วิบากกรรมทีวีดิจิตอล

05 ก.พ. 2559 | 00:30 น.
ยุคใดที่เศรษฐกิจมีปัญหาการดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดเป็นวิบากกรรมอันยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการเกือบทุกๆธุรกิจ ยิ่งเป็นพวกที่มีเงินทุนค่อนข้างจำกัดแถมยังอยู่ในธุรกิจที่มีคู่แข่งมากรายก็จะยิ่งยากลำบากมากขึ้น ยกตัวอย่างธุรกิจใกล้ตัวอย่าง "ทีวีดิจิตอล" ที่มีผู้ประกอบการเข้ามาเป็นเจ้าของกันมากรายอย่างในปัจจุบัน

เดิมที ทีวี(ยุคอะนาล็อก)ในบ้านเรามีผู้ประกอบการอยู่เพียงแค่ไม่กี่ราย ส่วนใหญ่เป็นของรัฐหรือไม่ก็ของทหาร มีช่องให้ผู้ชมได้รับชมกันแค่ 6 ช่อง ช่องที่ได้รับความนิยมอยู่ในระดับผู้นำในเวลานั้นคือ ช่อง 7 และช่อง 3 ส่วนช่องอื่นๆ แม้จะตามมาห่างๆ แต่ก็สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดได้แบบสบายๆ แตกต่างจากทีวีในยุคดิจิตอล นอกจากจะมีคู่แข่งมากรายแล้ว ยังมีปัญหาเทคนิคที่ผู้ประกอบการจำนวนมากมักหยิบยกมากล่าวถึงบ่อยครั้ง นั่นคือ การทำงานของผู้คุมหรือ กสทช.ที่ยังขาดในด้านการประชาสัมพันธ์ และช่องโหว่ของ พ.ร.บ. เป็นต้น

แต่จากข้อมูลในงานเสวนา"บทบาท กสทช.ในการปฏิรูปคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียง 4 ปีแห่งความสำเร็จหรือล้มเหลว" โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวันก่อนทำให้เราได้เห็นปัญหาของทีวีดิจิตอลมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมการชมรายการโทรทัศน์และการรับรู้ตราสินค้าสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลของกลุ่มผู้ชมวัยรุ่นที่ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นำมาพูดในงานดังกล่าวน่าจะสะท้อนผลการทำงานของแต่ละทีวีได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผลสำรวจกลุ่มวัยรุ่นที่รับชมทีวีดิจิตอลส่วนใหญ่ยังคงมีปัญหาเรื่องการรับรู้และจดจำเลขช่องโทรทัศน์อยู่มาก เนื่องจากพฤติกรรมคนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเลือกจำโลโก้ช่องดังกล่าว

ขณะที่ประเภทรายการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในสิบอันดับแรกไล่เรียงลงไปได้แก่ ละครไทย ซีรีส์ไทย 47.3% ภาพยนตร์ไทย/ต่างประเทศ 39% การ์ตูน 37.8% ซีรีส์ต่างประเทศ 29.5% ละครซิตคอม 28.8% เรียลลิตี 26.5% ดนตรีประกวดร้องเพลง 24.8% เกมโชว์ 24.8% ข่าว/วิเคราะห์ 18% ถ่ายทอดสดกีฬา 17.5%

ข้อมูลออกมาแบบนี้ ผู้เล่นหรือประกอบการรายเดิมอย่าง ช่อง 7 ช่อง 3 ที่แม้จะปรับเปลี่ยนเรียงช่องกันใหม่ยังไงก็ได้เปรียบถือว่ามีแต้มต่อมากกว่ารายใหม่ ด้วยเพราะความที่เป็นช่องทีวีที่มีครบเครื่องในเรื่องรายการครบทั้งสิบที่ได้รับความนิยมสูงสุด(ตามผลสำรวจ)มาดั้งเดิมและต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ดังนั้นผลสำรวจช่องที่จำได้และมีความชื่นชอบเป็นพิเศษจะมีชื่อของช่อง 3 ช่อง 7 มาเป็นอันดับต้นๆ

ด้วยเหตุนี้จึงมักมีกระแสข่าวไม่ค่อยดีนักในแวดวงธุรกิจทีวีดิจิตอลอยู่บ่อยครั้งในเรื่องของความอยู่รอดของธุรกิจอันเป็นวิบากกรรมของผู้ประกอบการโดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจไม่ดีอย่างในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องที่เกิดช่วงก่อนหน้าที่มีผู้ประกอบการรายหนึ่งประสบปัญหาถึงขั้นต้องประกาศยุติการออกอากาศไปเลย กับกระแสข่าวล่าสุดที่ว่า กำลังจะมีช่องทีวีดิจิตอลอีกประมาณ 7 ช่องที่ผู้ประกอบการโยนผ้าขอคืนคลื่นความถี่โทรทัศน์กับผู้คุมเกมอย่าง กสทช.

หากกระแสข่าวที่ว่าเป็นจริงก็น่าจะเป็นคุณกับผู้ประกอบการที่เหลืออยู่บ้างมามากก็น้อยโดยเฉพาะจำนวนคู่แข่งจะได้ลดจำนวนลงบ้าง แต่ยังไงก็ยังต้องหนักและสาหัสอีกพอสมควร เพราะไหนจะต้องทุ่มเงินลงทุนผลิตคอนเทนต์หรือรายการที่อยู่ในความนิยมให้โดนใจของผู้ชมติดตามอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะต้องทุ่มทุนสร้างแบรนด์หรือโลโก้หรือช่องให้เป็นที่รับรู้กับผู้ชมหรือผู้บริโภคอีกด้วย

สถานการณ์แบบนี้น่าจะถือเป็นวิบากกรรมของทั้งผู้ประกอบการและผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์กันเลยทีเดียว ไม่เช่นนั้นสปอนเซอร์ใหญ่อย่างแบงก์บัวหลวงคงไม่ออกมาเปรยกับนักข่าวว่า "สถานการณ์ธุรกิจทีวีดิจิตอลไปไกลกว่าที่คิด โดยเฉพาะรายได้ไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ตั้งแต่ต้น"

จบข่าว!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559