มติบอร์ด กสทช. ขู่! ไม่เยียวยา"ดีแทค" หากไม่เข้าประมูล

02 ก.ค. 2561 | 10:38 น.
มติบอร์ด กสทช. ยันดีแทคหากไม่เข้าประมูล ไม่เข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา เห็นชอบแบ่งใบอนุญาตประมูลคลื่น 1800 ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 9 ใบ แจงผลการตรวจสอบระบบบีทีเอสวันนี้ (2 ก.ค. 61) สามารถใช้งานได้ปกติ S_8171609311252 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) กล่าวว่า ผลการประชุมบอร์ด กสทช. วาระพิเศษ มีมติในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ โดย คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ นั้นได้อนุมัติให้มีการแบ่งใบอนุญาตการประมูล ออกเป็นใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์จำนวน 9 ใบ โดยผู้ที่สามารถเข้าประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวจะสามารถถือครองคลื่นความถี่ได้ 4 ชุดหรือ 20 เมกะเฮิรตซ์ ระยะเวลาใช้งานคลื่นความถี่ 15 ปี ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท โดยทาง กสทช. จะส่งร่างดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ทันตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้

ทั้งนี้คลื่นในย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เดิมกำหนดราคาเริ่มต้นไว้ที่ 37,988 ล้านบาท วันนี้มติที่ประชุม กสทช. เห็นว่าควรที่จะหักงบประมาณในการทำระบบการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ จำนวน 2,000 ล้านบาท ออกจากราคาเริ่มต้นการประมูล ซึ่งถ้ามีค่าใช้จ่ายส่วนเกินทางผู้ชนะการประมูลก็จะต้องรับผิดชอบในส่วนนี้เอง นอกจากนี้ในกรณีของมาตรการเยียวยาให้กับดีแทค ถ้าดีแทคมีการยื่นความประสงค์ในการเข้าประมูลเพื่อใช้งานคลื่นดังกล่าว และระยะเวลาในการดำเนินการประมูลล่วงเลยวันที่ 15 กันยายน 2561 ดีแทคก็จะได้รับการเยียวยา แต่ถ้าดีแทคไม่ได้ยื่นความประสงค์ที่จะเข้าประมูลก็ถือว่าไม่เข้าเกณฑ์ที่จะได้รับการเยียวยา

ขณะที่ผลการตรวจสอบการใช้งานระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสในวันนี้ (2 ก.ค. 61) สามารถใช้งานได้ปกติ อาจจะยังมีคลื่นรบกวนบ้างแต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้งานบีทีเอส ซึ่งวันนี้ทาง กสทช. ได้มีการส่งหนังสือให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งระบบป้องกันการรบกวนและการขยับคลื่นความถี่ให้ไปอยู่ในช่วง 2480-2495 เมกะเฮิรตซ์ ในการใช้งานในระบบรถไฟฟ้า เมื่อมีการทดสอบจะเห็นว่าบีทีเอสได้มีการปรับปรุงแล้วโดยกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบดังกล่าว จะนำเรื่องนี้เรียนไปยังผู้ว่าฯ กทม. ที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลบีทีเอสอยู่ให้ดำเนินการต่อไป เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. แล้ว สำหรับกรณีเรื่องมาตรการเยียวยาประชาชนที่มีการใช้งานบีทีเอส ทางสำนักงาน กสทช. โดย เห็นว่าเป็นอำนาจรับผิดชอบของทาง กทม. ที่จะต้องมีการเยียวยาให้กับประชาชนต่อไป