Zen นำ 'ศาสตร์พระราชา' สร้างแกร่งธุรกิจ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา"

02 ก.ค. 2561 | 10:25 น.
ถ้าพนักงานไม่มีความสุข ทำงานแล้วมีความรู้สึกไม่ชอบผู้บังคับบัญชา ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน ไม่ชอบงานที่ทำ ไม่รักบริษัท เทิร์นโอเวอร์เยอะแน่!

เส้นทางแห่งความสำเร็จของผู้บริหารมืออาชีพ ที่เคยสร้างแบรนด์วิงเกอร์ให้เป็นที่รู้จักและเติบโตมาแล้ว วันนี้ 'บุญยง ตันสกุล' โยกย้ายจากการทำหน้าที่ผู้นำในบริษัทจัดจำหน่ายสินค้าในระบบขายตรงแบบเช่าซื้อ แบรนด์ 'ซิงเกอร์' มาสู่ธุรกิจอาหาร ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด ที่มีแบรนด์ร้านอาหารในมือทั้งไทยและญี่ปุ่น รวมกันถึง 13 แบรนด์

'บุญยง' บอกว่า ไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลยสำหรับธุรกิจอาหาร เพราะเขาเป็นคนชอบหาร้านอาหารอร่อย ๆ ชอบการเดินทางท่องเที่ยวอยู่แล้ว และด้วยทักษะการเป็นนักทานและนักเที่ยว มาประยุกต์ใช้กับธุรกิจอาหารของเซ็นฯ ได้เป็นอย่างดี รวมทั้งนำกลยุทธ์ที่เคยทำงานกับซิงเกอร์มาปรับใช้กับการขยายธุรกิจร้านอาหารได้อย่างดีด้วยเช่นกัน โดยก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง เขาได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการอิสระของเซ็นฯ มาแล้ว 2 ปี ทำหน้าที่ให้คำแนะนำมาเรื่อย ๆ ระหว่างนั้น เขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นจุดอ่อน-จุดแข็งขององค์กรมาตลอด พอได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูโอปอเรชันทั้งหมด ก็สามารถเดินเครื่องทำหน้าที่ได้ทันที ตั้งแต่ 1 มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา

"ผมเชื่อว่า ในการบริหาร ผู้นำ คือ ผู้รับใช้ ... เวลาบริหารงาน เราอยากสร้างความใกล้ชิด ยิ่งใกล้ชิด ก็ยิ่งเกิดไอเดียใหม่ ๆ การได้ลงพื้นที่ บริหารงานแบบ Management by Walking Around แนวคิดผมมาแบบนั้น ระหว่างพนักงานและผู้บริหาร ผมอยากสร้างให้ทุกคนในเซ็นฯ เป็นหนึ่งในเรื่องทีมเวิร์ค"


Khun Boonyong (2)

'บุญยง' ได้นำศาสตร์พระราชาในเรื่องของ "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ที่เขาเคยใช้มาตั้งแต่ตอนอยู่ซิงเกอร์ เข้ามาพัฒนาใช้กับกลุ่มเซ็นฯ ใช้เวลาส่วนใหญ่กับการลงพื้นที่ สัมผัสพูดคุยกับทีมงาน ได้มองเห็นบรรยากาศการทำงาน และบรรยากาศในร้านอาหารว่าเป็นอย่างไร เป็นการสร้างความเข้าใจในธุรกิจร้านอาหารแต่ละแบรนด์ ซึ่งแต่ละแบรนด์จะมีคอนเซ็ปต์และกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน และเมื่อพบเจอสิ่งใดที่ต้องปรับปรุงพัฒนา ก็เร่งดำเนินการทันที

โจทย์ที่ซีอีโอคนนี้ได้รับจากบอร์ดบริหาร คือ การสร้างกลุ่มธุรกิจอาหารของเซ็นฯ ให้แข็งแกร่งและเติบโต โดยมีเป้ารายได้ 10,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 5 ปี มีการขยายสาขาเดือนละ 5-10 สาขา กระจายไปทั่วประเทศ พร้อม ๆ กับการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ สร้างแบรนด์ร้านอาหารให้เป็นโกลบอลแบรนด์ ซึ่งทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม เพราะผู้นำคนนี้มีแผนและมีกลยุทธ์ในการมิกซ์แอนด์แมทช์ความรู้จากแบรนด์อาหารไทยไปสู่แบรนด์อาหารญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย

