แก้ผังเมืองอุตฯชีวภาพ! ดันให้โรงงานเกิด คลังหนุนมาตรการภาษีหักค่าใช้จ่ายผู้ใช้ผลิตภัณฑ์

10 เม.ย. 2561 | 11:57 น.
อุตฯชีวภาพเดินหน้า! ชง 'อุตตม' ดันมาตรการพัฒนาเข้าสู่ ครม. เห็นชอบ พ.ค. นี้ หลังกรมโยธาฯ ไฟเขียวแก้ผังเมืองตั้งโรงงานในพื้นที่สีเขียวได้ ขณะที่ กระทรวงการคลังหนุนมาตรการการเงินให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หักลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 5 ปี

มีความชัดเจนขึ้นกับร่างมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโออีโคโนมี ปี 2561-2570 ที่ล่าสุด คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศ มี นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ได้นำเสนอร่างดังกล่าวต่อ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีในช่วงเดือน พ.ค. 2561 นี้ หลังจากที่ล่าช้ามานาน

สำหรับการแก้อุปสรรคดังกล่าว ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงให้ใช้ผังเมืองรวม เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี และเชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ที่มีความเหมาะสม หรือ พื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และขอนแก่น เป็นต้น ขณะที่ กระทรวงการคลังจะออกมาตรการการเงินการคลังในการสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ

ทั้งนี้ การส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางชีวภาพของอาเซียนภายในปี 2570 เน้นผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ จะก่อให้เกิดการลงทุนไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท มีการผลิตยาชีววัตถุและวัคซีนระดับโลกอย่างน้อย 20 รายการ มีการจ้างงานภาคเกษตรกรรมอย่างน้อย 8 แสนครัวเรือน และมีการผลิตและจ้างงานที่มีทักษะสูงไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นตำแหน่ง

นายศิริ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สำหรับร่างมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพนั้น ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปแล้ว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ในช่วง พ.ค. นี้ ซึ่งประกอบไปด้วย 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การกระตุ้นความต้องการใช้ เช่น การออกมาตรการ Green Tax Expense เพื่อส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพของนิติบุคคล อาทิ ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรอง ให้สามารถหักลดค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในปีแรกจะนำร่องในกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การกำหนดมาตรการให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยว ทั้งทางบก ทางทะเล และชายฝั่ง ใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ การรณรงค์ให้ความรู้และสร้างกระแสให้ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เป็นต้น

2.การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ผลิต การปรับปรุง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย ให้สามารถนำน้ำอ้อยไปผลิตสินค้าชนิดอื่นได้นอกจากน้ำตาล การปรับปรุงประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องการตั้งโรงงานที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบในทุกท้องที่ เพื่อให้โรงงานสามารถตั้งได้ในรัศมีต่ำกว่า 50 กิโลเมตร จากโรงงานน้ำตาลเดิมที่มีอยู่ ปรับปรุงกฎกระทรวงมหาดไทย เพื่ออนุญาตให้สามารถก่อสร้างอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่สีเขียวและพื้นที่ที่มีศักยภาพ สำหรับดำเนินกิจการอุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ

3.การสร้างเครือข่ายในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยให้สถาบันพลาสติกเป็นหน่วยงานกลาง ทำหน้าที่ประสาน/เชื่อมโยงกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซีไอ ในการบริหารเทคโนโลยี

และ 4.การเร่งรัดการลงทุนในประเทศ โดยจะมีการพิจารณาสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม สำหรับการจัดตั้งเขตส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ

โดยเฉพาะการเร่งรัดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ซึ่งปัจจุบัน มีผู้ประกอบการสนใจอยู่ 3 ราย ได้แก่ บริษัท Baxter จะลงทุนในโครงการผลิต Polylactic Acid (PLA) มูลค่า 3.5 พันล้านบาท บริษัทร่วมทุนระหว่าง Total & Corion ลงทุนโครงการผลิตน้ำยาล้างไต มูลค่า 2.24 พันล้านบาท และบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC ลงทุนโครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ มูลค่า 4 พันล้านบาท และเชื่อมโยงไปสู่การลงทุนในพื้นที่นครสวรรค์และขอนแก่น


GP-3355_180703_0004

……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,355 วันที่ 8-11 เม.ย. 2561 หน้า 11

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กลุ่มปิโตรเคมีชะลอลงทุน จี้รัฐแก้ผังเมืองมาบตาพุดให้ชัดเจนหนุนคลัสเตอร์เกิด
จัดผังใหม่‘อีอีซี’ 3 จังหวัดรวมเป็นเนื้อเดียว-เอื้อลงทุน


e-book-1-503x62-7