สนช.โหวต 193 เสียงรับหลักการร่างกฎหมายเอกสิทธิ์องค์กรระหว่างประเทศในไทย

05 ก.ค. 2561 | 12:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สนช.มีมติ 193 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศฯ ไว้พิจารณา

- 5 ก.ค.2561- ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เอกสิทธิ์และความคุ้มกันสำหรับองค์การระหว่างประเทศและการประชุมระหว่างประเทศในประเทศไทย พ.ศ. .... ด้วยคะแนนเห็นด้วย 193 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมกำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 30 วัน

org_8205848541 นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศ กล่าวต่อที่ประชุมว่า ด้วยประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลาง สำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศ และการจัดการประชุมระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานขององค์การระหว่างประเทศ การเข้ามาเพื่อดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศ และการเข้ามาจัดประชุมระหว่างประเทศ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเข้ามาดำเนินการดังกล่าว องค์การระหว่างประเทศ บุคลากรขององค์การระหว่างประเทศ ผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศ จะเป็นต้องได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกัน หรือสิทธิประโยชน์ระหว่างที่เข้ามาดำเนินการดังกล่าว

ดังนั้น สมควรมีกฎหมายเพื่อกำหนดกรอบการให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกัน สำหรับการดำเนินงานขององค์การระหว่างประเทศ และการประชุมระหว่างประทศภาครัฐ และการให้สิทธิประโยชน์สำหรับการประชุมระหว่างประเทศภาคเอกชน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยในวงการระหว่างประเทศ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับองค์การระหว่างประเทศและผู้จัดการประชุมระหว่างประเทศ

ด้านสมาชิก สนช.เห็นด้วยกับหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พร้อมเสนอแนะข้อมูลความเห็นในด้านต่าง ๆ อาทิ การเขียนกฎหมายจะต้องมองอย่างรอบด้านและครอบคลุมถึงอนาคต ควรเพิ่มบทลงโทษที่เป็นมาตรฐานสากลที่ทั่วโลกถือปฏิบัติ หากเกิดกรณีมีผู้ละเมิดเอกสิทธิ์ พร้อมมองว่าการให้เอกสิทธิ์ควรครอบคลุมเฉพาะคู่สมรสและบุตรเท่านั้น