให้กุ้งไทยแข่งขันยากขึ้น


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 ก.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
“ตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัยจากล้านนาสู่แดนใต้”ณศูนย์การค้าจังซีลอนภูเก็ต
รัฐบาลยินดี "ราคาสินค้าเกษตรหลัก" ปรับตัวสูงขึ้น กำชับช่วยเหลือผลผลิตที่ยังมีปัญหา


e-book-1-503x62