สินเชื่อครึ่งหลังทะลุ 3 แสนล้าน!

05 ก.ค. 2561 | 05:16 น.
050761-1158

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินเอ็นพีแอลขยับเพิ่มเล็กน้อย พร้อมปรับสินเชื่อโตเป็น 5% คาดครึ่งปีหลังยอดสินเชื่อแตะ 3.13 แสนล้านบาท ด้าน 'ยูโอบี-ซีไอเอ็มบี ไทย' ชี้คุณภาพสินเชื่อปล่อยใหม่ปรับดีขึ้น-หนี้เสียเกิดใหม่น้อย

น.ส.กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย กลุ่มงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
 ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ไตรมาส 3 ของธนาคารพาณิชย์ ทั้งระบบ ยังคงมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย มาอยู่ที่ 2.93% เพิ่มจากในไตรมาส 2 ที่เอ็นพีแอลทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่อยู่ 2.92% ซึ่งเอ็นพีแอลที่ขยับเพิ่มขึ้นยังคงมาจากสินเชื่อกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นกลุ่มเดิมที่เป็นปัญหาเดิม โดยเอ็นพีแอลกลุ่มเอสเอ็มอีไตรมาส 1 อยู่ที่ 4.5% เพิ่มขึ้นจาก 4.37% ในไตรมาส 4 ปี 2560 และกลุ่มที่อยู่อาศัยเพิ่มจาก 3.23% ในไตรมาส 4 ปี 2560 มาอยู่ที่ 3.38%


P1-3255-a

"ไตรมาส 3 เอ็นพีแอลน่าจะเพิ่มขึ้นต่อ อาจจะขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ระดับ 2.93% ซึ่งกลุ่มหลัก ๆ ที่ยังเพิ่มขึ้นจะเป็นเอสเอ็มอีและบ้าน และสิ้นปีคาดว่าน่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.9% เพราะไตรมาสสุดท้ายแบงก์จะเริ่มกลับมาดูประเด็นเรื่องบริหารการจัดงานหนี้"

สำหรับแนวโน้มสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อทั้งระบบน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 5.2% และหากดูสัญญาณการเติบโตในช่วงที่เหลือ น่าจะขยายตัวได้สูง ดังนั้น ศูนย์วิจัยจึงได้ปรับประมาณการเติบโตของสินเชื่อภาพรวมทั้งระบบขยายตัวอยู่ที่ 5% จากเดิม 4.8% โดยสินเชื่อธุรกิจรายย่อยและสินเชื่อธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นบน ทั้งนี้ สินเชื่อช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.13 แสนล้านบาท จากครึ่งแรกของปีที่ขยายตัวอยู่ที่ 2.87 แสนล้านบาท ขณะที่ เงินฝากและตั๋วแลกเงิน (B/E) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.5% เป็น 5.5%


aaatp14-3184-b

นอกจากนั้น ยังได้รับประมาณการเติบโตสินเชื่อในแต่ละธุรกิจ โดยสินเชื่อรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 8.5% จากคาดการณ์เดิมโตเพียง 5.5% ขณะที่ สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่มีอัตราการเติบโตลดลง จึงปรับประมาณการสินเชื่อลดลงเหลืออยู่ที่ 2.5% จาก 3.5% เนื่องจากฐานการเติบโตสินเชื่อรายใหญ่ในช่วงครึ่งปีก่อน มีฐานการเติบโตที่ค่อนข้างสูง ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดใหญ่มีทางเลือกในการระดมทุนหลายทาง เช่น การออกหุ้นกู้ หรือ ระดมทุนต่างประเทศ เป็นต้น ทำให้ความต้องการให้สินเชื่อไม่มากนัก

ด้าน นางสยุมรัตน์ มาระเนตร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลธนาคารยังคงเป็นทิศทางเพิ่มขึ้น โดยปีนี้มีโอกาสแตะที่ระดับ 5% เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ธนาคารชะลอการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลกระโดดสูงขึ้น เป็นผลจากสินเชื่อที่ลดลง อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขหนี้เอ็นพีแอลเกิดใหม่และคุณภาพสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา มีทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น คาดว่าหลังจากปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จะส่งผลให้เอ็นพีแอลมีโอกาสปรับลดลงได้ ส่วนหนึ่งมาจากสินเชื่อใหม่ที่เติมลงไปในพอร์ตและคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น แต่โอกาสจะปรับลดลงเหลือต่ำกว่า 5% อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ขณะที่ น.ส.อรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลของสินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3.5% จากสิ้นปีก่อน และคาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะทรงตัวหรือขยับขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปล่อยใหม่ หรือ เอ็นพีแอลเกิดใหม่ ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เอ็นพีแอลที่อยู่ในระดับสูงนั้นมาจากหนี้เอ็นพีแอลค้างเก่าในช่วงที่มีมาตรการอสังหาริมทรัพย์ในปี 2556 ที่ทุกสถาบันการเงินเร่งปล่อย ทำให้เอ็นพีแอลเร่งตัวขึ้น ขณะที่ ธนาคารก็ทยอยปรับโครงสร้างหนี้และแก้ปัญหาเอ็นพีแอลค้างเก่าอย่างต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_295429" align="aligncenter" width="503"] ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน ชาติชาย พยุหนาวีชัย
ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน[/caption]

ส่วน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า เอ็นพีแอลปัจจุบันอยู่ที่ 2.42% ซึ่งน่าจะเป็นระดับสูงสุดของธนาคาร เพราะช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เอ็นพีแอลจะทรงตัวในระดับ 2.3-2.4% เป็นอัตราต่ำสุดในระบบ ทั้งที่ลูกหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเศรษฐกิจฐานรากและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะมีความเสี่ยงมากกว่าลูกค้าทั่วไป แต่จากการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้นอกระบบ 1.2 แสนราย มูลหนี้ 5 พันล้านบาท มีเอ็นพีแอลที่ระดับ 3.7% ปัจจุบัน มียอดคงค้าง 3.9 พันล้านบาทเท่านั้น มีการชำระคืนกว่า 1 พันล้านบาท และกำลังปล่อยเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท ตามนโยบายรัฐบาล

"แม้ภาพรวมเศรษฐกิจขยายตัวดี แต่ยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ยังไม่ดี จากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่อ อย่าง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และอ้อย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ก็มีบางกลุ่มที่รายได้ดีมาก อย่าง เกษตรกรผู้ปลูกผลไม้ ทุเรียนราคาดีมาก"


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 ก.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สินเชื่อสุทธิ พ.ค.61ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องขณะที่เงินฝากชะลอลงเล็กน้อย
บสย.ฉลองชัย 25 ปี ค้ำประกันสินเชื่อ 7 แสนล้าน


e-book-1-503x62