ปั่นพลังงานสะอาด ป้อน‘สมาร์ทซิตี’

21 ก.ค. 2561 | 22:40 น.
ในการโรดโชว์ที่ฮ่องกงและเสินเจิ้นเพื่อชักชวนทุนจีนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี นำทีมโดย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อเร็วๆนี้ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในตัวแทนภาคธุรกิจเอกชนของไทยที่ได้มีโอกาสจับคู่เซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับฝ่ายฮ่องกง คือ บริษัท ซีแอลพี อินโนเวชั่น เอ็นเตอร์ไพรเซสฯ (CLP Innovation Enterprises) เป้าหมายเพื่อร่วมกันพัฒนาและทดสอบรูปแบบทางธุรกิจ (business model) ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานทางด้านพลังงานในนิคมอุตสาหกรรมของอมตะ เพื่อเสถียรภาพของพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีราคาที่แข่งขันได้

ลีน่า อึ้ง หัวหน้าสายงานลงทุน (Chief Investment Officer) บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชันฯ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับความร่วมมือครั้งนี

ตอบโจทย์เมืองอัจฉริยะ

“ความร่วมมือในครั้งนี้นับว่ามีความสำคัญที่สุดเพราะว่าประเทศไทยมีนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆให้ทันสมัย อมตะฯตระหนักดีถึงความสำคัญในเรื่องนี้  เราจึงพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้เป็น“สมาร์ทซิตี” เป็นเมืองอัจฉริยะ ซึ่งส่วนสำคัญของเมืองอัจฉริยะที่เราพูดถึงก็คือ การใช้ไฟฟ้าที่มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ความร่วมมือของอมตะ กับบริษัท ซีแอลพีฯ  จึงตอบโจทย์ตรงนี้ เพราะเรามีแผนจะติดตั้งแท่นโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ เพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าใช้ภายในนิคม” ลีน่าเล่าเปิดประเด็นพร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า

[caption id="attachment_295191" align="aligncenter" width="401"] ลีน่า อึ้ง ลีน่า อึ้ง[/caption]

จุดติดตั้งแท่นโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้าจะอยู่ที่ “อมตะซิตี้ ชลบุรี” ซึ่งมีอ่างนํ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เป็น แหล่งนํ้าสะอาดป้อนการอุปโภคบริโภคในพื้นที่นิคมอยู่แล้ว หลังจากนี้ทางฝ่ายซีแอลพีจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อนซึ่งเมื่อทำเสร็จ ก็พร้อมเดินหน้าติดตั้งเลยภายในปี 2561 นี้ โดยการลงทุนติดตั้งและบริหารดำเนินการแท่นโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้า จะเป็นการลงทุนของซีแอลพี ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า มูลค่าการลงทุนจะเป็นเท่าใดเพราะยังต้องทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการก่อน และเท่าที่ทางซีแอลพีเคยทำมานั้น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตั้งแต่ 50-100 เมกะวัตต์

สร้างเสถียรภาพพลังงาน

“ในวิสัยทัศน์ระดับประเทศนั้น ประเทศไทยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2579 ทางนิคมของเราเองก็มีความมุ่งมั่นที่จะช่วยผลักดันเป้าหมายดังกล่าว เราก็จะเพิ่มสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนขึ้นไปเรื่อยๆ ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับนั้นมีถึง 2 อย่าง คือ 1 เราได้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาไว้ใช้เอง

และ 2 คือ เราได้ประโยชน์ในแง่ของการรักษาแหล่งนํ้าภายในนิคมให้มีการสูญเสียจากการระเหยน้อยลง เนื่องจากมีแท่นโซลาร์ฟาร์มลอยนํ้าเป็นเหมือนร่มบังแดดให้แหล่งนํ้า การระเหยสูญเสียไปในอากาศจึงน้อยลง ทำให้ลูกค้านิคมของเรามั่นใจได้ว่า จะมีนํ้าใช้ในนิคมอย่างเพียงพอตลอดเวลา คือนอกจากมีไฟฟ้าใช้แล้ว ยังมีนํ้าใช้ไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน”

มองในภาพรวมว่า โครงการนี้จะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และสร้างเสถียรภาพด้านพลังงานให้กับฐานการผลิตแห่งนี้ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ความร่วมมือของอมตะ และบริษัท ซีแอลพีฯ ภายใต้ MOU ฉบับนี้ยังจะรวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานในส่วนอื่นๆของนิคมอุตสาหกรรมของอมตะอีกด้วย อาทิ การพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าในเขตอมตะ ดิจิตอล โซน (AMATA Digital Zone) และทางเลือกในการบริหารจัดการแหล่งพลังงานเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมในสภาพแวดล้อมเมืองอัจฉริยะ (smart city) ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 2 ปี

สัมภาษณ์ : รัตนศิริ สุขัคคานนท์

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,380 วันที่ 5-7 กรกฎาคม 2561 e-book-1-503x62-7