กรมชลฯยันน้ำไม่ขาดช่วงแล้ง เชื่อเม.ย. ทิศทางเริ่มกลับมาดี

04 ก.พ. 2559 | 06:30 น.
นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่าจากที่รัฐบาลได้มี 8 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมกับหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้องได้พยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยมองเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการไขปัญหา ซึ่งได้มีการแบ่งกลุ่มในการแก้ปัญหาออกเป็นระดับจังหวัด เป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันโดยแต่ละจังหวัดก็จะมีการจัดตั้งศูนย์ในการดูแลเรื่องนี้ ทั้งนี้มีการคาดการณ์ปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะลดลง10%

"สิ่งที่กระทรวงอยากขอความร่วมมือจากเกษตรกรคือการปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เช่นถั่วเขียว ถั่วเหลือง หรือแม้แต่งาดำที่ใช้น้ำน้อยและให้ผลิตผลิตเร็ว ส่วนผลกระทบตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลชัด คงต้องอีก 1-2 เดือนจากนี้น่าจะเห็นผลกระทบที่ชัดเจนมากขึ้น ปีนี้ต้องบอกว่าน้ำต้นทุนเรามีน้อยดังนั้นต้องวางแผนการใช้น้ำให้ดีเพื่อที่จะไม่เกิดผลกระทบในระยะยาว"

อย่างไรก็ดีในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 2 กุมภาพันธ์2559 ทางกระทรวงได้รายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงาน 8 มาตรการภายใต้โครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 ซึ่งมีความคืบหน้าตามลำดับ ระยะที่ 2 ในส่วนกระทรวงฯได้ของบประมาณ 1.81พันล้านบาทในการพัฒนาอาชีพตามความต้องการของชุมชน ซึ่งคาดว่าน่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 7.4แสนรายซึ่งได้รับอนุมัติจากครม.แล้ว

นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนว่า ปีนี้น้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ 2 เขื่อนร่วมกันมีปริมาณน้ำ 3.018 พันล้านลูกบาศก์เมตร และถ้าร่วมกับปริมาณน้ำในงเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์จะมีปริมาณน้ำ 3.800 พันล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ถือว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ลดต่ำมากติดต่อกัน3ปีซ้อน ดังนั้นกรมจะระบายน้ำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เช่นใช้ในอุปโภคบริโภค ในครัวเรือน และในการเกษตรที่จำกัด ม้ว่าจะมีน้ำจากฝนเข้ามาเติมในอ่างก็ตาม ซึ่งกรมได้ให้เจ้าหน้าที่เตรียมแผนงานในการบริหารจัดน้ำไว้พร้อมโดยจะมีการติดตามสถานการร์อย่างใกล้ชิด มั่นใจว่าปรากฎการณ์ตามธรรมชาติน่าจะเริ่มคลี่คลาย ดังนั้นตั้งแต่เดือนเมษายนนี้สถานการณ์น้ำน่าจะกลับมาในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้กรมเองต้องมีแนวทางในการระบายน้ำที่ชัดเจน มั่นใจว่าฤดูแล้งปีนี้ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด หากมีการบริหารจัดการที่ดีจะไม่ขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอน

ผศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตรกรของไทย หากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์จะมีมูลค่าความเสียหายระหว่างปี 2548-2588 มี 2 ระดับ คือมูลค่าความเสียหายแบบรุนแรงจะมีมูลค่าความเสียหายถึง 2.5 ล้านล้านบาท แต่ถ้าได้รับผลกระทบน้อย ความเสียหายจะมีเพียง 6 แสนล้านบาท ส่วนปี 2558/2559 คาดว่าการผลิตในภาคเกษตรจะได้รับความเสียหาย 6.2 หมื่นล้านบาท หากภัยแล้งลากยาวไปถึงเดือนมิถุนายน 2559

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือระยะสั้นกับระยะยาว โดยในระยะสั้นเช่น ลดการปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เป็นต้น ส่วนในระยะยาว เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนมากขึ้น มีการกำหนดราคาน้ำในรูปแบบต่างๆโดยผู้ที่ได้ประโยชน์ต้องรับผิดชอบและชดเชยให้ผู้เสียหาย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,128 วันที่ 4 - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559