นวัตกรรม ‘Upcycled’เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก

10 ก.ค. 2561 | 05:43 น.
นวัตกรรม ‘Upcycled’เพิ่มมูลค่าขยะพลาสติก

การนำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ (Reuse) นวัตกรรม “Upcycled” ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับเศษวัสดุ กำลังเป็นนวัตกรรมที่โลกสีเขียวให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันเป็นนวัตกรรมที่หากเลือกรูปแบบการนำมาใช้ให้ดี จะเกิดประโยชน์มหาศาล อย่างเช่นที่แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น (MQDC) ได้ร่วมกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) จับมือกันนำพลาสติกใช้แล้ว มาสร้างเป็นวัสดุก่อสร้าง เพื่อใช้กับโครงการของ MQDC ทั้งหมด

MQDC ยังได้ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร. ธัญบุรี) และศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือศูนย์ RISC (Research & Innovation for Sustainability Center - RISC) โดยเริ่มจากการนำขยะ 60 ตัน หรือถุงพลาสติกประมาณ 10 ล้านถุง ที่ได้จาก GC พัฒนาเป็นคอนกรีตขอบถนนในโครงการฟอเรสเทียส์ ซึ่งจะเริ่มโครงการในปี 2562 โดยราคาคอนกรีตอัพไซลิ่งนี้ จะใกล้เคียงกับคอนกรีตทั่วไป

PHAT1544
“วิสิษฐ์  มาลัยศิริรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MQDC กล่าวว่า อัพไซลิ่ง (Upcycling) เป็นส่วนหนึ่งของการรีไซเคิล ที่จะช่วยแก้ปัญหาพลาสติกเหลือทิ้งที่ไทยเผชิญอยู่ ในขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งเหล่านี้ MQDC และพันธมิตรจะหาวิธีการใหม่ๆ ที่จะแปรรูปจากพลาสติกใช้แล้ว ตลอดจนเศษวัสดุต่างๆ จากท้องทะเล มาสร้างเป็นวัสดุที่เกิดประโยชน์ต่องานก่อสร้างให้มากขึ้น และนำวัสดุเหล่านั้นมาใช้ในโครงการของ MQDC ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาว่าด้วยนวัตกรรมยั่งยืนเพื่อคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน
(Sustainnovation for all well-being)

ในช่วงเริ่มต้น วัสดุอัพไซลิ่งจากขยะพลาสติก MQDC จะนำไปใช้ในพื้นที่ภายนอกอาคารเป็นหลัก เพื่อไม่ให้ลูกบ้านเกิดความกังวล และยังพิสูจน์ให้เห็นถึงความแข็งแรงของวัสดุดังกล่าว

“วราวรรณ ทิพพาวนิช” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร GC กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของ GC สู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากวัสดุ Upcycling จะถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ช่วยจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับสังคม ด้วยคุณสมบัติของวัสดุที่แข็งแรงทนทานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่ง
โครงการนี้สอดคล้องกับแนวทางดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ของ GC ที่ให้ความสำคัญต่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

PHAT1537

GC คือผู้ผลิตพลาสติก ซึ่งเป็นวัสดุที่ยังจำเป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การทำให้คนใช้พลาสติกอย่างถูกวิธี ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า GC ได้ทำโครงการ Upcycling Plastic Waste จัดเก็บขยะมาแปรรูปสร้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด GC ได้เก็บขยะจากเกาะเสม็ด 10 ตัน มาแปรรูปเป็นสินค้านวัตกรรมมูลค่าสูง เช่น กระเป๋าจากเส้นใยพลาสติก หรือ เสื้อยืดที่รีไซเคิลจากขวดเพ็ต

“รศ.ดร. สิงห์ อินทรชูโต” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์ RISC และผู้อำนวยการศูนย์ Scrap Lab มก. อธิบายว่า ความร่วมมือครั้งนี้ GC จะเป็นผู้นำขยะเหลือใช้มาเป็นวัสดุในการพัฒนา ส่วน มทร.ธัญบุรี CSC (Customer Solution Center) ของ GC และ RISC ทำหน้าที่ในการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง ส่วน Scrap Lab คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำหน้าที่ออกแบบวัสดุ เพื่อนำมาใช้ในโครงการของ MQDC

ไทยถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 6 ของประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก และจากการสำรวจข้อมูลปริมาณขยะพลาสติกของกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พบว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกมากถึง 12% ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือราว 2 ล้านตันต่อปี โดยขยะพลาสติกเหล่านี้ ถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์เพียงปีละ 5 แสนตัน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ถูกกำจัดด้วยวิธีเผาหรือฝังกลบ และบางส่วนตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อม

การนำวัสดุแปรรูปจากพลาสติกมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม จะช่วยให้การแก้ปัญหาและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากเป็น วิธีที่ใช้พลังงานน้อยกว่าการรีไซเคิลแบบเดิมๆ โดยโครงการความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นการสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้บริโภค ให้ปรับพฤติกรรมมาเป็นการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ รวมทั้งกระตุ้นให้นักคิดนักพัฒนาทั้งหลาย เห็นแนวทางในการนำขยะพลาสติก มาสร้างให้เกิดคุณค่า และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจได้อีกด้วย

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่38 ฉบับ 3380 ระหว่างวันที่ 5 - 7 ก.ค. 2561

e-book-1-503x62-7