กฟผ. รุก! รับเทคโนโลยี จับมือพันธมิตรลดความเสี่ยงลงทุน

13 ก.ค. 2561 | 11:58 น.
ภายใต้สถานการณ์ของการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็ว (Disruption Technology) ซึ่งเข้ามามีบทบาทต่อภาคพลังงานค่อนข้างมาก ส่งผลให้องค์กรขนาดใหญ่อย่าง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ จำเป็นต้องปรับตัวตามไปด้วย ซึ่งการเข้ามารับตำแหน่งของ นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ.คนใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2561 เป็นต้นมานั้น ถูกภาคส่วนต่าง ๆ จับตามองว่าจะนำพา กฟผ. ไปในทิศทางไหน ภายใต้ยุคเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก โดยผู้ว่าการ กฟผ. ได้ให้สัมภาษณ์ไว้อย่างน่าสนใจ


วิบูลย์ กฟผ2 (1)

จับมือพันธมิตรทำธุรกิจ
นายวิบูลย์ ชี้ให้เห็นว่า ภายใต้สถานการณ์ของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ กฟผ. จะต้องปรับตัวตามเทคโนโลยีให้ทัน และจะต้องสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ ซึ่งแนวทางดำเนินงานนั้น จะเน้นการทำธุรกิจร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน จากที่ผ่านมา กฟผ. เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ปัจจุบัน กฟผ. ได้มีการลงนามความร่วมมือกับ 3 หน่วยงานแล้ว ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) , บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และกลุ่มเอสซีจี (SCG) เป็นต้น

โดยความร่วมมือกับ ปตท. นั้น ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 5 ด้าน ได้แก่ ด้านธุรกิจเชื้อเพลิง, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ, โครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ, ธุรกิจใหม่ และการพัฒนาชุมชนให้ได้รับประโยชน์ร่วมกับ กฟผ. ทั้งนี้ คาดว่ากลางเดือน ก.ค. 2561 จะได้เห็นโครงการนำร่องที่ชัดเจนขึ้น

ส่วนความร่วมมือกับ CAT จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการสื่อสารเป็นหลัก และความร่วมมือกับกลุ่มเอสซีจีจะเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลส์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) เนื่องจาก กฟผ. มีแผนลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ลอยน้ำในเขื่อนของ กฟผ. จำนวน 11 เขื่อน เป้าอยู่ที่ 1 พันเมกะวัตต์ รวมถึงการร่วมกับพันธมิตรในการนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี 1.5 ล้านตันต่อปีด้วย

นอกจากนี้ กฟผ. มีความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำนวัตกรรมมาต่อยอดพัฒนาองค์กรและเป็นการหาพันธมิตรเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรด้วย โดยที่ผ่านมา มีความร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ในโครงการวิจัยและพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดกลางซื้อขายพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ และจัดทำแผนที่นำทางแพลตฟอร์มดิจิตอลการไฟฟ้าแห่งชาติ หรือ NETP ส่งเสริมการบูรณาการ การจัดทำโครงการวิจัยและพัฒนาร่วมกันของรัฐวิสาหกิจ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐ พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานในอนาคต


ปรับองค์กรให้กระชับ
นายวิบูลย์ กล่าวอีกว่า การปรับโครงสร้างองค์กรตามการศึกษาของทาง บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์สฯ (PwC) ซึ่งเป็นที่ปรึกษานั้น ก็เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่เปลี่ยนไป โดย กฟผ. จะต้องปรับตัวให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันกับเอกชนได้ดีขึ้น มีต้นทุนการดำเนินการที่ลดต่ำลง แต่ยืนยันว่า จำนวนพนักงานที่จะลดลงไปในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะไม่ใช้วิธีการปลดหรือเลิกจ้าง แต่มาจากการเกษียณอายุงานตามปกติ ปีละ 1.2-1.4 พันคน ทำให้พนักงานที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2.2 หมื่นคน ลดลงเหลือประมาณ 1.6 หมื่นคน และจะไม่รับพนักงานเพิ่ม ซึ่งเมื่อองค์กรเริ่มนิ่ง และรู้ว่ามีบุคลากรส่วนไหนที่จำเป็นจะต้องรับเพิ่มให้สอดคล้องกับโครงสร้างใหม่ จึงจะมีการพิจารณารับเพิ่มเข้ามา ดังนั้น การปรับองค์กรในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีพนักงานที่เกษียณมาก เป็นจังหวะที่จะปรับองค์กรให้สอดคล้องจำนวนพนักงานที่เหลืออยู่ จึงไม่จำเป็นต้องปรับลดพนักงานด้วยวิธีการอื่นอีก ส่วนจะมีการรับพนักงานใหม่เพิ่มหรือไม่นั้น คงต้องรอการปรับองค์กรให้นิ่ง แล้วค่อยมาพิจารณาว่าจะต้องเพิ่มในส่วนใดอีกหรือไม่


ลงทุนตามแผนพีดีพี
สำหรับการปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง จะทำให้ กฟผ. ดำเนินการตามภารกิจหลัก คือ การสร้างความมั่นคงไฟฟ้าให้กับประเทศได้ดีขึ้น โดยแผนการลงทุน 5 ปี ของ กฟผ. จะมีการทบทวนให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพีฉบับใหม่) ปัจจุบัน ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่า สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ในอนาคตจะเหลือเท่าไหร่ จากปัจจุบันมีอยู่ราว 36% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ ที่มีอยู่กว่า 4 หมื่นเมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นนั้น กฟผ. ได้ติดตามเพื่อที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้หรือไม่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องวิเคราะห์ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อระบบความมั่นคงของระบบไฟฟ้าอย่างไร เพื่อจะพัฒนาโครงการต่าง ๆ เพื่อให้การเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น การพัฒนาโครงการระบบส่งไฟฟ้า รองรับพลังงานหมุนเวียนตามแผนพีดีพี พัฒนาระบบส่งไฟฟ้าเชื่อมโยงภูมิภาคต่าง ๆ ให้เข้มแข็ง พัฒนาระบบสมาร์กริดให้การผลิตและจ่ายไฟฟ้ามีเสถียรภาพ รวมทั้งพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน

"กฟผ. ไม่สามารถประเมินได้ว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าที่เหมาะสมของ กฟผ. ควรอยู่ในระดับใด เพราะต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพีดีพี เบื้องต้น รัฐบาลต้องการให้มีโรงไฟฟ้ามั่นคง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างศึกษารายละเอียดของโรงไฟฟ้ามั่นคงดังกล่าว"


……………….
สัมภาษณ์พิเศษ : วิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. โดย ศิริวรรณ ศรีเอี่ยมจันทร์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,380 วันที่ 5-7 ก.ค. 2561 หน้า 09

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดนโยบายผู้ว่าการกฟผ.คนที่14สร้างความมั่นคงระบบไฟฟ้าให้ปท.
สั่งกฟผ.ทำการบ้าน รับมือสำรองไฟฟ้าพุ่ง


e-book-1-503x62