สิ่งที่เขานำมามิกซ์แอนด์แมทช์ คือ การเรียนรู้ระบบแฟรนไชส์จากธุรกิจอาหารไทย แบรนด์ตำมั่ว มาประยุกต์ใช้กับแบรนด์ญี่ปุ่นอย่าง อากะและออนเดอะเทเบิล โตเกียว คาเฟ่ รวมทั้งแบรนด์อื่น ๆ ในเครือ ก็สามารถขยายสาขาได้ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการปรับโมเดลร้าน เมนูอาหารให้เหมาะสม อาจจะขยายไปในรูปแบบคีออท ไมโครไซด์ หรือรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ ตามความเหมาะสม พร้อมทั้งนำระบบแฟรนไชส์เงินผ่อน ที่เคยทำกับซิงเกอร์ เข้ามาประยุกต์ใช้ ซึ่งขณะนี้ เขาได้เริ่มทดลองทำแล้ว 3 สาขา สำหรับคนที่สนใจเข้ามาทำแฟรนไชส์กับเซ็นฯ แต่ขาดทุน เขาติดต่อแหล่งเงินทุนให้ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ เอสซีบี ทำให้ผู้ลงทุนสามารถกู้ได้ 100% และสามารถคืนทุนได้ภายใน 4-5 ปี

วิธีคิดที่มีความยืดหยุ่นและปรับรูปแบบร้านใหม่ ๆ ทำให้เซ็นฯ หมดข้อจำกัดในการขยายสาขาที่ต้องรอห้างเปิดใหม่ จึงจะได้พื้นที่เพิ่ม จึงหมดไป เพราะฉะนั้นการเติบโตตามเป้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สิ่งหนึ่งที่ 'บุญยง' ให้ความสำคัญในเบื้องต้น คือ คน คน และคน




Khun Boonyong (11)

เขามีการจัดคอร์สอบรมพัฒนาทักษะพนักงานต่อเนื่อง โดยมีแผนจะเปิดเป็น 'เซ็น อะคาเดมี' ในปีหน้า ขณะเดียวกัน เขาก็พยายามผูกใจพนักงานให้อยู่กับองค์กร เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารถือเป็นธุรกิจที่มีการหมุนเวียนพนักงานสูงมาก ... "คนส่วนใหญ่บอกว่า ลูกค้ามาก่อน แต่สำหรับผม พนักงานมาก่อน" ... สิ่งที่ต้องทำ คือ การทำให้พนักงานมีความสุข เมื่อเขามีความสุข เขาจะส่งความสุขออกไป มีความสนุกสนาน มีรอยยิ้ม ทำให้อาหารอร่อย มีการส่งต่อบริการที่ดีให้กับลูกค้า ... ถ้าพนักงานไม่มีความสุข พนักงานทำงานแล้วมีความรู้สึกไม่ชอบผู้บังคับบัญชา ไม่ชอบเพื่อนร่วมงาน ไม่ชอบงานที่ทำ ไม่รักบริษัท เทิร์นโอเวอร์เยอะแน่นอน ... นั่นคือ สิ่งที่ซีอีโอคนนี้ย้ำ

'บุญยง' บอกว่า โจทย์ใหญ่ของเขาตอนนี้ คือ การสร้างทีมเวิร์คให้แข็งแกร่ง ซึ่งนั่น คือ หัวใจสำคัญที่จะทำให้กลุ่มเซ็นฯ สามารถเติบโตได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เขามีหน้าที่ที่ต้องสร้างให้เซ็นฯ ซึ่งอยู่มาแล้ว 27 ปี สามารถอยู่และเติบโตได้อย่างต่อเนื่องเป็น 100 ปี โดยมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ

ซีอีโอคนนี้ บอกว่า เขายังเห็นโอกาสอีกเยอะสำหรับธุรกิจร้านอาหาร การเข้ามาเริ่มต้นหน้าที่ใหม่กับบ้านหลังใหม่ด้วยเวลาไม่ถึงเดือน แต่เขาศึกษารายละเอียดมาแบบถี่ยิบ ในวันนี้ เขาจึงรู้สึกสนุกมากกับบ้านหลังใหม่ ที่ไม่ต้องไปลงพื้นที่เดินตากแดด แต่วันนี้ธุรกิจของเขาอยู่ในห้าง เดินห้องแอร์ สัมผัสกับลูกค้ากลุ่มเดียว ไม่ใช่คนทั้งประเทศเหมือนเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น ทุกอย่างสบายขึ้นและง่ายกว่าเดิมเยอะ ดังนั้น เป้าหมายที่ตั้งไว้ จึงไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน


……………….
เซ็กชัน : ซีอีโอโฟกัส โดย พัฐกานต์ เชียงน้อย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,378 วันที่ 28-30 มิ.ย. 2561 หน้า 25

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
Zen Group เปิดโมเดลแฟรนไชส์เงินผ่อน
ZEN ส่งภาพยนตร์โฆษณาออนไลน์ รุกคนยุคดิจิตอล


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว